ชาวไทยมุสลิมชายแดนใต้ดีใจ รัฐอนุญาตให้ละหมาดวันศุกร์-ละหมาดรายอ

มารียัม อัฮหมัด
2020.05.22
ปัตตานี
200522-TH-Imam-mosque-650.jpg ผู้นำมัสยิดกลาง จังหวัดนราธิวาส อ่านคุตบะห์วันศุกร์ให้กับผู้ชายที่มาละหมาด ซึ่งวันนี้เป็นการละหมาดครั้งแรกของเดือนรอมฎอน วันที่ 22 พฤษภาคม 2563
เบนาร์นิวส์

ประชาชนไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ แสดงความดีใจที่รัฐบาลอนุญาตให้เปิดการละหมาดวันศุกร์ รวมทั้ง ละหมาดรายอ ที่มัสยิดต่าง ๆ ได้แล้ว หลังจากถูกห้ามมาเป็นเวลาระยะหนึ่ง เพื่อการลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิด ซึ่งในปีนี้ เทศกาลรายออีฎิ้ลฟิตริจะตรงกับวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ แต่ยังมีชาวไทยบางส่วนตกค้างในมาเลเซียเสียใจที่กลับบ้านฉลองฮารีรายอไม่ได้

ทั้งนี้ สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศกำหนดการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1441 โดยให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ ในวันศุกร์ ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเห็นดวงจันทร์ จึงประกาศให้วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2563 ก็จะเป็นวันตรุษอีฎิ้ลฟิตริ

“ที่ผ่านมาที่ไม่มีการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด สำหรับผู้ชายรู้สึกขัด ๆ บอกไม่ถูก ขนาดละหมาดวันศุกร์ยังละหมาดไม่ได้ ละหมาดตาราเวี๊ยะห์ก็ต้องทำที่บ้าน สัปดาห์นี้ได้ไปละหมาดแล้ว ดีใจมาก ทุกคนทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพราะต่างอยากให้มีการละหมาดวันศุกร์ และที่สำคัญพวกเรายังจะได้ละหมาดรายอด้วย ยิ่งดีใจสุด ๆ” นายมะฆอซี อาบู ชาวจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันนี้

ส่วนในตลาดและย่านการค้าใจกลางเมือง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสี่อำเภอจังหวัดสงขลา ก็เต็มไปด้วยความคึกคักตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะใกล้วันฮารีรายอแล้ว ยังมีพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นส่วนหนึ่ง ได้รับเงินจากโครงการเยียวยาเกษตรกรของภาครัฐทันเวลาฮารีรายอ

"ฉันดีใจมาก ที่ได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร ฉันตั้งใจจะไปซื้อเสื้อผ้ารายอให้ลูก ๆ และซื้ออาหารเพื่อเตรียมฉลองออกรายอ” นางสือนะ อาแด เกษตรกรในจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันพฤหัสบดี

“ตอนนี้ในเมือง ทั้งที่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส คนเยอะมาก เพราะชาวบ้านเขาได้เงินเยียวยา แม้เศรษฐกิจแย่ ยางราคาถูก แถมได้ประสบปัญหาโควิดอีก .. ก่อนหน้านี้เราจะประสบปัญหาไม่มีเงิน ไม่มีอาหารกิน แต่วันนี้เราได้เงินทันมาฉลองรายอ ก็ดีใจมาก” นางสือนะ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ยังพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่ไปทำงานในมาเลเซีย แต่ร้านต้องปิดตัวลงเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีรายได้ และยังไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งมาเลเซียก็ยังปิดเมือง ทำให้เจ้าตัวมีความเสียใจอย่างยิ่ง

“ไม่อยากบรรยายเลย เพราะตอนนี้ที่คุยอยู่ เรายังร้องไห้เมื่อนึกถึงบ้าน อยากกลับมาก เพื่อน ๆ ก็อยากกลับแต่เรากลับไม่ได้ หนังสือเดินทางอยู่ที่เจ้าหน้าที่มาเลเซีย เขาไปทำเวิร์คเพอร์มิต พวกเราไม่สามารถทำอะไรได้ คิดถึงบ้าน คิดถึงทุกคน ร้องไห้มาตลอด เมื่อคิดถึงบ้าน แต่ก็พยายามอดทน เพราะคิดว่านี้อาจเป็นบททดสอบสำหรับเราที่อัลลอฮ์ได้ทดสอบ ก็ต้องอดทน จนกว่าจะได้กลับบ้าน” น.ส.พาตีเมาะ เงาะตาลี ชาวอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ที่ทำงานในร้านต้มยำ ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ชายชาวมุสลิม ขณะออกจากมัสยิดหลังพิธีละหมาดเป็นวันศุกร์แรกในรอบสองเดือน ที่รัฐบาลให้ปิดมัสยิดชั่วคราว ในห้วงป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 จังหวัดนราธิวาส วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 (เอเอฟพี)
ชายชาวมุสลิม ขณะออกจากมัสยิดหลังพิธีละหมาดเป็นวันศุกร์แรกในรอบสองเดือน ที่รัฐบาลให้ปิดมัสยิดชั่วคราว ในห้วงป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 จังหวัดนราธิวาส วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 (เอเอฟพี)

นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตามที่จุฬาราชมนตรี ประกาศงดละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) โดยให้คณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัด ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมของแต่ละมัสยิด และประสานแต่ละอำเภอ เพื่อให้มัสยิดในแต่ละอำเภอต้องลงทะเบียนก่อน หลังจากนั้น ก่อนเปิดใช้ละหมาด ต้องทำความสะอาด มีอุณหภูมิวัดไข้ เจลแอลกอฮอล์ ผู้มาละหมาดต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ต้องอาบน้ำละหมาดจากที่บ้าน พร้อมนำพรมละหมาดมา (จาเดาะ) หลังจากละหมาดเสร็จ ต้องทำความสะอาดทุกครั้ง

สำหรับมัสยิดที่มีการละหมาดฮารีรายออีฎิ้ลฟิตริ ต้องจัดเตรียมพื้นที่เปิด เช่น ลานมัสยิด รวมถึงพื้นที่ในอาคารมัสยิด อาคารเรียนประจำมัสยิด ที่โล่งกว้าง หรือสนามกีฬาในชุมชน สำหรับละหมาดฮารีรายออีดิ้ลฟิตรี ให้รีบปฏิบัติศาสนกิจ เมื่อเข้าเวลาเร็วกว่า และให้กระชับเวลาในการละหมาด และใช้เวลา 20 นาที ไม่ต้องอ่านคุตบะห์ และที่สำคัญ มัสยิดต้องงดการจัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาร่วมละหมาด และการจัดกิจกรรมอื่น ๆ รวมทั้ง ให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมหรือการรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก การเยี่ยมญาติ การเยี่ยมกูโบร์ (สุสาน) และการจัดเลี้ยงอาหารในเคหะสถาน หากมีความจำเป็นให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และคำแนะนำของทางราชการ และประกาศจุฬาราชมนตรีอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์ทินกร บินหะยีอารง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุพราชยะหา กล่าวเสริมว่า ทุกคนที่จะมาละหมาดที่มัสยิด ซึ่งจะเริ่มในวันศุกร์เป็นวันศุกร์แรก ขอให้ปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ที่มีอาการไข้ ไอจาม หรือ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ก็ควรงดมาละหมาดที่มัสยิดก่อน โดยให้ละหมาดที่บ้านแทน เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ การละหมาดฮารีรายอวันอีฎิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะฮ์ศักราช 1441 ซึ่งเป็นการละหมาดที่ยาวกว่าละหมาดวันศุกร์ ซึ่งละหมาดฮารีรายอวันอีฎิ้ลฟิตริ เป็นวันครอบครัวรวมญาติพี่น้อง และเป็นวันแห่งความสุขของพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศอีกด้วย โดยขณะนี้ ถือเป็นช่วงสุดท้ายของการถือศีลอดแล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง