เอเชียจะต่อต้านภัยคุกคามของกลุ่มไอเอสได้อย่างไร

อรรถกถาโดย โรฮัน กูนารัตนา
2016.03.18
SA-SEA-1000 ตำรวจอินโดนีเซียหลบหลังรถคันหนึ่ง ขณะล่าตัวผู้ต้องสงสัย ในระหว่างการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในกรุงจาการ์ตา วันที่ 14 ม.ค. พ.ศ. 2559
เอเอฟพี

รัฐบาลของประเทศในเอเชียและบรรดาหุ้นส่วนของรัฐบาล ควรใช้การตอบสนองหลายรูปแบบต่อรัฐอิสลาม กลุ่มก่อการร้ายที่อ้างว่าเป็นผู้กระทำการโจมตีในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 14 ม.ค.

นี่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลเอง เพราะรัฐบาลจะปล่อยให้กลุ่มไอเอสขยายอิทธิพลเข้าไปในภูมิภาคดังกล่าวไม่ได้ โดยการใช้หน่วยปฏิบัติการขนาดเล็กและเครือข่ายภายในประเทศ ซึ่งอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง และเสถียรภาพของเอเชียในศตวรรษที่ 21 ได้ ดังนั้น งานสำคัญของภูมิภาคนี้และของโลกควรอยู่ที่การทลายล้างกลุ่มไอเอสในทุกภูมิภาค

กลุ่มไอเอสก่อให้เกิดภัยคุกคามหลายมิติ โดยการปฏิบัติการหลักในประเทศซีเรียและอิรัก ซึ่งเป็นฐานหลักของกลุ่ม สาขาของกลุ่มในประเทศอื่น และการปรากฏตัวทางออนไลน์ของกลุ่ม นักสู้ชาวต่างประเทศของกลุ่มไอเอสและผู้สนับสนุนจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างก็ดำเนินการในทุกมิติเหล่านี้

ในการต่อต้านภัยคุกคามนี้ กำลังทหาร หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ ขึ้นมา มาตรการเบ็ดเสร็จเหล่านี้ควรรวมถึงการขยายหน่วยยุทธวิธีขั้นหัวกะทิในการปราบปรามการก่อการร้าย ขยายงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ พัฒนากรอบโครงร่างทางกฎหมายให้มีความแข็งแกร่งขึ้น เพื่อการกักกันเชิงป้องกัน และเพิ่มจำนวนหน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะในการยุติการโจมตีทางไซเบอร์

เนื่องจากเอเชียแปซิฟิกกำลังผงาดขึ้นในศตวรรษที่ 21 รัฐบาลของบรรดาประเทศในภูมิภาคนี้จึงจำเป็นต้องทำมากขึ้น และร่วมมือกันรักษาความมั่นคงของภูมิภาคนี้เอาไว้ ตลอดจนเพิ่มความพยายามในการต่อสู้ในต่างประเทศ เพื่อทลายล้างศูนย์กลางของกลุ่มไอเอส

รัฐบาลของไม่กี่ประเทศในภูมิภาคนี้ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกันชั่วคราวในการต่อต้านกลุ่มไอเอส แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลของอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ถูกคุกคามโดยกลุ่มไอเอสในภูมิภาคนี้ ต้องเข้าร่วมในพันธมิตรดังกล่าว

การทำงานร่วมกับพันธมิตรชั่วคราวเหล่านั้น จะทำให้อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน จีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นที่มีอำนาจในเอเชีย สามารถสร้างขีดความสามารถทางทหารและการข่าวกรองของตนเองขึ้นมาได้

หัวใจสำคัญของการไล่ล่าตัวการสำคัญของกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียคือ การสร้างขีดความสามารถทางทหารที่นำโดยการข่าวกรอง เพื่อสังหารหรือจับตัวผู้นำของกลุ่มไอเอส ทำลายการสนับสนุนและโครงสร้างการปฏิบัติการของกลุ่ม และขัดขวางการปฏิบัติการของกลุ่ม

เอเชียอาจมีบทบาทที่สำคัญ

การโจมตีทางอากาศอย่างเดียวจะไม่ทำให้บรรลุผลที่ต้องการได้ กำลังทางบกพิเศษและที่มีจุดมุ่งหมายทั่วไป ยังเป็นสิ่งจำเป็นในการบั่นทอนและทลายล้างกลุ่มไอเอส เจตจำนงทางการเมืองเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสในสงครามภาคพื้นดิน แต่หากปราศจากเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังเช่นเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดเมื่อวันที่ 11 ก.ย. เจตจำนงดังกล่าวคงจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชนเป็นแน่

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สามารถมีบทบาทที่สำคัญในการต่อต้านแนวคิดนิยมความรุนแรง สถานการณ์ที่รุนแรง และการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มไอเอสได้

นอกจากนี้ สมควรที่จะพูดถึงด้วยว่า พันธมิตรชั่วคราวระหว่างสหรัฐฯ/อาหรับ และรัสเซีย/ชีอะห์ ซึ่งกำลังต่อสู้กับกลุ่มไอเอสอยู่ในขณะนี้ จะไม่ร่วมแรงร่วมใจกันในการต่อต้านภัยคุกคามนี้ อย่างไรก็ตาม พันธมิตรสองคู่นี้จะแลกเปลี่ยนข่าวกรองกัน และพัฒนาหรือปรับปรุงขีดความสามารถในการสกัดกั้น แยก และกำจัดกลุ่มไอเอสที่ศูนย์กลางและบริเวณอื่น ๆ

ภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงขึ้นมากเท่านั้นที่จะทำให้พันธมิตรชั่วคราวเหล่านี้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันได้

กรณีของนายเมห์ดี นอมมุชเช

ความจำเป็นสำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ในการปราบปรามกลุ่มไอเอส เกิดขึ้นเมื่อนายเมห์ดี นอมมุชเช ชายฝรั่งเศสที่เกิดในแอลจีเรียวัย 29 ปี ได้เข้าไปกราดยิงในพิพิธภัณฑ์ยิวในประเทศเบลเยียม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และทำให้มีผู้เสียชีวิตสี่ราย

หลังจากใช้เวลาหนึ่งปีกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย ชายฝรั่งเศสผู้นี้ได้เดินทางผ่านไปยังมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ ก่อนที่จะเข้าไปในยุโรป ผ่านทางเยอรมนี เพื่อทำการโจมตีดังกล่าวในเบลเยียม เขาได้ใช้เส้นทางอ้อมกลับไปยังยุโรปตะวันตก เพื่อไม่ให้หน่วยงานของยุโรปทราบเกี่ยวกับการปรากฏตัวของเขาในตะวันออกกลาง

ก่อนหน้าการโจมตีครั้งนั้น อาชญากรชายผู้นี้ ซึ่งถูกปลูกฝังแนวคิดนิยมความรุนแรง และถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมกลุ่ม ในขณะที่ยังอยู่ในคุก ได้บันทึกวิดีโอแสดงธงของกลุ่มไอเอส หากตอนนั้นหน่วยงานของฝรั่งเศสได้แจ้งข่าวกรองให้แก่หน่วยงานของประเทศในเอเชีย อาจมีการป้องกันการโจมตีครั้งนั้นก็เป็นได้

ดังนั้น ความร่วมมือกันระหว่างประเทศและภายในภูมิภาคในด้านการรักษาความปลอดภัยและการข่าวกรอง จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในปัจจุบัน เพื่อสกัดกั้นและควบคุมภัยคุกคามดังกล่าว

รัฐบาลต้องวางแผนรับมือล่วงหน้า

ในเอเชียแปซิฟิก เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่รัฐบาลต้องชิงลงมือต่อบรรดากลุ่มที่ให้การสนับสนุนกลุ่มไอเอส ซึ่งต้องการร่วมมือกับศูนย์กลางของกลุ่มไอเอส ในการประกาศสาขาประจำพื้นที่ของกลุ่มไอเอสที่อ้างตัวว่าเป็นรัฐอิสลาม

สิ่งสำคัญในการป้องกันกลุ่มไอเอสไม่ให้ประสบความสำเร็จในการประกาศพื้นที่ต่าง ๆ ว่าเป็นรัฐของตนคือ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการด้านนิติบัญญัติและบริหาร รัฐบาลควรห้ามกลุ่มและบุคคลที่เป็นปากเป็นเสียงให้แก่กลุ่มไอเอส ให้การสนับสนุน และเข้าร่วมในกิจกรรมของกลุ่มไอเอส ตลอดจนตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับคนเหล่านั้น

ในการหยุดยั้งกลุ่มไอเอสจากการประกาศพื้นที่หนึ่งว่าเป็นรัฐของตน กลยุทธ์ที่ใช้ควรมุ่งเป้าไปที่ศูนย์กลาง สาขา และสิ่งเชื่อมโยงตรงกลางของกลุ่มไอเอส จังหวะการโจมตีของกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย ทำให้เกิดแรงส่งในการสร้างและประคับประคองกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนอกเขตความขัดแย้ง

นโยบายจัดการโดยเด็ดขาดในโลกไซเบอร์

รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก สามารถมีบทบาทในการต่อต้านภัยคุกคามทางออนไลน์ของกลุ่มไอเอสได้

ร้อยละ 80-90 ของความเคลื่อนไหวทางสื่อออนไลน์ของกลุ่มไอเอส มุ่งเป้าไปที่ชาวอาหรับ แต่ผู้สนับสนุนกลุ่มนี้ที่อยู่ในเอเชียแปซิฟิก ได้สร้างแพลตฟอร์มการส่งข้อความออนไลน์ที่มีเป้าหมายในการเกณฑ์ ปลูกฝังแนวคิดนิยมความรุนแรง และจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ชาวมุสลิมที่ล่อแหลมทั่วภูมิภาคนี้

ผู้สนับสนุนกลุ่มไอเอสพยายามส่งเสริมอุดมการณ์แห่งความเกลียดชัง เพื่อให้เข้ามาแทนที่อิสลามกระแสหลัก โดยใช้ภาษามาเลย์ อินโดนีเซีย ดีเวฮี อูรดู พัชตู และภาษาเอเชียอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 80 ของไซต์สื่อสังคมที่ส่งโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มไอเอส ถูกโฮสต์โดยเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐฯ และยุโรป

การขาดผู้นำ เจตจำนง และกลยุทธ์ ในหมู่รัฐบาลและหุ้นส่วนที่มีหน้าที่ตอบโต้ข้อความและโค่นแพลตฟอร์มออนไลน์ของกลุ่มไอเอส จะทำให้ภัยคุกคามนี้คงอยู่ต่อไปและขยายใหญ่ขึ้น ตราบเท่าที่สื่อสังคมของกลุ่มไอเอสยังคงมีอยู่ต่อไป ภัยคุกคามนี้จะแพร่หลายออกไป

รัฐบาลของทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิกควรมีนโยบายในการจัดการโดยเด็ดขาดกับโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มไอเอสในโลกไซเบอร์

ภัยคุกคามเชิงปฏิบัติการของกลุ่มไอเอสสำแดงตัวเองออกมาในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ก็กำลังโตขึ้นในโลกไซเบอร์ด้วย ควบคู่ไปกับการจัดการภาคพื้นดิน รัฐบาลควรควบคุมอย่างเด็ดขาดเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด เพื่อไม่ให้กลุ่มไอเอสสามารถปลูกฝังความเชื่อที่ผิด ๆ ในจิตใจของเยาวชนผ่านทางสื่อสังคม

เพื่อไม่ให้แพลตฟอร์มการส่งข้อความออนไลน์ของกลุ่มไอเอส สามารถปลูกฝังแนวคิดนิยมความรุนแรง และจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่ชุมชนชาวมุสลิม รัฐบาลควรสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชน สังคมพลเรือน และบรรดากลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน

ในการต่อสู้กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของกลุ่มไอเอส รัฐบาลควรสร้างเครือข่ายที่วางใจได้ กับสถาบันการศึกษาและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการปกป้องชุมชนมุสลิมที่ล่อแหลม รัฐบาลในภูมิภาคนี้ควรใช้วิธีการสังคมทั้งหมดเสริมกับวิธีการรัฐบาลทั้งหมด

สองวิธีคู่ขนานนี้คือ การจัดทำ (ก) โครงการต่อต้านการปลูกฝังแนวคิดนิยมความรุนแรง ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ และ (ข) โครงการลดแนวคิดนิยมความรุนแรง เพื่อฟื้นฟูผู้ที่ถูกปลูกฝังแนวคิดนี้ไปแล้ว

ความล้มเหลวในการตอบสนองหลายมิติจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนทางศาสนาและชาติพันธุ์ อันจะกระทบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้ในศตวรรษที่ 21

ความคิดเห็นที่แสดงในอรรถกถานี้เป็นของผู้เขียน ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง