พลโทนักรบ บุญบัวทอง กล่าวว่าตัวแทนบีอาร์เอ็นที่ร่วมอยู่ในองกรค์มาราปาตานียันเดินหน้าคุยต่อ
2015.10.12

พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขของฝ่ายไทย กล่าวในวันจันทร์นี้ว่า การดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติ ซึ่งมีตัวแทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นผู้ร่วมเจรจาอยู่ด้วย จะดำเนินกระบวนการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ แม้ว่าจะมีแถลงการณ์ออกมาจากสำนักประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็น (BRN Information Department) ในวันจันทร์นี้ ที่ได้แสดงความไม่ไว้วางใจรัฐบาลไทย
“ในขณะนี้ ตัวแทนบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมในคณะพูดคุย ยืนยันในการพูดคุยกันต่อไป เราคุยกันอย่างไม่เปิดเผยในเรื่องนี้” พลโทนักรบ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แก่เบนานิวส์
“การพูดคุยยังคงดำเนินไปเหมือนเดิม โดยคิดว่าน่าจะเปิดการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการได้ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน และก่อนหน้านั้น อาจจะมีการพูดคุยโต๊ะเล็ก ทุกอย่างที่จะคุยกันนั้น อยู่บนโต๊ะแล้ว แถลงการณ์เป็นเพียงบทบาทหนึ่งของบางกลุ่มในการเจรจา” พลโทนักรบกล่าวเพิ่มเติม
ในวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะพูดคุยสันติสุขของไทยที่มีพลเอกอักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ ได้เจรจากับทางฝ่ายมาราปาตานี (MARA Patani – Majis Syura Patani) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งได้มีข้อเสนอต่อฝ่ายไทยสามข้อ คือ การยอมรับสถานภาพของมาราปาตานี การให้การพูดคุยสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ และการให้ความคุ้มกันกับทางผู้เจรจา
จากนั้นในวันที่ 27 สิงหาคม กลุ่มมาราปาตานี ได้เปิดตัวพบปะกับสื่อมวลชน เป็นครั้งแรก โดยมีสมาชิก 7 คน ที่มาร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย คือ นายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นประธานกลุ่มมาราปาตานี นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มมาราปาตานี นายหะยีอาหะมัด ชูโว ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอพีพี (BIPP) นายอาบู ยาซีม ผู้แทนจากกลุ่มจีเอ็มไอพี (GMIP) พ.อ. กัสตูรี มาห์โกตา ผู้แทนจากกลุ่มพูโล เอ็มเคพี และ นายอาบูอัครัม บินฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโลดีเอสพีพี
สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นบางกลุ่ม ยังคลางแคลงใจรัฐบาล
สำนักประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็น (BRN Information Department) ได้ออกแถลงการณ์ในวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558 นี้ โดยได้แสดงความกังขาต่อความจริงใจของรัฐบาลไทยในกระบวนการเจรจาสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้โดยยกคำเรียกร้อง ที่เคยมีไว้ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ใน ปี 2556 ที่รวมเรื่องการยอมรับการมีอยู่ของชาติปาตานีและอธิปไตยเหนือปาตานีไว้ด้วย มาเป็นประเด็นสำคัญว่าจะสามารถยอมรับกระบวนการเจรจาหรือไม่
ตามแถลงการณ์ของสำนักประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็น ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ที่เบนานิวส์ได้มาจากแหล่งข่าว ได้มีข้อความแสดงไว้ว่า ทางรัฐบาลไทยไม่เคยยอมรับข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้เห็นต่าง จึงได้ตั้งคำถามว่ารัฐบาลไทยมีความจริงใจอยู่หรือ
“ข้อเรียกร้องห้าประการที่เราเสนอให้ทาง ผู้ยึดครองแห่งสยาม นั้น ถือเป็นมาตรการสำคัญในการสร้างกระบวนการสันติภาพ แต่ทางประเทศไทยดำเนินการเหมือนประหนึ่งการร้องขอต่อประชาชนชาวมลายูปาตานีผ่านทางบีอาร์เอ็นให้มาร่วมเจรจา แล้วยังจะถือว่ามีความจริงใจอยู่หรือ?” เนื้อความในแถลงการณ์ท่อนหนึ่งกล่าวไว้
นอกจากนั้นแถลงการณ์ดังกล่าว ยังได้แสดงเนื้อความว่า “การเจรจาต่อรองจะต้องกระทำอย่างเป็นทางการ สอดคล้องกับมาตรฐานและวิธีปฏิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งต้องมีผู้ไกล่เกลี่ย และผู้สังเกตการณ์จากรัฐอื่นมามีส่วนร่วมด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นต่อปาตานี คือการที่รัฐหนึ่งเข้ายึดครองอีกรัฐอื่น อีกทั้งสถานะและการดำรงอยู่ของชาติปาตานีจะต้องได้รับการยอมรับ”
อนึ่ง ในวันที่ 7 ก.ย. 2558 สำนักประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็น โดยนายอับดุล คาริม คาลิบ (Abdul Karim Khalib) ได้อ่านแถลงการณ์ทางยูทิวป์มาแล้วครั้งหนึ่ง ภายใต้หัวข้อว่า "นักล่าอาณานิคมไทย" โดยได้แสดงการต่อต้านกระบวนการพูดคุยสันติสุข ที่ทางฝ่ายมาราปาตานี และผู้แทนรัฐบาลไทย ที่กำลังดำเนินอยู่
นายอับดุล คาริม คาลิบ เคยเป็นผู้ร่วนเจรจาในการเจรจาสันติภาพสองครั้งในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร แต่การเจรจาได้สะดุดลง โดยข้อเรียกร้องทั้งห้าข้อนั้น ถูกมองว่า เป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่งเกินไป ในครั้งนี้ นายอับดุล คาริม คาลิบ ไม่ได้ร่วมการเจรจาแต่อย่างใด