โควิด-19 ซ้ำทุกข์ชาวจังหวัดชายแดนใต้
2020.04.16
ปัตตานี และกรุงเทพฯ

โรคโควิด-19 ได้คร่าชีวิตชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ประกอบไปด้วยประชากรส่วนใหญที่นับถือศาสนาอิสลามไปแล้วอย่างน้อย 5 ราย นับตั้งแต่ทางการไทยพบตัวผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น ต้นกำเนิดการระบาด ที่มาท่องเที่ยวในเมืองไทยเมื่อกลางเดือนมกราคมนี้
นับถึงปัจจุบันนี้ ตามข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีผู้ป่วยสะสมในสามจังหวัดชายแดนใต้ รวม 294 ราย คิดเป็นประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ ซึ่งมีอยู่ 2,672 ราย แม้ว่าพื้นที่ที่มีความยากจนติดอันดับต้นๆ ของประเทศแห่งนี้ ที่มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จะมีประชากรคิดเป็นเพียงประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดก็ตาม
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และรองประธาน ชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ กล่าวว่า สามจังหวัดชายแดนใต้มีความพร้อมเต็มที่ในการรับมือกับมหาภัยโควิด หากว่าจำนวนผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปอดอักเสบและมักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต มีไม่มากเกินไปจนล้นห้องพยาบาล
“กลุ่มนี้ถ้าป่วยพร้อมกันเยอะๆ มีการระบาดมากก็จะมีปัญหา เครื่องช่วยหายใจไม่พอ ห้องไอซียูไม่พอ” นายแพทย์สุภัทร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า มีเครื่องช่วยหายใจทั่วประเทศ 10,184 เครื่อง ว่างพร้อมใช้งาน 2,855 เครื่อง ส่วนภาคใต้ มีเครื่องช่วยหายใจทั้งหมด 1,530 เครื่อง ว่างพร้อมใช้งาน 568 เครื่อง ขณะที่ยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยอีกเกือบสี่พันเตียง
นายแพทย์สุภัทร กล่าวว่า โชคดีที่กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม มีเพียงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นมีอาการคล้ายไข้หวัด
“สำหรับยอดผู้ป่วยหนักทั้งประเทศ 50 ราย โดยประมาณก็ถือว่าน้อยมาก ทั้งประเทศ 77 จังหวัด โดยเฉลี่ยมีไม่ถึงจังหวัดละคน ก็ถือว่าน้อยมาก ถ้าแบบนี้ก็ถือว่ายังรับมือไหว ซึ่งกลุ่มนี้ เราจะส่งต่อ ทุกโรงพยาบาลอำเภอจะส่งต่อโรงพยาบาลจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โกลก หาดใหญ่ สงขลา มอ. คือ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ โรงพยาบาลจังหวัด กลุ่มนี้ต้องการเครื่องช่วยหายใจและต้องการห้องไอซียู” นายแพทย์สุภัทร กล่าวเพิ่มเติม
ผู้ป่วยกลุ่มดะวะห์จากการชุมนุมทางศาสนา
ทางโรงพยาบาลจะนะเอง ได้รักษาผู้ป่วยกลุ่มดะวะห์ตับลีฆ 6 ราย ที่ติดเชื้อโควิดจากการชุมนุมทางศาสนาที่มัสยิดศรีเปตาลิง ในกรุงกัมลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในเดือนกุมภาพันธ์
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การชุมชุมทางศาสนา (โยร์) ของกลุ่มตับลีฆ เป็นเครือข่ายที่มีฐานอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งจัดให้มีขึ้นในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ได้เป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อกลุ่มใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีผู้ติดเชื้อจากมาเลเซียอย่างน้อย 13 คน และจากอินโดนีเซีย อย่างน้อย 58 คน
นายกอเซ็ง อาแวกือจิ อายุ 49 ปี มีอาชีพรับจ้าง อาศัยอยู่ในพื้นที่ ม.6 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในจำนวนคนไทย 132 คน ที่ไปร่วมงานเผยแพร่ทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย ได้เสียชีวิตเพราะโรคโควิด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม หลังรับการรักษาในโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก นอกจากนั้น ชายชาวสงขลาอีกหนึ่งราย ต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคเดียวกันเพราะติดเชื้อจากลูกชายที่ไปร่วมงานดังกล่าว
ปิดหมู่บ้าน รอมฎอนที่เงียบเหงา และความทุกข์ของชาวบ้าน
การระบาดของโรคโควิด ได้ทำให้สำนักจุฬาราชมนตรี ออกประกาศให้ชาวมุสลิมทั่วประเทศปิดมัสยิด งดการละหมาดวันศุกร์ เพื่อลดการระบาดของโรค นอกจากนั้น ยังได้ระงับการละหมาดตารอเวียะห์ หรือการละหมาดเมื่อละศีลอด ในเดือนรอมฎอนในตอนค่ำที่ปกติจะทำที่มัสยิด โดยให้ทำที่บ้านแทน
“ในเดือนนี้ อัลลอฮ์ บอกไว้ว่าให้เราอดทน แบ่งปันกัน ปีนี้สถานการณ์โควิดกำลังระบาด ในวิกฤติแบบนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ทุกคนจะต้องอดเหมือนกัน คนที่มีจะได้เข้าใจถึงคนไม่มี” นายอิรรอม แวมูซอ อายุ 52 ปี เจ้าของร้านอาหารขนาดย่อม ในจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“และภารกิจในช่วงเดือนรอมฎอน ก็สามารถทำได้ปกติ เวลาออกไปจับจ่ายซื้อของ ก็เชื่อว่ายังสามารถออกไปซื้ออาหารได้ การละหมาดที่มัสยิดก็ทำที่บ้านแทน อาจเป็นสิ่งที่ดีมากที่ทุกคนในครอบครัวได้มาร่วมทำกิจกรรมพร้อมกัน” นายอิรรอม กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวทั่วประเทศแล้ว หน่วยงานในบางพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังได้ประกาศปิดหมู่บ้าน เพราะต้องกักตัว และมีผู้ติดเชื้ออีกด้วย โดยให้งดการเดินทาง ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำมาหากินของผู้คนไปด้วย
ทั้งนี้ สามจังหวัดชายแดนใต้ติดอันดับ 21 จังหวัดที่มีความยากจนที่สุดของประเทศ โดยหนึ่งครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 ถึง 20,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ครอบครัวในกรุงเทพ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนราว 45,000 บาท
เศรษฐกิจของพื้นที่นี้ ขึ้นอยู่กับการทำสวนยางพาราที่ค่อยไม่มีการสั่งซื้อจากจีนมากนักในขณะนี้ การทำสวนปาล์มน้ำมันสวน ผลไม้ที่ราคาตกต่ำ การประมงที่แรงซื้อลดลง รวมทั้งการหดหายไปของนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณสองล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวเกือบสี่สิบล้านคน โดยหนึ่งในสี่เป็นลูกค้าจากประเทศจีน แต่ในปีนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมจะติดลบ 5.3 เปอร์เซ็นต์
“ความยากของโควิด คือการจัดความสมดุลระหว่างการควบคุมโรค กับการพยุงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ถ้าเราควบคุมโรคเข้มข้นมากจนเกินไป เศรษฐกิจก็จะแย่มาก คือ ผมเห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านจริง ๆ ชาวประมงที่จับปลาได้ ก็ไม่รู้จะขายใคร เพราะภัตตาคารปิด ร้านค้าปิด คนบริโภคน้อยลง” นายแพทย์สุภัทร กล่าว
แม้ว่ารัฐบาลจะเตรียมหาเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจและช่วยเหลือคนตกงาน ที่อยู่นอกระบบสวัสดิการสังคม คนละ 15,000 บาท รวมในระยะเวลาสามเดือน หรืออาจจะขยายเป็นหกเดือน แต่การลงทะเบียนขอรับเงินนั้นยังไม่สะดวก รวมทั้งระบบการคัดกรองที่ยังไม่สมบูรณ์
น.ส.อัยเสาะ เงาะตาลี อายุ 32 ปี ชาวอำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี มีอาชีพเป็นแม่ค้าขายไก่ตามตลาดนัดหรืองานต่างๆ กล่าวว่า ตนเองลงทะเบียนรับเงินเยียวยาไปนานโดยให้รุ่นน้องที่เก่งด้านเทคโนโลยีช่วย แต่ ณ เมื่อวานนี้ ทางกระทรวงการคลัง ส่งเมสเสจมาว่า ยังอยู่ในระหว่างการตรวจข้อมูลที่ส่งไปเพิ่มเติม
“ในหมู่บ้านก็มีคนติดโควิด เจ้าหน้าที่เลยปิดหมู่บ้าน ออกจากบ้านได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่เราไม่มีเงินแล้ว... โชคดีที่มีผู้ใจบุญให้เงินและนมมา ฉันจึงได้ป้อนนมลูกทั้งน้ำตา” น.ส.อัยเสาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ไทย-มาเลเซียประกาศปิดด่านชายแดน คนงานไทยตกค้าง
เนื่องจากตำแหน่งงานในพื้นที่มีน้อย ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้ราว 200,000 คน ได้เดินทางไปหางานทำในมาเลเซีย แต่ได้เดินทางกลับมาแล้วส่วนหนึ่ง ก่อนมาเลเซียประกาศปิดพรมแดน และห้ามการเดินทางของผู้คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประเมินว่า มีคนไทยตกค้างอยู่ราวกึ่งหนึ่ง เมื่อต้นเดือนเมษายน ซึ่งทางการไทยและอาสาสมัครชาวไทยในมาเลเซียได้พยายามติดต่อเขาเหล่านั้นและให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ทั้งนี้ มาเลเซียได้ยืดการปิดพรมแดนและการห้ามเคลื่อนย้ายบุคคล ไปจนถึงวันที่ 28 เมษายน
“ผมอยากกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ อยู่ก็ไม่มีงานทำ เงินไม่มี แต่โชคดีพอที่ได้รับการช่วยเหลือบ้างจากเพื่อนชาวไทยและสถานทูตฯ รอวันกลับบ้านทุกวัน ทราบว่าเขาจะขยายวันปิดด่านอีก รู้สึกหายใจไม่สะดวก เครียดบอกไม่ถูก อยากบอกว่าพวกเราอยากกลับบ้าน” นายอิสมาแอ มีแต ชาวปัตตานี ที่ไปทำงานเป็นพนักงานร้านต้มยำแห่งหนึ่ง ในกัวลาลัมเปอร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการไทยกล่าวว่า จะมีการเปิดจุดผ่านแดนห้าแห่ง คือ หนึ่ง-จุดผ่านแดนถาวร อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา สอง-จุดผ่านแดนถาวร สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส สาม-จุดผ่านแดนถาวร อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สี่-จุดผ่านแดนถาวร อำเภอเมืองสตูล "ท่าเรือตำมะลัง" จังหวัดสตูล และ ห้า-จุดผ่านแดนถาวร วังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เพื่ออนุญาตให้คนไทยที่อาศัยใกล้แนวชายแดนราว 8,000 คน เดินทางกลับเข้ามาได้วันละ 350 คน โดยจะต้องมีการกักตัวระวังโรคในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ได้จัดเตรียมพื้นที่ควบคุมโรค เพื่อกักตัวคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งหมด 67 แห่ง จำนวน 2,495 ห้อง ไว้แล้ว
กลุ่มขบวนการฯ ประกาศพักยิงเป็นครั้งแรก
เมื่อตอนต้นเดือน ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ได้ยุติการปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองสามารถให้ความช่วยเหลือในการแพร่ระบาดใหญ่ ประชาชนในพื้นที่ได้โดยปลอดภัย โดยมีเงื่อนไขว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องไม่ปฏิบัติการต่อสมาชิกกลุ่มของตนด้วย
การประกาศหยุดยิง เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญฆาตกรรมกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่า เป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น เสียชีวิตในพื้นที่ใกล้เขื่อนปัตตานี 4 ราย โดยทางทหารเชื่อว่า คนร้ายเหล่านั้นก่อเหตุสังหารอาสาสมัครและชาวบ้าน ในตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา เสียชีวิตถึง 15 ราย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และหลังจากนั้น บีอาร์เอ็นยังได้บอกใบ้ว่า ตนเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดหน้าสำนักงาน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 25 ราย อีกด้วย ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ประณามการกระทำดังกล่าว
พล.ต.ปราโมทย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มที่อ้างตัวเป็น BRN ออกมาแถลงนั้นว่า ไม่มีนัยยะสำคัญใดๆ
“ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐทำหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย ด้วยการบังคับใช้กฏหมายกับผู้กระทำความผิดทั้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น ในฐานะความเป็นรัฐที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฏหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการสั่งหยุดยิง” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้น ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 คน
มาตาฮารี อิสมาแอ ในนราธิวาส ร่วมรายงาน