‘พันธมิตรชานม’ ในหลายประเทศเผชิญหน้ารัฐบาลเผด็จการ
2020.10.15

นักรณรงค์หนุ่มสาวเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วเอเชียกำลังหันไปขอการสนับสนุนจากนานาประเทศทางโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance เพื่อขอการสนับสนุน ขณะที่ผู้ประท้วงในไทยและฮ่องกงกำลังเผชิญหน้ากับรัฐบาลเผด็จการ
“ผม [เชื่อว่า] #MilkTeaAlliance สามารถทำให้เกิดความเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า “ทั่วเอเชีย” ได้ ซึ่งจะดึงความสนใจมากขึ้นสู่ประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมในเอเชีย” โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง หนึ่งในผู้นำประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อปี 2557 ทวีตเมื่อวันพุธ
ขณะเดียวกัน ฟรานซิส บุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักเคลื่อนไหวนักศึกษาไทย ก็กำลังเตรียมตัวที่จะ “เรียกรวมพล” โดยใช้แฮชแท็กเดียวกันนั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มปฏิบัติการต่อผู้ประท้วง ก่อนหน้าการประท้วงใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดี
“ชาวพันธมิตรชานมที่รัก” เขากล่าวในวิดีโอที่โพสต์ลงในทวิตเตอร์
“เมื่อครึ่งชั่วโมงที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเริ่มปฏิบัติการบีบบังคับให้ผู้ประท้วงที่กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการประท้วงใหญ่พรุ่งนี้ สลายตัว ตำรวจใช้วิธีที่เกินกว่า [ที่] มนุษย์จะทนได้” ฟรานซิสกล่าว
“ผมมาหาคุณโดยไม่มีอะไรจะเสนอให้ นอกจากกำลังใจที่มีให้อย่างไม่มีเงื่อนไขของเรา ต่อบรรดาพี่น้องในต่างประเทศ ผู้ที่กำลังมีส่วนร่วมในการต่อสู้และการปฏิรูปการปกครองที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิตของพวกเขา”
“นี่เป็นการเรียกรวมพล สำหรับทุกคนที่เห็นคุณค่าของเสรีภาพและความยุติธรรม สำหรับทุกคน” เขากล่าวเสริม โดยเรียกร้องให้บรรดาพันธมิตร “ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการและอำนาจนิยมที่เราทุกคนกำลังเผชิญกันอยู่”
ข้อความให้กำลังใจเขาปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่แล้วเห็นได้ชัดว่ามาจากฮ่องกง
“ขอให้ปลอดภัย! นี่เหมือนกับที่เกิดขึ้นในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วเลย” ชาวทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อ @sajujuandjuju เขียนตอบ "ชาวฮ่องกงจะสนับสนุนสหายชาวไทยของเราเสมอ ขอให้บอกว่าเราจะช่วยอะไรได้บ้าง!"
“ชาวฮ่องกงจะยืนเคียงข้างประเทศไทยเสมอ!! สู้ ๆ และขอให้ปลอดภัย” ชาวทวิตเตอร์อีกคนเขียน
‘ศึกออนไลน์’
แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance เริ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้ ในระหว่างที่เกิดศึกออนไลน์ระหว่างกลุ่ม “ชมพูน้อย” ของจีน ซึ่งเข้าข้างพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับคนในประเทศไทย ฮ่องกง และเกาะไต้หวันที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เมื่อไม่นานมานี้ ไต้หวันยกย่องอินเดียให้เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรชานมด้วย เพราะคนอินเดียนำธงไต้หวันมาโบกสะบัดเพื่อฉลองวันชาติไต้หวันเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม
ซี ฮุน คิม นักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ในรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า แนวความคิดหลักคือการต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการและอิทธิพลเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
“พันธมิตรชานมได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับเราไปแล้ว จนทำให้ยุทธวิธีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วโลกใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว และคนก็เริ่มที่จะตั้งข้อกังขากับพรรคคอมมิวนิสต์จีน” คิมบอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย “นี่ยังแสดงให้เห็นถึงความคับข้องใจที่คนมีต่อสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังทำอยู่ในขณะนี้”
รอย เงิง นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในไต้หวัน กล่าวว่า สถาบันประชาธิปไตยเริ่มคิดว่า จีนเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากจีนพยายามขยายอิทธิพล และนโยบายออกไปนอกเขตแดนของประเทศมาก
“ถ้าจีนยังคงแข็งแกร่งต่อไป รัฐบาลของเราก็จะคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย เพราะยังไง ๆ จีนก็อยู่เบื้องหลังและควบคุมสิ่งต่าง ๆ อยู่ดี” เขากล่าว
เขากล่าวว่า เขารู้สึกถึงการคุกคามของลักษณะการปกครองของจีนชัดเจนกว่าที่เคย นับตั้งแต่ที่ย้ายมาอยู่ที่ไต้หวัน ประเทศนี้ตกอยู่ใต้การคุกคามจากการรุกรานของจีน ซึ่งไม่เคยได้ควบคุมไต้หวัน แต่กลับอ้างว่าเกาะไต้หวันเป็นดินแดนของตน
สำหรับเงิงแล้ว พันธมิตรชานม คือเวทีออนไลน์สำหรับคนหนุ่มสาวทั่วเอเชีย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของกันและกัน และเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่กลัวจีน
การกดขี่อย่างแพร่หลาย
รายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับเอเชียขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ออกมาก่อนหน้านี้ในปีนี้ระบุว่า มีความแพร่หลายในการกดขี่เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมกันทั่วภูมิภาคเอเชียในระหว่างปี 2562
แต่ความเคลื่อนไหวในการประท้วงภายใต้การนำของคนวัยหนุ่มสาว ก็ยังปรากฏให้เห็นต่อไป
จอยซ์ โฮ นักศึกษาอเมริกันเชื้อสายฮ่องกง กล่าวว่า คนหนุ่มสาวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากนานาชาติ เพื่อไม่ให้ประเทศของตัวเองประสบกับ “สภาพที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงหรือทิเบต”
“โลกจะเป็นของเราในวันหนึ่ง และจะต้องไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลที่ต้องการควบคุมเรา” โฮกล่าว เขาเป็นผู้ก่อตั้งเวทีออนไลน์ชื่อ Project Black Mask HK ที่เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนจากนานาประเทศ ใส่หน้ากากสีดำเพื่อแสดงการสนับสนุนความเคลื่อนไหวในการประท้วง
โฮบอกต่อการชุมนุมสากลเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีขึ้นในวอชิงตัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ว่าโลกกำลังต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในทุกหนแห่ง ไม่ใช่เพียงในฮ่องกง เมื่อเร็ว ๆ นี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เข้มงวดมากในฮ่องกง กฎหมายดังกล่าวห้ามการแสดงความเห็นต่างและวิจารณ์รัฐบาลจีนในทุกแห่งทั่วโลก
“คนรุ่นหนุ่มสาวมีความสนใจทางการเมืองมากกว่า ต้องการรู้เรื่องการเมืองอย่างลึกซึ้งขึ้น และมีความห่วงใยว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต” โฮกล่าว
แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance เป็นที่นิยมในทวิตเตอร์เมื่อเดือนเมษายน ในช่วงเกิดศึกออนไลน์กับกลุ่มชมพูน้อยของจีน และเป็นที่นิยมอีกครั้งเมื่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินเดียรวมกำลังกันสนับสนุนการเรียกร้องของไต้หวัน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในองค์กรระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่จีนยืนยันที่จะให้ไต้หวันถูกโดดเดี่ยวทางการทูต
สำนักข่าวกลางไต้หวันรายงานว่า เมื่อไต้หวันพยายามรวบรวมการสนับสนุนจากทั่วโลก เพื่อให้ได้เข้าร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly หรือ WHA) ในเดือนพฤษภาคม เกือบครึ่งหนึ่งของทวีตที่สนับสนุนไต้หวันมาจากอินเดีย ทำให้รูปสัญลักษณ์ทางอินเทอร์เน็ตที่ออกมาใหม่มีอินเดียอยู่ในพันธมิตรชานมด้วย
การสนับสนุนไต้หวันจากอินเดีย
การสนับสนุนไต้หวันในอินเดียมีมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารจีนและอินเดียในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศในวันที่ 16 มิถุนายน ทำให้เกิดรูปสัญลักษณ์ทางอินเทอร์เน็ตเชิงต่อต้านจีนจำนวนมากจากบัญชีโซเชียลมีเดียในอินเดีย
“ตั้งแต่นั้นมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเข้าสู่โหมดควบคุมความเสียหาย โดยลบข่าวการปะทะกันนั้นออกจากหน้าสื่อต่าง ๆ ที่บริหารโดยรัฐบาลจีน และจากไซต์โซเชียลมีเดีย” สำนักข่าวกลางไต้หวันรายงานในขณะนั้น
สำนักข่าวกลางไต้หวันบอกว่า การที่เครื่องบินของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนรุกล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของไต้หวัน เป็นการปลุกความเคลื่อนไหวของพันธมิตรชานมให้ตื่นตัวขึ้นอีกครั้งในโซเชียลมีเดีย
เมื่อเดือนเมษายน เกิดการโต้เถียงกันขึ้นในแฮชแท็กนี้ หลังจากที่กลุ่มชมพูน้อยไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับทวีตของไบรท์ นักแสดงหนุ่มจากซีรีย์ไทยสุดฮิต “เพราะเราคู่กัน” ที่มีข้อความเป็นนัยว่าฮ่องกงเป็นประเทศที่แยกจากจีน
นักแสดงสาว วีรญา ก็ถูกโจมตีจากกลุ่มชมพูน้อยเช่นกัน เพราะเขียนข้อความทำนองว่าไวรัสโคโรนามีต้นกำเนิดในห้องทดลองในเมืองอู่ฮั่น ทำให้ชาวเน็ตในจีนขู่ว่าจะเลิกดูละครไทย และไม่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยอีกหลังจากหมดการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ชาวเน็ตไทยโต้กลับด้วยวิดีโอคลิปภาพนักท่องเที่ยวจีนแย่งกันตักอาหารในภัตตาคารบุฟเฟต์แห่งหนึ่ง และพูดถึงหลายครั้งเกี่ยวกับเหตุนองเลือดในการปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปีพ.ศ. 2532 รวมทั้งรูปล้อเลียน “ชายผู้ยืนขวางรถถัง” ในท่าทางต่าง ๆ และรูปสลักที่ทำจากอาหารจานด่วน
ศึกออนไลน์นี้เป็นที่สนใจอย่างยิ่งของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่น ๆ ที่เหนื่อยกับการถูกโจมตีโดยกลุ่มชมพูน้อย ซึ่งต้องใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) ต้องห้าม เพื่อหลบหลีกจากการถูกเซนเซอร์ทั้งทางกฎหมายและไฟร์วอลล์ของรัฐบาลตัวเอง ข้อความแสดงความคิดเห็นของกลุ่มชมพูน้อยมักจะมีคำดูถูกที่ว่า “ni ma sile” (NMSL) ซึ่งแปลว่า “ขอให้แม่แกตาย” รวมอยู่ด้วย
ชาวทวิตเตอร์ในญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย ก็กระโจนเข้าร่วมในศึกออนไลน์นี้ด้วย
หวัง ต้าน อดีตผู้นำนักศึกษาปี 2532 แสดงความคิดเห็นในขณะนั้นว่า กลุ่มชมพูน้อยอาจดูเหมือนเป็นบุคคลทั่วไปที่ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่จริง ๆ แล้วได้รับการสนับสนุนและค่าตอบแทนจากรัฐบาลจีน
บทความนี้รายงานโดย ภาคภาษาจีนกลาง ของเรดิโอฟรีเอเชีย ต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์