ชาวบ้านหลายพันคนร่วมละหมาดฆออิบ ให้นายสะแปอิง บาซอ
2017.01.17
ปัตตานี

ปรับปรุงข้อมูล 12:12 p.m. ET 2017-01-18
ในวันอังคาร (17 ม.ค. 2560) นี้ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และชาวบ้านราวห้าพันคน ทำพิธีละหมาดฆออิบ ให้กับนายสะแปอิง บาซอหรือ อุซตาซชาฟีอีย์ เบ็ญ อับดุลเราะฮ์มาน อิหม่ามประจำมัสยิดตะลาฆอสะมีลัน ในจังหวัดปัตตานี และอดีตครูใหญ่ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และเป็นผู้ที่ทางการไทยกล่าวว่า ถือเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เสียชีวิตในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 นี้
สำหรับพิธีละหมาดฆออิบ (ละหมาดศพโดยที่ไม่มีศพ) ให้กับนายสะแปอิง บาซอ ในวันนี้ นับเป็นวันที่สอง ซึ่งการทำพิธีวันแรก ทำโดยศิษย์เก่าโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จัดขึ้นที่สนามกีฬาโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เมื่อวันจันทร์นี้ มีศิษย์เก่าโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ มาร่วมพิธีราว 5,000 คน
นายซัลมาน บาซอ ลูกชายคนที่ 7 ของนายสะแปอิง บาซอ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ตนเองทราบข่าวว่าบิดาของตนเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน ด้วยวัย 86 ปี ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมานี้ แต่ไม่ทราบสถานที่ฝังศพในมาเลเซียที่ชัดเจน
"ทราบข่าวพ่อเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน เช้าวันที่ 10 มกราคม 2560 จากนั้นก็ไปเล่าให้ครูที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิทราบ เพราะผมเองเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่นั่น พอทุกคนทราบเรื่องศิษย์เก่า จึงคิดว่าต้องทำพิธีละหมาดฆออิบ และวันที่ 14 มกราคม ศิษย์เก่าได้ออกประกาศให้ทุกคนทราบ จากนั้น ทหารก็โทรมาขอการยืนยันจากครอบครัว" นายซัลมาน บาซอ กล่าว
เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของไทย ได้รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า นายสะแปอิง ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสภาองค์กรนำ (หรือ Dewan Pimpinan Parti ในภาษามลายู) ของขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อปลายเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยมีนายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา ในปัตตานี เป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำ ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองราย เป็นผู้ต้องหาฐานเป็นกบฏ ตามหมายจับของทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในปี 2547
ลูกชายสะแปอิง: พ่อไม่ใช่บีอาร์เอ็น
นายซัลมาน บาซอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า บิดาของตนไม่ใช่เป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ตามที่สื่อมวลชนรายงาน
"สิ่งแรกที่อยากได้ ขออย่าให้สื่อใส่ตำแหน่งพ่อว่าเป็นแกนนำ BRN เพราะความจริงไม่ใช่อย่างที่พ่อถูกกล่าวหา ครอบครัวและชาวบ้านยืนยันได้พ่อไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา" นายซัลมาน กล่าวแย้ง
“การแก้ปัญหาภาคใต้ไม่มีวันจบ ถ้ารัฐยังคิดว่า สะแปอิง บาซอ เป็นแกนนำ เพราะมันผิดตั้งแต่แรกแล้ว ยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยชี้แจงหรือคุยกับสื่อ และสื่อเองก็ไม่ได้มาคุยกับเรา” นายซัลมาน กล่าวเพิ่มเติม
"พ่อมีลูก 9 คน ชาย 3 หญิง 4 กับแม่นางซากีนา สุหลง อายุ 64 ปี ส่วนแม่ยังแข็งแรง เป็นแม่บ้านตามปกติ ที่บ้านเลขที่ 191/7 หมู่ที่ 4 ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี หลังจากนี้พวกเราตั้งใจจะใช้ชีวิตเป็นปกติ” นายซัลมาน กล่าว
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะนิยมส่งลูกเรียนที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ คนส่วนใหญ่มองอุซตาซสะแปอิงว่าเป็นคนดีมาก จะดูแลเด็กเป็นอย่างดี ต่างไปจากสายตาของรัฐ
“ข่าวการเสียชีวิตของอุซตาซสะแปอิง บาซอ อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนสบายใจ แต่สำหรับประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว นี่คงเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ ซึ่งคนที่พวกเขารักและไว้วางใจไม่อาจหวนคืนสู่มาตุภูมิ แม้ในสภาพที่ปราศจากลมหายใจ” นางอังคณากล่าวทางโทรศัพท์
หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวว่า สะแปอิงตาย ไม่กระทบการพูดคุย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ได้รับแจ้งข่าวการเสียชีวิตของนายสะแปอิง บาซอ เมื่อวันที่ 10 มกราคม และกล่าวว่าเป็นเรื่องจริง เพราะนายสะแปอิง ที่ถือเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของกลุ่มบีอาร์เอ็น มีอาการป่วยเรื้อรังมานาน แต่การตายของเขาอาจจะส่งผลให้มีสมาชิกบีอาร์เอ็นอยากร่าวมการพูดคุยฯ มากขึ้น
“ไม่ส่งผลอะไรต่อการพูดคุย เพราะคณะพูดคุยได้พูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี แต่อาจจะมีผลให้กลุ่มบีอาร์เอ็นเข้าร่วมการพูดคุยมากขึ้น เพราะในบีอาร์เอ็นเอง มีกลุ่มที่อยากให้เกิดสันติสุข อย่างนายอาวัง ญาบัต เลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็น ก็มีแนวคิดสันติสุข การที่ผู้นำจิตวิญญาณลดน้อยลงตามกาลเวลา ถือเป็นผลให้การพูดคุยสันติสุขได้ง่ายขึ้น” พล.อ.อักษรา กล่าว
อดีตนายทหารการข่าวที่เคยทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นพลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเสียชีวิตของนายสะแปอิง จะไม่เกิดผลกระทบต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่ความคืบหน้าในการเจรจาขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลมาเลเซียมากกว่า
“บีอาร์เอ็น นำชื่อนายสะแปอิงมาใช้ว่าป็นแกนนำ เพราะมีลูกศิษย์ครึ่งสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนการเจรจาสันติสุขนั้น มันขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลมาเลเซียมากกว่า เพราะว่าหากรัฐบาลมาเลเซียอ่อนแอลง จะไม่สามารถคุมพวกกลุ่มขบวนการที่หลบอยู่ในมาเลเซียได้” พลโทนันทเดช กล่าวถึง รัฐบาลนายนาจิบ ราซัค ที่โดนมรสุมทางการเมืองด้วยข้อกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น
กลุ่มมาราปาตานีแสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย
นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม ได้แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียนายสะแปอิง บาซอ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 โดยออกแถลงการณ์ในนามกลุ่มมาราปาตานี เมื่อวันอังคารนี้ว่า “พวกเราขอไว้อาลัยต่อการจากไปของนักต่อสู้ตัวยง และผู้นำด้านการศึกษา ที่มีบทบาทสำคัญและเสียสละเพื่อชนชาติ ศาสนา และประเทศชาติ พวกเราขอดุอาอ์ให้ดวงจิตวิญญาณของท่านได้รับพรจากอัลลอห์ผู้ยิ่งใหญ่ และสถิตย์อยู่กับปราชญ์ ผู้ทรงคุณธรรม และผู้ประกอบการดีทั้งหลาย”
หน่วยความมั่นคง-สมาชิกบีอาร์เอ็น คาดการณ์เหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยที่ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า มีความเป็นได้ที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลังจากการตายของนายสะแปอิง เพราะบีอาร์เอ็นต้องการเรียกขวัญและกำลังใจกลับคืนมา
“ผลกระทบเฉพาะหน้าที่น่าจะเกิดขึ้นคือ จะมีเหตุการณ์รุนแรงที่หนักขึ้น ผ่านการสนับสนุนของฝ่ายกองกำลัง เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจของบรรดานักรบ เพื่อยืนยันว่าองค์กรบีอาร์เอ็นยังเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอไปตามการสูญเสียผู้นำ” เจ้าหน้าที่ท่านดังกล่าวให้ทรรศนะต่อเบนาร์นิวส์
“ส่วนผลในระยะยาวออกไป คิดว่าน่าจะมีการช่วงชิงการนำในขบวนการ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าภายในบีอาร์เอ็นเอง ก็ไม่มีความเป็นเอกภาพมากนัก โดยเฉพาะหลังจากมีการเปิดโต๊ะพูดคุยแบบเปิดเผยเมื่อ ปี 2556 เป็นต้นมา มีบางปีกอยากให้ร่วมพูดคุยเต็มตัว บางปีกอยากให้รบต่อ เพราะเชื่อว่าตนได้เปรียบรัฐบาลอยู่”
ทางด้านแนวร่วมขบวนการฝ่ายอูลามะห์ (ฝ่ายจิตวิญญาณ) ที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้รายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ว่า
“การจากไปของอุซตาซ จะว่าไม่กระทบต่อขบวนการเลยก็ถือว่าไม่ใช่ จะบอกว่าจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการทั้งหมดก็ไม่ใช่... อุซตาซสะแปอิง ทำหน้าที่ฝ่ายอูลามะห์มาตลอด แต่ยืนยันว่าจะมีคนมาทำงานแทนที่อุซตาซอยู่แล้ว ตอนนี้น่าจะรอให้อะไรๆ ผ่านไปสักระยะ เริ่มปฏิบัติการเมื่อไหร่ ก็ได้เจอกันในรูปแบบใหม่ๆ กับนโยบายใหม่ของขบวนการ BRN”
* รายงานก่อนหน้านี้ ใส่อายุของสะแปอิง บาซอไม่ถูกต้อง