ไทย-สหรัฐฯ แถลงเปิดฝึกคอบร้าโกลด์ 2020 ปลายเดือนกุมภาพันธ์
2020.02.14
กรุงเทพ

ในวันศุกร์นี้ พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร และนายไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวการฝึกร่วมผสมทางทหารคอบร้าโกลด์ 2020 ซึ่งเป็นการฝึกแบบ Heavy Year หลังจากประเทศไทยมีการเลือกตั้ง โดยจะมีกำลังพลเกือบสามสิบประเทศเข้าร่วม ทั้งมีการฝึกที่ครอบคลุมเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นครั้งแรกอีกด้วย
การฝึกคอบร้าโกลด์เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีนี้เป็น Heavy Year ซึ่งมีจำนวนทหารมากขึ้นและระดับความเข้มข้นมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยนายไมเคิล ฮีธ ระบุว่า สหรัฐได้ยกระดับการฝึกในปีนี้เพราะไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว
“คุณมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปีที่แล้วและมีรัฐบาลในเดือนมิถุนายน เป็นการรับรองว่าประเทศไทยได้มีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่เราดำเนินความร่วมมือต่อไปในทุกระดับ และการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่กล่าวมานั้น” นายไมเคิลกล่าว
ด้านพลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งที่ 39 ในครั้งนี้ มีประเทศหลัก ๆ เข้าร่วมการฝึกทั้งหมด 7 ประเทศ ประกอบด้วยไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ เกาหลีใต้ของดส่งทหารเข้าร่วมเพราะยังมีความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา
“เขาดำเนินกรรมวิธีตามมาตรฐานของเขาแล้ว เขายังมีความกังวลกับกำลังพลที่จะมา 30 นาย ว่ายังอาจจะมีเกณฑ์เสี่ยงที่อาจจะนำโรคมา เพราะเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีการแพร่เชื้อในประเทศ ปัจจุบัน เกาหลีใต้ของดส่งเข้ามาร่วมในครั้งนี้” พลเอกเฉลิมพลกล่าว
สำหรับพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2020 จะจัดขึ้นในที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ โดยมี พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายไมเคิล ฮีธ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ พลเอกพอล เจ ลาคาเมรา (Paul J. LaCamera) ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ร่วมเป็นประธานในพิธีฯ ณ ลานอเนกประสงค์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตของประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลักอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธ์ร่วม/ผสม ประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ
ส่วนการฝึกที่น่าสนใจอื่น ๆ ประกอบด้วย การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibious Exercise: AMPHIBEX) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หาดยาว จังหวัดชลบุรี
การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (Combined Arms Live Fire Exercise: CALFEX) จัดกำลังจากฝ่ายไทย สหรัฐฯ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น โดยมีการปฏิบัติในวันที่ 6 มีนาคม 2563 ณ สนามฝึกกองทัพภาคที่ 3 อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้ ตามแผนการเดิมจะมีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกในระดับต่าง ๆ รวม 29 ประเทศ มียอดผู้เข้าร่วมการฝึกจำนวนกว่า 9,650 นาย ประกอบด้วยไทย 3,750 นาย สหรัฐฯ 5,500 นาย สิงคโปร์ 47 นาย ญี่ปุ่น 142 นาย อินโดนีเซีย 50 นาย สาธารณรัฐเกาหลี 30 นาย มาเลเซีย 51 นาย จีน 32 นาย และอินเดีย 13 นาย โดยทางสหรัฐอเมริกาส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือ USS America และ USS Green Bay ได้จัดเตรียมเครื่องบินรบ 64 ลำ และกองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังได้ส่งเครื่องบิน F-15 และ F-35 ซึ่งใช้เทคโนโลยีลดการสะท้อนเรดาร์มาร่วมฝึกอีกด้วย
นอกจากนั้น ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกในโครงการช่วยเหลือประชาชนจำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย
ส่วนประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) ที่ฝ่ายสหรัฐฯ เสนอให้เข้าร่วม จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วยออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และฟิจิ
ส่วนประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก หรือ COLT (Combined Observer Liaison Team) ที่ฝ่ายไทยเสนอจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนาม บรูไน เมียนมา ปากีสถาน กัมพูชา อิสราเอล เยอรมนี สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์
ร่วมฝึก Cyber Warfare เป็นครั้งแรก
ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่การฝึกผสมคอบร้าโกลด์จัดให้มีการฝึก Cyber Warfare หรือการต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์เป็นปีแรก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ปัญหาด้านการรบที่จะมีลักษณะเป็นสงครามไซเบอร์มากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน โดยการฝึกครั้งนี้จะมีการจำลองกำหนดสถานการณ์การโดนโจมตีทางไซเบอร์ และการแก้ไขให้ระบบกลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางทหารให้ความสนใจในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้เพื่อให้มีแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน
“การฝึกครั้งนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์จาก Washington National Guards มาร่วมฝึกกับกองทัพไทยและมิตรประเทศที่เข้าร่วมในการฝึกครั้งนี้ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และฝึกการป้องกันการโจมตีทางด้านไซเบอร์ โดยใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน และในอนาคตการฝึกเรื่องไซเบอร์จะเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกคอบร้าโกลด์ต่อไป” พันโทจอห์น เบเซิล รองหัวหน้าจัสแม็กไทย กล่าว
ด้านพลเอกปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร ต่อไปน่าจะมีการตั้งศูนย์ไซเบอร์ขึ้นมา เผื่อกรณีที่หากเราต้องร่วมรบกับประเทศพันธมิตรเกี่ยวกับสงครามไซเบอร์ ซึ่งต้องมีตัวเชื่อม คือ SOP (Standard Operation Procedure) ซึ่งเราไม่เคยมีมาก่อน
“การฝึกครั้งนี้เราจะได้รู้ว่า SOP ของแต่ละประเทศเข้ากันได้ไหม ถ้าไม่ได้ จะได้มีความร่วมมือกันต่อไป” พลเอกปริพัฒน์กล่าว