จังหวัดแดนใต้ประเทศไทย: ยังคง 'วัตถุประสงค์สูงสุด' คือ เอกราช แถลงในวิดีโอของบีอาร์เอ็น
2015.09.08

ท่ามกลางความพยายาม ในการเริ่มต้นใหม่ของการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการ ระหว่างกลุ่มองค์กรร่วม มารา ปาตานี ตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สาม ซึ่งได้เริ่มขึ้น โดยมีการประชุมลับระหว่างทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา ที่ประเทศมาเลเซีย
สำนักประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็น (BRN - Information Bureau) ออกแถลงการณ์ผ่านยูทูบในรอบ 3 ปีของการพูดคุย และเป็นครั้งแรก ในรอบปี 2558 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 คลิปถูกแชร์โดย Assalamualaikum Wr.Wb. ใช้ชื่อเรื่องว่า "นักล่าอาณานิคมไทย" คำแถลงการณ์ของสำนักประชาสัมพันธ์ บีอาร์เอ็น ผู้อ่านแถลง นาย อับดุล คาริม คาลิบ (Abdul Karim Khalib) โดยแถลงเป็นภาษามลายู และมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เวลาในการแถลงประมาณ 6 นาที
ในวีดีโอไม่ได้มีการกล่าวถึง มารา ปาตานี แต่อย่างใด
สถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ของสังคมมลายูปาตานีตลอดระยะเวลากว่าสองศตวรรษ นับตั้งแต่ปี 1786 ที่ได้ประจักษ์ต่อสาธารณชนว่า มันได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แม้กระทั่ง ด้านวัฒนธรรม ผลกระทบดังกล่าว มีต้นเหตุมาจากนักล่าอาณานิคมสยาม ที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบผ่านนโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง” และได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศด้วยวิถีที่ไร้ซึ่งความชอบธรรม
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า แถลงการณ์ครั้งนี้ เป็นของกลุ่มบีอาร์เอ็นบางส่วนที่ยัง สนับสนุนเชื่อมั่นในแนวทางของบีอาร์เอ็นที่ทำมาตลอด ในการต่อสู้ โดยการใช้กำลัง ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์ที่แสดงจุดยืนเดิมของขบวนการ
“เป็นการสะท้อนภายในของบีอาร์เอ็นว่า ในกลุ่มมีความคิดเห็นที่ต่างกัน ในเรื่องของการพูดคุยสันติภาพ แต่ภาพรวมเชื่อว่า ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อการพูดคุยสันติสุขหรือสันติภาพ โดยเฉพาะฝ่ายที่ยังสนับสนุนเชื่อมั่นแนวทางบีอาร์เอ็น เพื่อเป็นการตอบสนองความรู้สึกของคนอีกส่วนหนึ่ง”
“ชาติเดียว ภาษาเดียว”
ผู้อ่านคำแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น จากวีดีโอ นาย อับดุล คาริม คาลิบ (Abdul Karim Khalib) ได้แถลงต่อไปว่า
“นานาประเทศต่างประจักษ์ชัดแล้วว่านักล่าอาณานิคมสยามนั้น ไม่ได้ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองให้กับทุกชนชาติที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชาวมลายูปาตานี นับประสาอะไรกับการเจรจาสันติภาพที่มิอาจเชื่อได้ว่านักล่าอาณานิคมสยามนั้น จะไม่มีการหลอกลวงชาวปาตานีเหมือนอย่างที่แล้วมา...”
“ตราบใดที่แนวคิดทางการเมืองของนักล่าอาณานิคมสยาม ยังไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับในสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ของชาวมลายูปาตานีที่สอดคล้องกับกฎบัตรแห่งสหประชาชาติได้ ตราบนั้น การต่อสู้ของชาวมลายูปาตานีจักยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าชะตากรรมของชนชาวมลายูปาตานีจะได้รับอิสรภาพ”
“สุดท้ายนี้เราขอยืนยันว่า แถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเป็นที่รับรู้ของประชาชนของเราและประชาชาติของเราอย่างทั่วกันว่า จุดยืนของเรา และแนวคิดของเราคือหนึ่งเดียว หนึ่งประชาชาติ หนึ่งภาษา หนึ่งรัฐชาติ ไม่เลี้ยวซ้าย ไม่เลี้ยวขวา การรับอิสรภาพ เอกราช และตายในหนทางของอัลลอห์”
สำหรับ นาย อับดุล คาริม คาลิบ (Abdul Karim Khalib) ผู้อ่านคำแถลงการณ์ของ บีอาร์เอ็น ถือเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งแรกได้แถลงร่วมกับนาย ฮัสซัน ตอยิบ สมาชิกบีอาร์เอ็น (BRN) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2556 และครั้งที่ 2 ในปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2556 ส่วนครั้งที่ 3 นี้เป็นครั้งแรกของปี 2558 ในส่วนของการร่วมวงพูดคุยสันติสุข รอบนี้ นาย อับดุล คาริม คาลิบ (Abdul Karim Khalib) ไม่ได้เข้าร่วม
ในวันอังคารที่ 25 ส.ค. 2558 เจ้าหน้าที่รัฐผู้แทนคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ได้พบปะเข้าร่วมประชุมลับ กับตัวแทน องค์กรร่ม MARA Patani ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่าง ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมาพร้อมกับข้อเสนอ 3 ข้อ ของแต่ละฝ่าย และการเห็นพ้องในหลักการ เพื่อปูทางสู่การพูดคุยสันติสุขครั้งต่อไปในอนาคต
และในวันพฤหัสบดีที่ 27 ส.ค. 2558 กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มร่วมเจรจา โดย นาย อาวัง ญาบัต เป็นประธานกลุ่มเจรจา “มารา ปาตานี” (MARA Patani) และนายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจา ได้เปิดตัวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเชีย เจ้าภาพผู้ประสานการพูดคุย
ความจริงใจต่อการพูดคุยสันติสุข
พลตรีนักรบ บุญบัวทอง หนึ่งในคณะผู้แทนรัฐบาลไทยในกระบวนการพูดคุยสันติสุข และเป็นผู้ที่มีส่วนในการพยายามชักชวน ให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หวนกลับมาสู่โต๊ะเจรจาเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การเจรจารอบสุดท้ายที่มีประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลาง และที่จัดขึ้นในยุครัฐบาลพลเรือนที่นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สะดุดลงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ได้กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์ว่า
“ไม่ได้กระทบกับกระบวนการพูดคุยอยู่แล้ว ซึ่งต้องเดินหน้าต่อ รัฐบาลไทยนั้น มีความจริงใจในการพูดคุยสันติสุขอยู่แล้ว เขาพูดในจุดยืนของเขา แต่วีดีโอนี้ อัดมาเมื่อไหร่ไม่ทราบ และไม่ได้โจมตี MARA Patani ด้วย เพราะถ้าหากไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยก็ต้องกล่าวถึงมารา”
“เรื่องประวัติศาสตร์ เป็นประวัติศาสตร์ห้วงเดียว ไม่ได้พูดก่อนหน้านั้นว่าเมื่อก่อนเป็นอะไรมาก่อน”
“ประวัติศาสตร์การยึดครอง ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้น ในขณะนั้น เช่น การบูรณาการดินแดน ที่ทั่วโลกเขาทำกันหมด เมื่อก่อนไม่มีดินแดน ภายหลังจึงมีการบูรณาการ ถ้าสยามอ่อนแอ ปาตานีจะมายึดสยามไหม อย่าลืมว่าสมัยนั้น อาณาจักรไชยารุ่งเรืองที่สุด”
“เรื่องการพูดคุยคราวหน้านั้น คงจะยังไม่เป็นทางการเพราะว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องของเงื่อนไขสามข้อที่มีการยกขึ้นมาในคราวที่แล้วก่อน”