ผบก.ภ.จ.ปัตตานี ชี้แจง พรก.ฉุกเฉิน มีความจำเป็นในการสอบสวน

มารียัม อัฮหมัด
2020.02.18
ปัตตานี
200218-TH-emergency-extension-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่บริเวณข้างกำแพงด้านหน้าของโรงเรียนไผ่มัน หมู่ 3 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายลอบวางระเบิด ขณะที่ครู และนักเรียนบางส่วนเดินทางมายังโรงเรียน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม ผบก.ภ.จ.ปัตตานี กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า กฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉินมีความจำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับกฎหมายปกติ เพื่อสร้างความสงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสถานการณ์ยังไม่มีความสงบสุข

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินได้ประกาศขยายเวลาการใช้พรก.ฉุกเฉิน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีกสามเดือน ในระหว่างวันที่ 20 มีนาคม - 19 มิถุนายน 2563  โดยยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี, อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโก-ลก อ.สุคิริน และอ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

ทั้งนี้ พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม กล่าวว่า การประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พรก.ฉุกเฉิน พรบ.กฎอัยการศึก จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

“ในส่วนของคดีอาญาทั่วไปต่างจากความมั่นคง โดยรูปแบบการก่อเหตุคดีอาญาทั่วไป มีมูลฐานความขัดแย้ง การทำผิดชัดเจน พยานหลักฐานสามารถหามาได้ แต่ความมั่นคง พยานหายากมาก โดยเฉพาะพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์หายากมาก ความรุนแรง วิธีการก่อเหตุ มีระเบิด มีการใช้อาวุธสงครามในการก่อเหตุ” พล.ต.ต.จิระวัฒน์ กล่าว

“เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญาทั่วไปปกติมากำกับหรือกำชับได้ เพราะกฎหมายปกติหรือกฎหมายอาญาทั่วไป เมื่อเหตุเกิด  ตามผู้ต้องหาได้แล้ว เราสามารถควบคุมผู้ต้องหาภายใน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน ภายใน 2 วัน เราทำอะไรไม่ได้เลย และคดีความมั่นคงมีหลายคนที่เกี่ยวข้อง ตำรวจทำอะไรไม่ได้ จึงมีการพิจารณาการใช้กฎหมายพิเศษเมื่อปี 2548 เพราะถ้าเราใช้รูปแบบกฎหมายทั่วไปต่อสู้ ก็คงจะไม่มีวันที่จะควบคุมสถานการณ์ให้ยุติหรือยับยั้งให้มันเงียบสงบได้” พล.ต.ต.จิระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

พล.ต.ต.จิระวัฒน์ กล่าวอีกว่า การขอหมายจับโดยอาศัยอำนาจพรก.ฉุกเฉิน ต้องขออำนาจศาลเท่านั้น จะทำโดยพลการไม่ได้  ส่วนศาลจะพิจารณาเหตุผลว่ามีเหตุผลอันควรหรือไม่ จะเห็นว่าที่ผ่านมานั้น เราได้ดำเนินการควบคู่กับกฎหมายปกติ

“สถานการณ์พื้นที่ยังคงมี เพราะยังมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี กลุ่มผุ้ก่อการร้าย กลุ่มลอบยิง วางระเบิด ที่ผ่านมาเราสามารถเดินหน้า 4 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ ปกครอง และกลุ่มภาคประชาชน ร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ให้บานปลาย" พล.ต.ต.จิระวัฒน์กล่าว

พล.ต.ต.จิระวัฒน์ กล่าวถึงสถิติทางคดีว่า เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ความมั่นคงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 จากเหตุปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ถึงเดือนธ.ค. 2562 จะพบว่า มีเหตุที่เกิดจากคดีความมั่นคงทั้งหมด 100,131 เหตุการณ์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10,609 คน มีผู้เสียชีวิต 4,016 คน ทั้งนี้ จำนวนคดีลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังคงไม่หมดไป

ล่าสุด เมื่อวานนี้ ได้เกิดเหตุระเบิดข้างกำแพงด้านหน้าของโรงเรียนไผ่มัน หมู่ 3 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะที่ครูและนักเรียนบางส่วนเดินทางมายังโรงเรียน แต่โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีเหตุคนร้ายลอบยิงลูกจ้างโครงการจัดหางานเร่งด่วนเสียชีวิต ที่บริเวณหน้าโรงเรียนมูฮัมมาดียะห์ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งนายหะมะ ดอเลาะ อายุ 56 ปี ผู้ตาย เคยใช้ปืนคาร์บินยิงตอบโต้นายอับดุลลาเตะ กาเซ็ง ผู้ก่อการร้าย ป.วิอาญา 3 หมาย จนได้รับบาดเจ็บอาการสาหัสมาก่อน

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุพรก.ฉุกเฉิน เนื่องจาก พรก.ฉุกเฉิน มีการประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เกือบ 15 ปีมาแล้ว ทั้งที่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้ฉุกเฉินเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมได้

“พรก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวประชาชนได้ 30 วัน แม้ต้องมีหมายศาล แต่ก็ปรากฏมีการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน หรือการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่บางฝ่ายอาจเคยชินกับการใช้กฎหมายพิเศษมานาน จึงไม่อยากให้ยกเลิก” นางอังคณากล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรัฐบาลมีความพยายามพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลจึงควรพิจารณาเพื่อยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา... หากมีเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก รัฐบาลก็สามารถประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินใหม่ได้ทันที” นางอังคณากล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง