รุ้ง ปนัสยา : จะพยายามทุกทางไม่ให้เกิดความรุนแรงเช่น 6 ต.ค. 19

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.10.06
กรุงเทพ
201006-TH-protest-student-1000.jpg นางสาวปนัสยา “รุ้ง” สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พูดคุยกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการร่วมรำลึกการครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์นองเลือด “6 ตุลาคม 2519” วันที่ 6 ตุลาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวในระหว่างการร่วมนิทรรศการรำลึกวันครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 ว่า ผู้ชุมนุมจะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 44 ปีก่อน ซึ่งมีนักศึกษาเสียชีวิตจากการเข้าปราบปรามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ขณะที่ในวันเดียวกันนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า โอกาสในการปฏิวัติ-รัฐประหารนั้นเป็นศูนย์ หากไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นมา

น.ส. ปนัสยา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ในงาน “44 ปี 6 ตุลาคม 2519” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า ตนเองในฐานะแกนนำการชุมนุม ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงดังเช่นที่เคยเกิดกับนักศึกษาในอดีต

“6 ตุลา เป็นเหตุการณ์สลดใจ เราจะพยายามทุกทางไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก เวลาออกมาประท้วงแต่ละที มันก็จะมีคนกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลา ขึ้นอีกไหม เขาจะฆ่านักศึกษาไหม เขาจะล้อมเราอีกไหม มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้คนมั่นใจให้ได้ว่า มันจะไม่เกิด เราจะพยายามสุดความสามารถ” น.ส. ปนัสยา กล่าว

“44 ปี 6 ตุลา มันผ่านมาไม่นานเองนะ แต่มันเหมือนกับว่า เรื่องแบบนี้ยังอยู่กับเราตลอดเวลา พวกหนูต้องการที่จะเปลี่ยนมันให้ได้ พี่นักศึกษา พี่เสื้อแดง มันยังไม่สำเร็จ เราเป็นผู้ที่พยายามจะสานต่อให้สำเร็จในรุ่นเราให้ได้ เพื่อทุกคนจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น และประชาธิปไตยจริง ๆ เกิดขึ้นมา” น.ส. ปนัสยา กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เตรียมจัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้ แต่ น.ส. ปนัสยา ระบุว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ว่าจะมีกิจกรรมอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่าจะเป็นการรวมตัวของกลุ่มการเคลื่อนไหวหลาย ๆ กลุ่ม จากทั่วประเทศ

“มันจะเป็นหลาย ๆ กลุ่ม กลุ่มเคลื่อนไหวหลัก ๆ ในประเทศไทยน่าจะมีรวมกันหมด สามารถพูดได้ว่าจะมีการยกระดับเกิดขึ้นแน่นอน แต่รูปแบบยังบอกไม่ได้ เป็นการรวมกันครั้งแรก จึงใช้ชื่อว่า “คณะราษฎร” ประเด็นคือ การขับไล่รัฐบาล และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย คราวนี้ เราอยากให้มันจบ พวกเราเองมีความหวัง เห็นเป้าหมายของมัน แต่มันจะถึงเป้าหมายไม่ได้เลย ถ้าไม่มีมวลชน ถ้าใครเห็นด้วยกับเราให้ออกมา” น.ส. ปนัสยา ระบุ

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นการชุมนุมครั้งแรก หลังโควิด-19 ระบาด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลเลิกคุกคามประชาชน ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเรียกร้องครั้งดังกล่าว ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในสถานการศึกษา และในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปราศรัยใหญ่ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยึด 3 ข้อเรียกร้องเดิม เพิ่ม 2 จุดยืนคือ การไม่เอารัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และบวกอีก 1 ความฝัน ที่จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ล่าสุด ในการชุมนุม “19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19 และ 20 กันยายน ที่ผ่านมานี้ น.ส. ปนัสยา ได้นำผู้ชุมนุมราวห้าพันคน ถวายหนังสือถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 ที่ทำเนียบองคมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทาง 10 ข้อ พร้อมทั้งมีการปัก “หมุดคณะราษฎร์ 2” เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475

งาน “44 ปี 6 ตุลาคม 2519” จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการล้อมปราบนักศึกษา บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 46 คน และได้รับบาดเจ็บ 167 คน ซึ่งในวันนั้น นักศึกษาได้ประท้วงการกลับมาเมืองไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกขับไล่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา ในการประท้วง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

น.ส.เบญจมาส วินิจจะกูล หนึ่งในผู้ออกแบบนิทรรศการในงาน “44 ปี 6 ตุลาคม 2519” กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จุดมุ่งหมายในการจัดงานนี้ขึ้น เพื่อให้ความรู้คนเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐต่อประชาชน

“วัตถุประสงค์ใหญ่ของเราคือ ต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ด้วยการให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องนี้ และเรื่อง 6 ตุลา ถูกพูดถึงในปีนี้เยอะมาก มีการเชื่อมโยงเข้ากับการล้อมปราบ ในเดือนพฤษภา 53 เหตุการณ์ 6 ตุลา คนฆ่ายังไม่ถูกลงโทษ ทำให้เมื่อนักศึกษาชุมนุมในตอนนี้ มีการขู่ว่า จะเกิดความรุนแรงแบบ 6 ตุลา เราจึงจัดนิทรรศการนี้ขึ้น เพื่อบอกว่าความรุนแรงแบบนี้มันเกิดอีกไม่ได้ ต้องยืนยันตรงนี้” น.ส.เบญจมาส กล่าว

ผบ.ทบ. ระบุไม่มีโอกาสรัฐประหาร หากไม่มีผู้ก่อความรุนแรงก่อน

ในวันเดียวกัน พล.อ.ณรงค์พันธ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ โดยเมื่อถูกถามถึงโอกาสของการเกิดการปฏิวัติ-รัฐประหาร พล.อ.ณรงค์พันธ์ ชี้ว่า มีโอกาสเป็นศูนย์

"คำถามนี้ถามมาทุก ผบ.ทบ. และทุกคนก็ตอบไปหมดแล้วคือ โอกาสของการทำเรื่องพวกนี้ ทุกอย่างเป็นศูนย์หมด บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และกระทบต่อความเดือดร้อน" พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวตอบ

“ผมอยากให้ทุกคนสร้างสรรค์ในสิ่งเหล่านี้ สร้างสรรค์ ช่วยกันขจัดเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ให้หมดไป ให้มันติดลบ ศูนย์ก็ไม่พอให้มันติดลบเลย… ประเทศไทยเราวันนี้เป็นประเทศที่ดีที่สุด มีเสรีภาพมากที่สุด อุดมสมบูรณ์มากที่สุด ทุกคนอยากมาอยู่ประเทศไทย โดยเฉพาะสภาวะแบบนี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวอีกว่า กองทัพบกไม่มีนโยบายไปติดตามเด็กนักศึกษาที่จัดประท้วง โดยเรื่องการเมืองนั้นต้องแก้ด้วยการเมือง ส่วนกองทัพบกจะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง