ผู้พิพากษา “คณากร เพียรชนะ” เสียชีวิตในการยิงตัวตายครั้งที่สอง

มารียัม อัฮหมัด
2020.03.07
ปัตตานี
191005-TH-judge-flowers-1000.jpg ประชาชนนำช่อดอกไม้มาวางที่หน้าศาลจังหวัดยะลา เพื่อเป็นการให้กำลังใจนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ที่ยิงตัวเองได้รับบาดเจ็บ วันที่ 5 ตุลาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเชียงใหม่ กล่าวในวันเสาร์นี้ว่า นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่พยายามยิงตัวตาย แต่ไม่สำเร็จเมื่อปีที่แล้ว ได้เสียชีวิตลงแล้วในวันนี้ หลังจากได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายในบ้านพักในจังหวัดเชียงใหม่

พ.ต.ท.สถิตย์ชัย นิตยวัน รอง ผกก.สส. สภ.แม่ปิง อ.เมืองเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ เมื่อเช้าวันเสาร์ว่า ตนได้รับแจ้งจากแพทย์โรงพยาบาลแมคคอร์มิค อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่า มีผู้พิพากษายิงตัวเองมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล จึงรุดมาสอบสวน

“และได้พบศพ นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ซึ่งเคยยิงตัวเองมาแล้วที่ศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายที่บ้านพักในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่” พ.ต.ท สถิตชัยกล่าว

นายคณากร เพียรชนะ กระทำอัตวินิบาตกรรมสำเร็จ หลังจากเขียนจดหมายลาตายและเผยแพร่ทางเฟซบุ๊คส่วนตัว เมื่อเช้าวันเสาร์นี้ โดยระบุถึงการถูกสอบสวนและดำเนินคดีหลังเหตุยิงตัวตายครั้งก่อนหน้านี้

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวแก่บางกอกอโพสต์ว่า ทางโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ไม่สามารถยื้อชีวิตนายคณากรไว้ได้ หลังจาก ที่นายคณากรใช้อาวุธปืนยิงตนเอง ในขณะที่ภรรยาและบุตรสาวออกไปนอกบ้าน

ทั้งนี้ นายคณากร เพียรชนะ เป็นอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นตันในศาลจังหวัดยะลา ซี่งได้เคยยิงตัวตายในศาลขณะที่กำลังว่าความคดีก่อการร้ายชายแดนใต้ เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ซึ่งเขาได้รับบาดเจ็บสาหัส จากนั้นได้รับการรักษาจนหายเจ็บ และถูกโยกย้ายขึ้นมาประจำที่จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม ศกนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในยะลา ได้ตั้งข้อหานายคณากร ฐานความผิดพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

ก่อนหน้าที่จะยิงตัวตาย ครั้งที่สองไม่กี่ชั่วโมง  นายคณากรได้เขียนจดหมายลาตายและโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ "คณากร ตุลาคม"  ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงการถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน และถูกตำรวจแจ้งข้อหาในคดีอาญา

“ซึ่งผมเชื่อว่าต้องถูกลงโทษออกจากราชการเป็นแน่.. ผมขอยืนยันกับเพื่อน ๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านว่า สิ่งที่ทำลงไป ผมทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนและไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน” นายคณากรกล่าว

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 นายคณากรได้ใช้อาวุธปืนยิงที่หน้าอกตัวเองในห้องพิจารณาคดี โดยถ่ายทอดสดทางโซเชียลมีเดีย หลังจากตัดสินยกฟ้องคดีผู้ต้องหาในคดียิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 ราย เหตุเกิดในอำเภอบันนังสตา ยะลา เมื่อเดือนมิถุนายน 2561

ในครั้งนั้น นายคณากรได้เผยแพร่คำแถลงคดี 25 หน้า ซึ่งนายคณากร เขียนขึ้นในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดยะลาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องชายมุสลิม 5 คนในความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งเขาได้อ่านคำพิพากษานี้ ที่ทำให้มีผลยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน หลังจากนั้นนายคณากรหยิบปืนที่พกมาด้วยยิงตัวเอง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ในคำแถลงการณ์ดังกล่าว เขาได้ระบุว่า เขาได้ถูกผู้พิพากษาที่เป็นหัวหน้าส่งให้แก้ไขจากยกฟ้องจำเลย เป็นตัดสินให้มีความผิด โดยให้ประหารชีวิตจำเลย 3 คน และจำคุก 2 คน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการแทรกแซงการตัดสินใจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้อำนาจกับหัวหน้าในสายการบังคับบัญชาสามารถดูคำตัดสินของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคำตัดสินได้

นอกจากนี้ เขาก็ยังได้กล่าวถึงการได้มาซึ่งคำสารภาพของผู้ต้องหาที่ไม่ถูกต้อง โดยใช้ความรุนแรง และข่มขู่ รวมทั้งการซ้อมทรมาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พยายามร้องเรียนเสมอมา

ในวันนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนายคณากร

“ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตของท่านคณากร เพียรชนะ... ขอส่งกำลังใจให้ครอบครัว โดยเฉพาะภรรยาและบุตร” นางอังคณา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ท่านคณากรทำหน้าที่ผู้พิพากษาในจังหวัดชายแดนใต้ คงตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น การใช้กฎหมายพิเศษต่อเนื่องยาวนานเกือบ 15 ปี การที่ทหารเข้ามามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรม ทั้งการจับกุม การสืบสวนสอบสวน ยังปรากฏมีการรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางอังคณา กล่าว

ในบทบรรณาธิการของบางกอกโพสต์ ได้มีการกล่าวถึงการฆ่าตัวตายของนายคณากรว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ขาดความเป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่มีการใช้การทหารนำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีปัญหาเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาหลายทศวรรษ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง