คดีหมิ่น 112 เป็นประเด็นถกเถียงสำคัญในสังคม โทษหนัก และไม่มีใครทำจริงจัง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.10.09
151009-TH-Journalist-mutita-600.jpg มุทิตา เชื้อชั่ง ได้รับรางวัลเอเอฟพี เคท เวบบ์ ประจำปี 2015 ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2558
ภาพโดย Poakpong

มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวไทย จากประชาไท วัย 33 ปี ผู้ได้รับรางวัล เอเอฟพีเคท เวบบ (Agence France-Presse Kate Webb) ประจำปี 2015 จากการรายงานข่าวที่มีความอ่อนไหว เกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้รัฐบาลทหาร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ซึ่งรางวัลนี้มอบแก่ ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก ในภูมิภาคเอเชีย

โดยชื่อรางวัลได้ตั้งขึ้นตามชื่อ เคท เวบบ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี ที่อุทิศตนทำงานข่าวสงคราม และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ เธอเสียชีวิตเมื่อปี 2550 ขณะอายุ 64 ปี เธอมีชื่อเสียงในฐานะนักข่าวที่ไม่เกรงกลัวสิ่งใด มีความเมตตา และเห็นอกเห็นใจ เคท ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วย สำนักข่าวเอเอฟพี รายงาน

จากคำสัมภาษณ์ของประชาไท ถึงเหตุผลที่เธอเลือกทำข่าวใน คดีหมิ่นฯ หรือ คดีมาตรา 112 เพราะเธอเห็นว่าเป็นประเด็นข้อถกเถียงสำคัญในสังคม การลงโทษก็หนักมาก แต่ไม่ค่อยมีใครทำจริงจัง อาจเพราะเกรงว่าจะเดือดร้อน หรือไม่ก็เห็นตรงกันกับที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยความมั่นคง แต่ยังสงสัยอยู่ จึงติดตามดู

บทสัมภาษณ์ มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวที่ได้รับรางวัล เอเอฟพี เคท เวบบ ปี 2015 ต่อเบนาร์นิวส์

เบนาร์นิวส์: คุณมุทิตา ได้รายงานข่าวคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไร และมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง?

มุทิตา เชื้อชั่ง: ส่วนใหญ่จะรายงานข่าวความเคลื่อนไหวในคดีนี้ธรรมดาเพียงแต่มีความต่อเนื่องและลงรายละเอียดมากกว่าที่อื่น รายงานทั้งกระบวนการพิจารณาคดี ผลการพิพากษา และอาจลงลึกในบางเคสที่ทำได้ เช่น ทำสกู๊ปเกี่ยวกับวิธีคิดความเป็นมาของผู้ต้องหา ผลกระทบต่อครอบครัว เป็นต้น

เบนาร์นิวส์: คุณมุทิตารู้สึกอย่างไรที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้

มุทิตา: รู้สึกดีใจ และคิดว่าน่าจะทำให้คนทั้งในและต่างประเทศสนใจปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็หนักใจ เพราะประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนไหว การถูกประทับตราว่าเป็นผู้สื่อข่าว “เรื่องนี้” สำหรับบางกลุ่มบางคนที่มีแนวคิดขวาจัด อาจเข้าใจผิดคิดว่านักข่าวเป็นภัยต่อความมั่นคงไปด้วย

นอกจากนี้ที่ผ่านมาในการเขียนงานจะไม่ลงชื่อ ไม่เปิดเผยตัว โลว์โปรไฟล์มาก เพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการ เข้าถึงผู้ต้องหาในเรือนจำ ในศาล ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะยังทำงานได้สะดวกเหมือนเดิมไหม

เบนาร์นิวส์: คุณเคยถูกกดดันจากรัฐบาล ในการติดตามรายงานคดีหมิ่นฯ อย่างละเอียดและต่อเนื่องหรือไม่

มุทิตา: ยังไม่เคยโดยตรง มีแต่ความกลัวเพราะข่าวลือต่างๆ ส่วนที่รู้สึกได้มีเพียงการถูกจับตามากขึ้นอย่างมากจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เวลาเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในช่วงหลังรัฐประหาร และกฎระเบียบของเรือนจำที่ออกมาจำกัดสิทธิ กีดกันผู้ต้องขังกับบุคคลภายนอกอย่างยิ่ง

เบนาร์นิวส์: โดยส่วนตัวคุณรู้สึกว่าการหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ถูกนำมาใช้มากเกินไปหรือไม่

มุทิตา: ใช่ ดูจากจำนวนสถิติเท่าที่รวบรวมได้ ซึ่ง iLaw รวบรวมไว้ (สามารถค้นหาดูได้) ปกติกฎหมายนี้ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีอยู่จำนวนหนึ่งอยู่แล้วในช่วงรัฐบาลพลเรือน ผู้ต้องหามักไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ถูกขังยาวระหว่างพิจารณาคดี ทำให้ต่อสู้คดีลำบาก เพราะมีความจำกัดในการพบทนาย ค้นหาหลักฐานพยาน นอกจากนี้ยังไม่สามารถสู้ในทางเนื้อหาข้อความได้มากนัก เพราะศาลเองก็อยู่บนแนวคิดเดียวกับสังคมโดยทั่วไป แต่หลังรัฐประหารคดีก็เพิ่มขึ้นอีกมาก พิจารณากันในศาลทหาร ไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้ และยังสั่งให้พิจารณาโดยปิดลับ สาธารณชนไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์อีกด้วย

การใช้กฎหมายนี้ไปไกลถึงขนาดมีคดีแปลกๆ เช่น พี่ชายฟ้องน้องชายเพราะได้ยินน้องชายพูดจาหมิ่นในบ้าน, ผู้โดยสารพูดคุยกับคนขับแท็กซี่แล้วอัดเสียงมาแจ้งความ, คนใช้เฟซบุ๊กทั่วไปหลายคน “แชร์” ลิงก์รายการวิทยุที่ผู้ดำเนินรายการพูดจาหมิ่นเหม่ก็ถูกดำเนินคดี ... พวกเขาเหล่านี้ล้วนอยู่ในเรือนจำ

เบนาร์นิวส์: คุณคิดอย่างไรถึงความสมดุล ระหว่างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์

มุทิตา: คิดว่าสามารถมีได้ อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดน่าจะทำให้บทลงโทษได้สัดส่วนกับการกระทำผิดมากขึ้น ปัจจุบันใช้กฎหมายนี้ลงโทษหนักมาก ทำให้คนยิ่งต่อต้านและไม่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง

สมมติหากเปลี่ยนบทลงโทษเป็นเพียงโทษปรับ หรือจำคุก แต่รอการลงโทษไว้ แล้วให้บำเพ็ญประโยชน์ บรรยากาศความตึงเครียดต่อเรื่องนี้ และต่อสถาบันกษัตริย์น่าจะผ่อนคลายลง

บรรยากาศในการถกเถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผลอาจจะมีมากขึ้น เพราะผู้ต้องหาที่ใช้คำพูดหยาบคายรุนแรงนั้น จากการพูดคุยพบว่ามีจำนวนไม่น้อยเป็นคนธรรมดา ที่จริงจังกับการเมืองอย่างยิ่ง มีความเป็น active citizen อย่างมาก พวกเขาเพียงแต่มีอารมณ์โกรธเกรี้ยว และแสดงออกอย่างไม่ยั้งคิดจากการเห็นความไม่เป็นธรรมทางการเมืองเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อีกประการคือ บทบาทของกลุ่ม ultra royalist ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์แตะต้องไม่ได้โดยเด็ดขาด และปฏิบัติการ “ล่าแม่มด” พร้อมกับไล่แจ้งความดำเนินคดีผู้คน บทบาทของเขานอกจากไม่ทำให้สถาบันมั่นคงขึ้นแต่อย่างใดแล้ว มันยิ่งเพิ่มความเกลียดชัง ปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและทำให้ผู้คนอีกฝั่งระเบิดออกโดยง่าย เหมือนยิ่งกดทับความคิดอื่นๆ และลงโทษรุนแรงด้วยกฎหมายที่มีในมือ

หากพวกเขามีบทบาทแค่ถกเถียง ในฐานะพลเมืองกลุ่มหนึ่งต่อพลเมืองที่คิดต่างอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วปล่อยให้การลงโทษเป็นเรื่องของรัฐล้วนๆ บรรยากาศก็น่าจะดีขึ้น

การผ่อนปรนในประเด็นนี้และเปิดให้คนถกเถียงเรื่องนี้มากขึ้นบ้างน่าจะทำให้ความเกลียดชัง ความโกรธ ในทั้งสองฝ่ายน้อยลง การพัฒนาให้การถกเถียงในสังคมเป็นไปในทางสร้างสรรค์ และการปฏิบัติต่อพลเมืองอย่างเป็นธรรมและเสมอหน้า เป็นหนทางที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้สถาบันเพิ่มขึ้นด้วย

เบนาร์นิวส์: การทำงานส่วนไหนที่ยากที่สุด หรือที่เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด

มุทิตา: ความท้าทายคืออยากคุยกับภาครัฐ ตำรวจ อัยการ ทหาร อยากเรียนรู้วิธีคิด ตรวจสอบการทำงานของพวกเขา เช่น อยากทราบว่าคณะกรรมการพิจารณาคดี 112 ของตำรวจนั้นมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร สั่งฟ้องจำนวนทั้งหมดเท่าไร ไม่ฟ้องเท่าไร เป็นต้น

การได้ตรวจสอบกลไกต่างๆ น่าจะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใสและส่วนต่างๆ พัฒนาไปสู่ทิศทางที่เคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง