สภาความมั่นคงฯ เสนอศูนย์โควิดฯ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกหนึ่งเดือน
2020.05.21
กรุงเทพฯ และปัตตานี
ในวันพฤหัสบดีนี้ ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติเสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิมที่จะหมดอายุในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ให้มีอายุถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยในวันพรุ่งนี้ ที่ประชุม ศบค. จะมีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ และหากเห็นชอบจะส่งต่อให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารหน้า ก่อนจะมีการประกาศใช้จริงในลำดับต่อไป
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง หน่วยข่าวกรอง กระทรวงสาธารณสุข และตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
“ดูเหมือนสถานการณ์ก็จะดีขึ้น แต่อย่าลืมว่า สถานทั่วโลกยังน่าเป็นห่วงอยู่ ขณะนี้ทั่วโลกมี 4-5 ล้านคนแล้ว แล้วก็เพิ่มขึ้นทุกทุกวัน ตัวประเทศไทยเอง แม้จะประสบความสำเร็จ แต่การผ่อนคลายแต่ละระยะ จะต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะเราไม่ต้องการให้การติดเชื้อระลอกที่สองเข้ามาสู่ประเทศไทย เพราะถ้ามีการติดเชื้อระลอกสอง มันเสียหายหนักไปกว่าเดิม” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว
“ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นที่เราจัดการประชุมในวันนี้ ทุก ๆ คนก็ได้เห็นพ้องต้องกันทุก ๆ หน่วย… คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ และแน่นอนด้านเศรษฐกิจ เอามาชั่งน้ำหนักกัน เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกหนึ่งเดือน เพื่อให้ครอบคลุมเดือนมิถุนายนทั้งเดือน แต่ว่าอันนี้เป็นข้อสรุปที่เราได้วันนี้ เราจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค. ในวันพรุ่งนี้ แล้วถ้า ศบค. เห็นด้วยว่าต้องต่อไปอีกหนึ่งเดือน ก็จะต้องนำเข้าสู่ ครม. พิจารณาในวันอังคารสัปดาห์หน้า” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สำหรับควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลบังคับใช้ครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ให้มีผลถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ก่อนที่ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาจะมีการประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ซึ่งหากมีการต่ออายุอีกครั้งตามที่ สมช.เสนอ จะเป็นการต่ออายุครั้งที่ 2
พล.อ.สมศักดิ์ ระบุว่า การพิจารณาของ สมช. ให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยมีความสำคัญใกล้เคียงกับเรื่องความมั่นคง ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย มีทิศทางที่ดีขึ้นจนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดเหลือหลักหน่วยในแต่ละวัน ทำให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพจนองค์การอนามัยโลก และทั่วโลกชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทย
“ตั้งแต่วันแรกที่ท่านนายกฯ ได้ตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้ามาควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด เราไม่เคยคำนึงถึงเรื่องการเมืองเลย… แน่นอนว่ามันมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว แต่ทั้งหมดนี้เพื่อเหตุผลทางด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ ไม่มีนัยทางการเมือง ในอาทิตย์หน้าผมจะประชุมการผ่อนคลายระยะที่สาม ก็จะพูดเรื่องเคอร์ฟิวด้วย ก็จะพิจารณาให้มันอยู่ในห้วงเวลาที่เหมาะสม แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ถึงเท่าไหร่” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว
ต่อการขอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายอิสลียาส ลาเต๊ะ ชาวจังหวัดยะลา อายุ 54 ปี กล่าวว่า คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คุ้นเคยดีกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2547, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548, และ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว
“คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ชินแล้ว เราก็ยังอยู่ได้แบบสุกๆ ดิบๆ จะเป็นไร ถ้ามีการประกาศต่อทั่วประเทศ ที่กังวลกว่าคือ กฎหมายพิเศษอาจถูกยืดไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเครื่องมือตอบสนองจุดประสงค์ทางการเมือง กังวลถึงปัญหาระยะยาวมากกว่า ส่วนการใช้ชีวิตถือว่า ปกติ เคยเดือดร้อนยังไง ก็เดือดร้อนอย่างนั้น ทหารเคยคุกคามชาวบ้านแบบไหน มีการประกาศกฏหมายทับซ้อน ก็ยังทำเหมือนเดิม แต่ชาวบ้านทุกคนก็เฝ้าระวังโรค เพราะกลัวการระบาด และต้องการให้โรคหมดไปโดยเร็ว” นายอิสลียาส กล่าว
ด้าน นายนาแซ ยาสอามีน ชาวจังหวัดปัตตานี อายุ 36 ปี กล่าวว่า การประกาศจะขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโควิด-19 และการมีเคอร์ฟิว ไม่ได้กระทบการใช้ชีวิตของตนเอง
“ต่ออีกหน่อยก็ถือว่าไม่กระทบอะไรมากไปกว่านี้แล้ว ทุกคนจะได้ระวังโรคโควิด-19 กัน เพราะเขากลัวเจ้าหน้าที่ หลายคนกลัวถูกปรับเงิน จึงต้องใส่หน้ากากปิดหน้า บางคนต้องล้างมือเก็บตัวอยู่ในบ้าน เพราะไม่อยากมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ตอนนี้ ถนนทุกเส้นมีเจ้าหน้าที่ตรวจเข้มข้น โดยเฉพาะถนน 410 สายเก่าปัตตานี-ยะลา ส่วนเคอร์ฟิวห้าทุ่มถึงตีสี่นั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่บ้านอยู่แล้ว ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ออกไปไหน ดังนั้นเลยไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด” นายนาแซ กล่าว
ไทยยืนยันพบติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย
ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระบุว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศไทยยังคงเป็นเลขตัวเดียว ซึ่งเป็นผลของการประกาศมาตรการต่างๆของรัฐบาล การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการบังคับใช้เคอร์ฟิว
“วันนี้รายงานผู้ป่วยรายใหม่ ยังอยู่ในเลขหลักเดียว คือ 3 ราย สะสม 3,037 ราย หายป่วยแล้ว 2,897 ราย เพิ่มขึ้น 9 ราย ข่าวดีไม่มีเสียชีวิตเพิ่มยังอยู่ที่ 56 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 84 ราย… ตั้งแต่เราประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศเคอร์ฟิว ก็ทำให้กราฟลดลงมาเรื่อยๆ และพอมาตรการที่หนึ่งที่เราได้ดำเนินการตั้งแต่ 3 พฤษภาคมตัวเลขยังอยู่ในหลักเดียวตลอด ยกเว้นวันที่ 18 ซึ่งเป็นเรื่องของเสตท ควอรันทีน ยังเป็นเลขตัวเดียวตลอด สลับกับ 0” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า จากการตรวจของเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 พบสถานประกอบการ 31 แห่งที่ไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ทั้งหมด 21,697 แห่ง ที่เจ้าหน้าที่ลงตรวจ โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ภายในร้านไม่ยอมเว้นระยะห่าง 52.3 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ใช้บริการหนาแน่น 16.3 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีเจล สบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ 12 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่า มีการโทรเข้ามาร้องเรียน 84 ครั้ง ส่วนมากเป็นการร้องเรียนเรื่องการจับกลุ่มดื่มสุรา
“คนที่ติดเชื้อแล้ว ในความเป็นจริง พวกเขาเหล่านี้ เราต้องการพลาสมาเขา เราต้องการเลือดเขา เพราะเขามีภูมิคุ้มกัน เขาต่างหากที่สะอาดกว่าเรา เขาต่างหากที่มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งกว่าเรา ไปรังเกียจเขาได้อย่างไร เราต่างหากที่ยังไม่เคยติดเชื้อเลย เราเป็นกลุ่มเสี่ยงต่างหาก เราจะเอาโรคไปติดเขาซะมากกว่า แต่ถึงเขาติดเขาก็ไม่เป็นไร เพราะเขามีภูมิคุ้มกันแล้ว เราต้องมั่นใจในความรู้นี้” นพ.ทวีศิลป์
เราไม่ทิ้งกัน เยียวยาแล้ว 14.2 ล้านราย คาดโอนครบ 15 ล้านรายในสัปดาห์หน้า
นายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ได้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว 14.2 ล้านคน จากผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดประมาณ 15 ล้านคน โดยกลุ่มที่เหลือจะสามารถได้รับเงินครบถ้วนในสัปดาห์นี้ ซึ่งรอบการโอนวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 มี 2.3 แสนคน และวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 จำนวน 4.4 แสนคน โดยหากบัญชีของผู้ขอรับการเยียวยาไม่มีปัญหา มีชื่อและนามสกุลตรงกับข้อมูลที่ลงทะเบียน และบัญชีไม่ถูกปิด ก็จะได้รับเงินครบถ้วน
สำหรับโครงการเยียวยาบนเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน ปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 28.8 ล้านคน มีการลงทะเบียนซ้ำ 4.8 ล้านคน และลงทะเบียนไม่สำเร็จ 1.7 ล้านคน ปัจจุบัน มีผู้เข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์ 22.3 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 15 ล้านคน ไม่ได้รับสิทธิ 7 ล้านคน และอยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวนสิทธิ 2.4 แสนคน โดยสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ สามารถจำแนกได้เป็นผู้ไม่ขอทบทวนสิทธิ 4.8 ล้านคน ผู้ไม่ผ่านการขอทบทวนสิทธิ 1 ล้านคน ผู้ยกเลิกการลงทะเบียนหรือยกเลิกการขอทบทวนสิทธิ 9 แสนคน และผู้ที่ถูกขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติม แต่ไม่ได้เข้าให้ข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด 3 แสนคน