สามจังหวัดชายแดนใต้: ผู้นำที่จับตัวได้ยาก เรื่องราวอันไม่จบสิ้น
2017.02.28
ยะลา

หน่วยงานความมั่นคงและการข่าวของไทย ได้ถกกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ว่า การเสียชีวิตของนายสะแปอิง บาซอ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวในการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ที่ซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว
คำตอบหนึ่งคือ มีผลกระทบเล็กน้อยมาก ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้กลับมาเกิดขึ้นอีกต่อไปในตอนนี้ หลังจากที่ฤดูฝนได้สิ้นสุดลง
“กลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการก่อความไม่สงบที่ดำเนินการโดยผู้นำกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่คนเพียงคนเดียว ความรู้สึกสูญเสียย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เพราะสะแปอิงเป็นผู้ที่มีความสำคัญสำหรับคนของเขา” สมาชิกคนหนึ่งของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ต่อสู้กับฝ่ารัฐมานานหลายทศวรรษกล่าว
สะแปอิง อดีตครูใหญ่ของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิในจังหวัดยะลา เสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 มกราคม ด้วยวัย 86 ปี
กลุ่มบีอาร์เอ็นกล่าวว่า การเสียชีวิตของสะแปอิงจะไม่มีผลกระทบแต่อย่างใดต่อการก่อความรุนแรงของกลุ่ม ซึ่งในขณะนี้ มุ่งเป้าไปที่การทำให้ดินแดนแถบนี้มีความยุ่งยากในการปกครองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การก่อความไม่สงบโดยกลุ่มติดอาวุธในดินแดนแถบนี้ที่เรียกว่า “ปาตานี” รุนแรงขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษ 1960 หรือราว 50 ปีก่อน หลังจากที่ประเทศไทยซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่า สยาม และรัฐบนคาบสมุทรมลายู ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ขีดเส้นแบ่งดินแดนของตน เพื่อตอบสนองนโยบายการกลืนกลายวัฒนธรรมที่ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่นั้นรู้สึกว่าเกิดขึ้นโดยการต้องแลกมาด้วยอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาของพวกเขา
ความรุนแรงระลอกนั้น บรรเทาลงในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1990 เมื่อประเทศที่ให้การหนุนหลังในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ปรับจุดยืนของตัวเองใหม่ หลังยุคสงครามเย็น
แต่ความคิดที่ว่าไทยเป็นผู้รุกรานภูมิลำเนาดั้งเดิมของชาวมลายูนั้น ไม่เคยหายไป ลักษณะความคิดดังกล่าวยังทำให้คนอย่างสะแปอิง ครูโรงเรียนมัธยม ผู้ที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาวมลายูในท้องถิ่นให้ต่อต้านอัตลักษณ์และความคิดที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลไทย
ความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้เกิดขึ้นอีกเมื่อปลายปี 2544 แต่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจนกระทั่งวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เมื่อกลุ่มผู้ติดอาวุธประมาณยี่สิบคนบุกเข้าไปปล้นปืนจำนวนประมาณ 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่สี่ ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ในยุครัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ปฏิเสธอีกต่อไปไม่ได้แล้วถึงการหวนคืนมาของความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวมลายูในดินแดนที่แย่งชิงกันเป็นเวลายาวนานนี้
วิธีที่ไทยใช้ในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากการใช้วิธีทั้งขู่และปลอบ รวมถึงการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และการยกที่ดินจำนวนเล็กน้อยให้แก่อดีตผู้ก่อความไม่สงบ นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นที่การพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่จะเอาชนะใจชาวมุสลิมเชื้อสายชาวมลายูในท้องที่นั้น ซึ่งมีจำนวนร้อยละกว่า 80 ของราษฎรทั้งหมดจำนวนสองล้านคนที่อาศัยในพื้นที่
และวิธีของทหารก็ไม่สามารถยุติปัญหาความรุนแรงในพื้นที่นั้นลงได้ ทหารที่ประจำในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเหมือนเป้าที่ถูกโจมตีได้ง่าย เพราะไม่สามารถแยกแยะพลเมืองธรรมดาออกจากผู้ก่อความไม่สงบที่เข้ามาทำร้ายได้
ปัจจุบัน ผู้ก่อความไม่สงบแฝงตัวอยู่ในจังหวัด เมือง หมู่บ้าน และเทศบาลทั่วพื้นที่แถบนี้
บรรดาผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่หนีออกจากประเทศ กล่าวว่า ตราบเท่าที่ลักษณะความคิดเรื่องปาตานียังคงมีอยู่ต่อไป คตินิยมการแบ่งแยกดินแดนจะไม่มีวันสูญหายไป
สำหรับเรื่องของสะแปอิงแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่านักเรียนในโรงเรียนของเขาจำนวนมากลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลไทย ทำให้เขาตกเป็นเป้าโจมตีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นโดยง่าย
ทักษิณ จำเป็นต้องหาคนที่มาเป็นโฉมหน้าของความขัดแย้งนั้น สะแปอิงจึงกลายเป็นคนๆ นั้น ตอนนั้น ทักษิณกล่าวในรายการวิทยุที่ออกอากาศทุกสัปดาห์ของเขาว่า สะแปอิง ผู้ที่หลบหนีออกจากภาคใต้ของไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 พร้อมที่จะเป็นผู้นำของปาตานีที่ได้รับการปลดปล่อย
บุคคลที่ลงลายมือชื่อในหมายจับที่บีบให้สะแปอิงต้องหลบหนีก็คือ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ผู้ที่ต่อมากลายเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในโครงการริเริ่มสันติภาพของรัฐบาลสำหรับสามจังหวัดชายแดนใต้ในรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ และ น.ส. ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของเขา
เจ้าหน้าที่ของไทยที่ตรวจสอบหมายจับนั้นกล่าวว่า หลักฐานที่มีต่อสะแปอิงนั้นอ่อนมาก และออกความเห็นว่า สะแปอิง น่าที่จะเอาชนะข้อหาต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย หากเขาตัดสินใจต่อสู้คดีในศาล
ในระยะสองปีหลังจากที่สะแปอิงหลบหนีออกจากภาคใต้ของไทย ครูจำนวนเก้าคนจากโรงเรียนของเขาถูกยิงในระยะเผาขนจนเสียชีวิตทีละคน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของหน่วยสังหารของรัฐบาลหรือของพวกที่สนับสนุนรัฐบาล
ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในรัฐบาล การแทรกแซงจากผู้มีตำแหน่งสูงในกรุงเทพฯ ทำให้การฆ่าครูในโรงเรียนของสะแปอิงยุติลง แต่รัฐบาลชุดต่อๆ มาไม่เข้าใจถึงความเหนียวแน่นของความคิดเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีสะแปอิงเป็นตัวอย่าง
รัฐบาลชุดต่อๆ มาพยายามล่อให้เขากลับมายังประเทศไทย โดยสัญญาว่าจะผ่อนปรนให้ แต่วิธีนี้ไม่ได้ผล เขาไม่ต้องการขายวิญญาณให้แก่คนไทย บุคคลหนึ่งที่รู้จักเขากล่าว
และเพราะประเทศไทยไม่เต็มใจที่จะพูดถึงความอยุติธรรมในอดีตและสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งคร่าชีวิตคนราว 7,000 คน นับแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 สะแปอิงจึงไม่เห็นประโยชน์ในการเจรจากับทางการของไทย
อาเต็ฟ โซ๊ะโก ผู้นำเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ พูดถึงสะแปอิง ครูใหญ่ที่เสียชีวิตไปแล้วของเขาว่า เป็นผู้ชายธรรมดาที่เข้มงวดและสุภาพ ผู้ที่ทำตัวเป็นแบบอย่างแก่นักเรียนของเขา
ครูผู้นี้จะเดินเก็บขยะรอบโรงเรียนเหมือนกับภารโรงธรรมดาคนหนึ่ง หลังโรงเรียนเลิก เขาจะไปรอบเมือง เพื่อดูว่ามีนักเรียนคนใดของเขาที่ทำตัวเกกมะเหรกเกเรหรือไม่
เยาวชนมองเขาว่าเป็นต้นแบบที่ตนอยากเอาเป็นตัวอย่าง บรรดาพ่อแม่ก็ชื่นชมในธรรมอำนาจที่เขาใช้กับนักเรียนของเขา บรรดาผู้นำศาสนาในพื้นที่นั้นต่างก็ชื่นชมในความเป็นผู้นำของเขา
ผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งที่จับตามองความขัดแย้งดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เปรียบเทียบสะแปอิงอย่างขบขันว่าเป็นเหมือนโยดา อาจารย์เจไดผู้ทรงปัญญาและอำนาจจากภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอส์ ผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนบางคนคิดว่า สะแปอิงมีฤทธิ์เดชที่จะหายตัวได้ และหลบหลีกการถูกจับกุมตัวได้
หลังจากกว่าหนึ่งทศวรรษของการอยู่อย่างลับๆ นอกประเทศ จนเมื่อเขาเสียชีวิต ความลึกลับที่แฝงด้วยความมีเสน่ห์เกี่ยวกับสะแปอิง ดูเหมือนจะไม่มีวันจางหายไป
เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของสะแปอิง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของสะแปอิง ขณะที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ผู้ที่ทำให้สะแปอิงและผู้ต้องสงสัยคนอื่นจำนวนมากต้องหลบหนี แวะไปแสดงความเคารพที่บ้านของครอบครัวของสะแปอิง
ปัจจุบัน หลายสัปดาห์หลังการเสียชีวิตของสะแปอิง บรรดาผู้สังเกตการณ์ต่างก็กำลังตั้งคำถามว่า จะมีใครมาแทนเขาได้หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ กระแสคลื่นการก่อความไม่สงบในปัจจุบันดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด
ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์