ไทย-ลาว-มาเลเซีย เตรียมเซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า 300 เมกกะวัตต์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.09.05
กรุงเทพฯ
190905-TH-asean-energy-1000.jpg นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.กระทรวงพลังงาน (คนที่สองจากขวามือ) และด็อกเตอร์นูกิ อักญา อุตมะ (คนกลาง)ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พลังงานอาเซียน ร่วมถ่ายรูปในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ในงานประชุมพลังงานอาเซียน ปี 2562 ในกรุงเทพฯ วันที่ 5 กันยายน 2562
(อภิชาติ โสภาพงษ์/วิทยุเอเชียเสรี ภาษาลาว)

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการประชุมพลังงานอาเซียน ปี 2562 ที่ กรุงเทพฯ ว่า ประเทศไทย ลาว และมาเลเซีย กำลังจะเซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า 300 เมกกะวัตต์ โดยที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ยังเห็นพ้องให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน หันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568

นายสนธิรัตน์ กล่าวหลังการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมพลังงานอาเซียนที่จัดที่กรุงเทพว่า ความร่วมมือในการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้า ระยะที่สอง หรือ Lao PDR, Thailand, Malaysia – Power Integration Project (LTM—PIP) ถือเป็นโครงการต้นแบบของอาเซียน ในการจะเชื่อมโยงพลังงานระหว่างชาติต่างๆ ในอาเซียน

“ไทย-ลาว-มาเลเซีย ขยายสัญญาซื้อขายเพิ่มเติมจาก 100 เมกกะวัตต์ เป็น 300 เมกกะวัตต์ ถือเป็นโครงการต้นแบบของอาเซียนที่เราใช้ ASEAN Grid Connectivity (การเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้า) ในการที่จะเชื่อมโยงพลังงานระหว่างอาเซียนด้วยกัน ข้อตกลงจะมีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการต่อไปในเร็วๆ นี้” นายสนธิรัตน์กล่าว

“ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นก้าวต่อไปในความร่วมมือการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า จากที่ขณะนี้ มีการเชื่อมโยง ลาว-ไทย-มาเลเซีย ในอนาคตก็จะมีสิงคโปร์ พม่า และกัมพูชา เข้ามาเพิ่มในระยะต่อไป” นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โครงการเชื่อมโยงพลังงานนี้ มีระยะเวลาสองปี คาดว่าจะเริ่มจากเดือน มกราคม 2563 โดยส่งไฟฟ้าจากลาวผ่านไทยไปยังมาเลเซีย

นอกจากนี้ อาเซียนยังตั้งเป้าพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม และอาเซียนมีแผนที่จะซื้อ-ขายไฟฟ้าระหว่างกันด้วย โดยที่ประชุมได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre of Energy) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น ช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และส่งเสริมให้เกิดการก่อตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาเครือข่ายเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน

“การลงนามระหว่างอาเซียนในปี 2562 นี้ เพื่อผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนสูงขึ้นสู่เป้าหมาย 23 เปอร์เซ็นต์ ของการใช้พลังงานทั้งหมด ภายในปี 2568 จากปัจจุบันอาเซียนใช้พลังงานทดแทนรวมอยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลก” นายสนธิรัตน์ กล่าว

อนึ่ง นายสนธิรัตน์ ระบุว่า ไทยและเมียนมา กำลังศึกษาด้านเทคนิคและความเป็นไปได้ในปริมาณ และราคาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน โดยจะส่งไฟฟ้งผ่านสายส่ง 250 กิโลวัตต์ ที่มีความพร้อมในเส้นทาง อ.แม่สอด จังหวัดตาก-เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา เนื่องจากเมียนมามีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าเพิ่มเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

“พม่าเองก็ต้องการขยายไฟฟ้าไปสู่พื้นที่ประเทศให้มากขึ้น จากขณะนี้ มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์” นายสนธิรัตน์กล่าว

เมื่อวันพุธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้กล่าวในการเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานว่า ไทยให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานสะอาด ต้องการเพิ่มมาตรฐานด้านประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน การผลิต และใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

“ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เราต้องทำงานอย่างหนัก สำหรับไทยมีแผนการพัฒนาในเรื่องของพลังงานสะอาด และไบโอเเมส โซล่าเซลล์ และพลังงานเพื่อชุมชน โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างทำแผนนี้ ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศภูมิภาคมีการผลักดันนโยบายเหล่านี้ทุกประเทศเช่นกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ตามข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปัจจุบัน ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยมาจากพลังงานก๊าซธรรมชาติมากที่สุดคือ 60 เปอร์เซ็นต์ ถ่านหิน 23 เปอร์เซ็นต์ พลังงานหมุนเวียน (น้ำและอื่นๆ) 14 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นพลังงานจากเชื้อเพลิงชนิดอื่น

ไทยมีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตติดตั้งประมาณ 4.2 หมื่นเมกกะวัตต์ เป็นการซื้อจากประเทศอื่น 2.6 หมื่นเมกกะวัตต์ และผลิตได้เอง 1.6 หมื่นเมกกะวัตต์ มีความยาวสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศ 3.3 หมื่นกิโลเมตร สามารถขายไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศ เช่น ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และอื่นๆ ได้แล้ว 1.85 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง