ชาวจีนสั่งทุเรียนชายแดนใต้เพิ่มกว่าเท่าตัว แม้เจอผลกระทบโควิด
2020.07.31
ปัตตานี

แม้ว่าทั่วโลกได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มในมลฑลอู่ฮั่น ประเทศจีน มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ยอดส่งออกทุเรียนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี จีน เป็นตลาดหลักกลับพุ่งสูงขึ้น จากการเปิดเผยของ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ทั้งนี้ เมื่อช่วงทุเรียนเริ่มออกดอกในเดือนเมษายนนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้คาดว่ามีการรับซื้อทุเรียน ประมาณ 20,000 ตัน มากกว่าปีที่แล้ว 8,000 ตัน แต่ในสัปดาห์นี้ นายชนธัญ แสงพุ่ม กล่าวว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ทุเรียน จะเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ถึงสองเท่า
“การส่งออกทุเรียนปีนี้ มากกว่าปีที่ผ่านมา โรงงานก็ผลักดันให้มีการเพิ่มกำลังการผลิต โดยปีนี้จ้างคน ถึง 2,000 อัตรา เพื่อรองรับจำนวนผลผลิตที่เข้าสู่โรงงานมากขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว คาดว่าจะสามารถเพิ่มการส่งออกได้เฉพาะในส่วนโรงงาน ประมาณ 40,000 ตัน แค่ครึ่งปีสามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ประมาณ 20,000 ตันแล้ว โควิดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนปีนี้” นายชนธัญ แสงพุ่ม กล่าว
“ราคาทุเรียนปีนี้ไม่ได้ถูกลง แต่กลับสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 70-80 บาท ต่อกิโลกรัม สาเหตุที่ราคาสูง เพราะมีผู้รับซื้อจำนวนมาก เลยต้องเสนอราคาซื้อสูง คาดว่าปีนี้มีผลผลิตเท่าเดิม แต่จำนวนผู้ซื้อมีมากขึ้น ทำให้ความต้องการรับซื้อสูงเลยแข่งราคากัน” นายชนธัญ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายเย่า เหิงเซียว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ม่านกู่หวาง ฟู้ด จำกัด ซึ่งมีโรงงานอยู่ในอำเภอเทพา สงขลา กล่าวว่า ยอดสั่งซื้อทุเรียนจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าจีนรู้สึกว่าคุณภาพทุเรียนจากไทยในปีนี้ดีมาก
“ปีนี้ ออเดอร์เพิ่มขึ้นเท่านึง เพราะทุเรียนมีคุณภาพดีมาก ลูกค้าในจีนบอกว่า ทุเรียนที่นี่มีคุณภาพดี หรือดีกว่าที่อื่นด้วย” นายเย่า เหิงเซียว กล่าว
“ปีนี้ ศอ.บต. มาเจรจากับบริษัทว่า จะทำยังไงให้พนักงานทำงานตลอดทั้งปี ซึ่งปีที่แล้วเรามีพนักงาน 1,200 คน ปีนี้ พอออเดอร์เพิ่ม พนักงานก็ต้องเพิ่มเป็น 2,000 คน ทำงานที่นี่มาเป็นเวลา 1 ปี รู้สึกว่าตัดสินใจถูกแล้วที่มาลงทุนที่นี่ เพราะคนที่นี่ใจดี” นายเย่า กล่าวเพิ่มเติม
นายเย่า กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในประเทศจีน ไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคทุเรียน ความต้องการกลับเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือ ปริมาณผลผลิตทุเรียนมีไม่พอต่อการเดินเครื่องผลิตทั้งปี ทำให้บริษัทต้องขอรับการสนับสนุนเพิ่มจากภาครัฐ เพื่อแปรรูปสินค้าเกษตรอื่นเพิ่ม โดยวางแผนว่า จะผลิตกะทิแช่แข็ง ที่อาจทำให้บริษัทมีเงินหมุนเวียนได้ 1 พันล้านบาทต่อปี และจะมีการจ้างงานได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ ตามตัวเลขในปี 2561 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณหนึ่งแสนไร่ มีผลิตในปีเดียวกัน ประมาณ 55,000 ตัน
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2563 การส่งออกทุเรียนสดจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศขยายตัวอย่างน่าพอใจ โดยมีตลาดในประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 72 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด แม้จะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่การส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน กลับมีมูลค่าสูงถึงกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท (567 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัวขึ้นกว่าปีก่อน 78 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยอดส่งออกทุเรียนทั้งหมดมีมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาท (788 ล้านเหรียญสหรัฐ) ถือว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนอันดับหนึ่งของโลก ตามด้วยฮ่องกง และมาเลเซีย
นางอรมน ยังเปิดเผยว่า ปี 2562 หลังข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มีผลบังคับใช้ ทำให้ไทยสามารถส่งทุเรียนไปขายยังประเทศจีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ บรูไน อินเดีย ชิลี และเปรู โดยไม่เสียภาษี ตลอดทั้งปี จึงสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกทุเรียนได้มากกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท (1,465 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยจีน ประเทศอาเซียน และฮ่องกง ยังคงเป็นตลาดหลักในการส่งออกทุเรียนไทย
ผลผลิตทุเรียนประสบปัญหาในบางพื้นที่
นางรอเมาะ มีแต ชาวสวนทุเรียน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุเรียนมีราคาแพงในปีนี้ คือ การที่ทุเรียนออกลูกน้อย และมีโรคทุเรียนระบาด
“ฉันมีสวนทุเรียน 2 แห่ง คือ ในอำเภอรือเสาะ ปลูกทุเรียน 30 ต้น ไม่ออกสักลูกเดียว ส่วนสวนที่บันนังสตา ทุเรียนออกปกติ ก็ขายได้ราคาสูง คิดว่า เหตุผลที่ทำให้ทุเรียนปีนี้ราคาสูง เพราะทุเรียนมีน้อย อีกทั้งทุเรียนยังเป็นโรคอีก” นางรอเมาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนายสุริยนค์ ศรีสุข เจ้าของสวนทุเรียน และประธานวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา เปิดเผยว่า ทุเรียนจากตำบลตาชี ในปีนี้ผลผลิตน้อยลง แต่ราคาสูงขึ้น
“ทุเรียนตาชี ติดอันดับหนึ่งของยะลา ยะลาเลยส่งเข้าชิงระดับเขต แต่ทุเรียนมีน้อยกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ทั้งผลผลิตก็ออกมาไม่เท่ากัน มีทั้งหมด 3 รุ่น แต่ละต้นต้องดูเป็นอย่างดี เราคัดทุกเรียนทุกลูก เพื่อให้ได้ทุเรียนมีคุณภาพจริง ๆ เพื่อนำไปขายให้กับโครงการปิดทองหลังพระ ได้ราคากิโลละ 100 บาท ไม่ได้ส่งโรงงาน เพราะคิดว่าส่งปิดทองหลังพระ น่าจะได้กำไรมากกว่า” นายสุริยนค์ กล่าว
แต่นายรอมลี เงาะตาลี เจ้าของล้งรับซื้อทุเรียน ในจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ในปีนี้ราคาทุเรียนหน้าสวนสูงขึ้น ทำให้ล้งรับซื้อจากสวนราคาสูงขึ้นตาม ขณะที่ล้งขายออกในราคาเดียวกับปีก่อน โดยโรงงานยังรับซื้อทุเรียนในราคาเดิม จึงทำให้ล้งได้กำไรน้อยลง
“ปีนี้ราคาทุเรียนหน้าสวนสูงมาก ขณะที่ล้งยังคงอิงราคาเดิมของปีที่แล้ว จากการเอาทุเรียนไปขายให้กับโรงงานอีกทอดหนึ่ง ทำให้ได้กำไรไม่มากนัก" นายรอมลี กล่าว
นายรอมลี กล่าวว่า ราคาหน้าสวนที่สูงขึ้นปัจจุบัน เพราะชาวสวนตรวจสอบราคาเองทุกวัน และจากการที่ผลผลิตทุเรียนมีน้อยลง
อนึ่ง ตามข้อมูลสื่อท้องถิ่น รายงานว่า สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ได้สืบสานแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการปิดทองหลังพระยังเข้ามาให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ ได้เข้าไปดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการทุเรียนคุณภาพ หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว