เตรียมตัวให้พร้อมกับการเลือกตั้งที่อาจแปรปรวนที่สุดของไทย

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2023.04.06
เตรียมตัวให้พร้อมกับการเลือกตั้งที่อาจแปรปรวนที่สุดของไทย ผู้สนับสนุนชูป้ายพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง วันที่ 3 เมษายน 2566
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 40 วัน ก่อนประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ที่นับว่ามีสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่แปรปรวนในรอบหลายปีมานี้

พรรคที่เคยร่วมต่อสู้ในศึกเลือกตั้งปี 2562 นั้น ดูไม่หวือหวามากนักก่อนการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นการตัดสินรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่ได้รับตำแหน่งหลังจากการรัฐประหารเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว พรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างพากันเสนอนโยบายประชานิยม

สิ่งที่น่าจับตามองคือ ความรู้สึกต่อต้านผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันกำลังมีเพิ่มมากขึ้น

แม้จะได้เปรียบจากการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมถึงระบบตุลาการภายใต้อำนาจของกองทัพ และบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งจากกองทัพเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี แต่พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็อยู่ในจุดที่เปราะบางมากในการเลือกตั้ง

และเห็นได้ชัดว่าพรรคเพื่อไทยยังคงมีภาษีที่ดีกว่าในการเลือกตั้ง

เมื่อต้นเดือนมีนาคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจว่า พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุน 49 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาในเดือนเดียวกัน ผลสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนที่ 46 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยพูดอย่างเปิดเผยว่าจะคว้าชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ โดยตั้งเป้าคว้าทั้งหมด 310 ที่นั่ง และมีการคาดการณ์ว่าพวกเขาจะได้ที่นั่ง ส.ส. ราว 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 250 ที่นั่ง

แพทองธาร ชินวัตร ได้รับคะแนนเสียงที่ดีในหมู่ประชาชนและเป็นที่ชื่นชอบของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ ด้วยคะแนน 38 เปอร์เซ็นต์ ตามผลสำรวจล่าสุดของสถาบันนิด้า ซึ่งมากกว่าคู่แข่งของเธอถึงสองเท่า

อย่างไรก็ตาม แพทองธารอาจไม่ได้ตำแหน่งสูงสุด เนื่องจากแคนดิเดตอย่าง เศรษฐา ทวีสิน หรือ ชัยเกษม นิติสิริ อาจได้นั่งตำแหน่งนายกเพราะภาพลักษณ์ที่ไม่สุดขั้วมากเกินไป เพื่อก่อตั้งรัฐบาลผสมให้มากกว่า 376 ที่นั่ง

230406-th-election-abuza-2.jpg

แพทองธาร ชินวัตร (กลาง) ขนาบข้างโดย ชัยเกษม นิติสิริ (ซ้าย) และเศรษฐา ทวีสิน โบกมือให้ผู้สนับสนุน ที่กรุงเทพฯ วันที่ 5 เมษายน 2566 (รอยเตอร์)

ในขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลได้รับคะแนนอยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าผู้นำของพรรคหลายคนจะมีคดีความอยู่ก็ตาม แต่คดีเหล่านี้ไม่ได้ทำให้หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันหวาดหวั่นอย่างที่ตั้งใจ แต่อาจส่งผลทำให้พวกเขากล้ามากขึ้นด้วยซ้ำ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้คะแนนความนิยมอยู่ราว 16 เปอร์เซ็นต์ ตามผลสำรวจกลางเดือนมีนาคม และมีการคาดว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถได้ที่นั่ง ส.ส. อย่างถล่มทลายอีกครั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ ใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยจำนวน 33 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยังคงเป็นพรรคที่ฐานเสียงหลักอยู่ในเขตเมือง แต่อาจขาดเครือข่ายในต่างจังหวัดที่เข้มแข็ง แม้จะลงสมัครครบทั้ง 400 เขตก็ตาม โดยการเลือกต้ังครั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลไม่ได้ส่งผู้สมัครในทุกเขต ด้วยความที่เป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทย

นายกฯ คนปัจจุบันกำลังสร้างอาณาเขต

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทีละน้อยในผลสำรวจ ราว 15 เปอร์เซ็นต์ และควรได้เปรียบจากการดำรงตำแหน่งในขณะนี้ ซึ่งประยุทธ์และพรรคใหม่ของเขา คือพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งเป้าที่จะผ่านเกณฑ์ 25 ที่นั่ง เพื่อให้สามารถเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้

นายกรัฐมนตรีและพรรครวมไทยสร้างชาติมีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้ดีกว่าผลสำรวจ เนื่องจากยังเป็นที่ชื่นชอบของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มคนดังกล่าวมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมดจำนวน 250 คน จะมีสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย พล.อ. ประยุทธ์จึงจำเป็นต้องคว้าที่นั่งเพียงแค่ 121 ที่นั่ง ต่างกับพรรคฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการชัยชนะ จะต้องได้อย่างน้อย 376 ที่นั่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผลสำรวจเผยให้เห็นชัดเจนถึงความเป็นผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพของ พล.อ. ประยุทธ์

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นการตั้งสมมติฐานที่คาดว่าสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน เพราะสมาชิกวุฒิสภาที่ถูกแต่งตั้งมาจากทหารนั้น คงไม่มีใครแตกแถว หรือเปลี่ยนใจไปส่งเสริมให้พรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันขึ้นมาครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

ด้าน แพทองธาร จากพรรคเพื่อไทย ได้เผยความคาดหวังว่าสมาชิกวุฒิสภาจะต้องเคารพคะแนนเสียงและรับรองผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก

230406-th-election-abuza-3.jpg

อนุทิน ชาญวีรกูล ผู้สมัครนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย ห้อมล้อมด้วยกองเชียร์ที่กรุงเทพฯ วันที่ 4 เมษายน 2566 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากกว่าผลสำรวจ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่มีคะแนนต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ ในการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันนิด้าครั้งล่าสุด แต่พรรคนี้เป็นฐานที่มั่นของ ส.ส. ที่แปรพักตร์และอาจเป็นพรรคที่ได้ชี้ขาดว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พรรคภูมิใจไทยถูกคาดว่าจะชนะอย่างน้อย 70 ที่นั่ง และที่ผ่านมา อนุทินได้รับความไว้วางใจจากผู้นำฝั่งอนุรักษ์นิยมเป็นอย่างมาก แม้เขาจะเป็นอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยก็ตาม

ด้านพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ยังไม่สิ้นหวัง และคงจะได้รับที่นั่งอยู่ในรัฐบาลผสมฝั่งอนุรักษ์นิยม แม้ที่ผ่านมาจะกลายเป็นพรรคระดับภูมิภาคที่ได้รับความนิยมเพียงน้อยนิดในระดับชาติ หลังจากที่พรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ได้ละทิ้งอุดมการณ์ด้วยการร่วมสนับสนุนการทำรัฐประหารในปี 2557 ทำให้ได้รับความนิยมจากผลสำรวจเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สวนทางกับพรรคพลังประชารัฐที่ถือไพ่ใบพิเศษในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าคะแนนนิยมจะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อยู่ที่น้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทบจะไม่ได้รับความนิยมเลย ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกถึงปัญหาที่ร้ายแรงของรัฐบาลชุดนี้

แต่พรรคพลังประชารัฐก็ลงสมัครทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง และเป็นพรรคที่มีทุนและทรัพยากรอย่างแท้จริง ซึ่งมีความสำคัญมากต่อระบบที่มีการซื้อขายเสียง

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้สมัครนายกรัฐมนตรีคนเดียวของพรรค ได้การเข้าร่วมดีเบตก่อนการเลือกตั้ง และเสนอนโยบายประชานิยมของตัวเอง ในแง่นี้ เขาเป็นผู้หาเสียงที่ไม่ค่อยดีนัก และกำลังพ่ายแพ้ให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกลุ่มสนับสนุนสถาบันกษัตริย์

แต่พรรคพลังประชารัฐก็ทุ่มหมดหน้าตักเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป โดยที่พรรคอาจจะต้องทำข้อตกลงบางอย่างกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอนุรักษนิยมอื่น ๆ เช่น ภูมิใจไทย ซึ่งการเจรจาอาจต้องมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีอำนาจทางการเมืองที่สมาชิกวุฒิสภายอมรับได้มาช่วยเจรจา

แม้ว่าความแตกแยกระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ และพล.อ. ประวิตร อาจเป็นเรื่องจริง แต่เราคงจะเห็นการจับมือกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาต้องการแค่เพียง 121 ที่นั่ง เพื่อตั้งรัฐบาลผสม โดยมีสมาชิกวุฒิสภาหนุนหลัง

230406-th-election-abuza-4.jpg

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ซ้าย) ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครวมไทยสร้างชาติ นั่งข้าง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 3 เมษายน 2566 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า พล.อ. ประวิตร สามารถทำให้สมาชิกวุฒิสภาเข้ากับฝ่ายตน แทนที่จะเป็น พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ยาก ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าสมาชิกวุฒิสภาถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ครอบครัวของทักษิณ ชินวัตร (ในกรณีนี้คือลูกสาวของเขา) และกลไกทางการเมืองของเขาหลุดออกจากวงการเมือง และการที่สมาชิกวุฒิสภาจะเทคะแนนโหวตส่วนใหญ่ให้กับ พล.อ. ประวิตร น่าจะเป็นไปได้ยากยิ่งกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อถกเถียงที่น่าสนใจคือ ใครจะเป็นผู้นำในการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล

พล.อ. ประวิตรนั้นเชื่ออย่างชัดเจนว่า เขายังมีอิทธิพลเหนือสมาชิกวุฒิสภาเหมือนเช่นเคย แต่เราอาจไม่ได้เห็นภาพนั้น โดยเฉพาะ หากแพทองธารได้ที่นั่งมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น

และยังไม่ชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐ จะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่ และในจำนวนกี่ที่นั่ง แต่พรรคก็ยังมีความหวังสูงที่จะชนะ ซึ่งสวนทางกับประสิทธิภาพของพรรค เช่นเดียวกับแรงต่อต้านที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยเองพยายามที่จะวางท่าทีที่เป็นกลาง แม้จะดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ในปีกเดียวกับพรรคก้าวไกลของพิธา ซึ่งมีความก้าวหน้าทางนโยบายมากกว่า ซึ่งพรรคก้าวไกลเองก็ได้แสดงออกอย่างชัดเจนมากกว่า จะไม่มีทางร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเผด็จการ

ท้ายที่สุด แม้สูตรการเลือกตั้งแบบใหม่ที่จะมี ส.ส. มาจากบัญชีรายชื่อ 100 คนนั้นจะโปร่งใสกว่าการเลือกตั้งคราวก่อน แต่ก็ยังมีช่องว่างสำหรับการใช้เครื่องมือทางการเมืองอยู่ดี

อาจดูเหมือนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อิงแอบอยู่กับสถาบันกษัตริย์ จะไม่เคลื่อนไหวอย่างแข็งกร้าวเหมือนที่เคยทำในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งมีพรรรคการเมืองถูกยุบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ยังมีเวลาอีกพอสมควรสำหรับการไล่ฟ้องร้องคดีทางการเมืองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะสามารถตัดสิทธิ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

กลยุทธ์ดังกล่าวอาจส่งผลเสียมากกว่า และอาจทำให้ถูกต่อต้าน แต่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมตามแบบแผน

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง