การบินพลเรือน ขยายเวลาห้ามบินเข้าไทยถึง 18 เม.ย. 63

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2020.04.06
กรุงเทพฯ และปัตตานี
200406-TH-COVID-travel-ban-800.jpg กลุ่มดะวะห์ชาวไทย เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซียถึงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ หลังจากทางการอินโดนีเซียสั่งยุติการชุมนุมทางศาสนา วันที่ 6 เมษายน 2563
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศขยายเวลาการห้ามเครื่องบินพาณิชย์บินเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)  ด้านโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่ได้ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ตามที่มีกระแสข่าวหลังจากที่เมื่อวานนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งทุกจังหวัดจัดเตรียมพื้นที่กักตัวระดับจังหวัด วางระบบการควบคุมการกักตุนสินค้า และวางระบบการจัดส่งสินค้า

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงนามในประกาศ กพท. เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 2 ซึ่งสืบเนื่องจากประกาศฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่ห้ามอากาศยานบินเข้าประเทศไทยจนถึงวันที่ 6 เมษายน 2569 เวลา 23.59 น. โดยประกาศฉบับใหม่นี้ ได้ขยายเวลาการห้ามบินเข้าประเทศไทยออกไปอีก

“เพื่อประสิทธิผลในการป้องกันและควบคุมโรค อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ 1. ห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2563 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 18 เม.ย. 2563 เวลา 23.59 น.” ประกาศดังกล่าว ระบุ

“2. การอนุญาตการบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกให้แก่อากาศยานขนส่งคนโดยสารสำหรับการบินเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงระยะเวลาตาม 1.ให้เป็นอันยกเลิก 3. ข้อห้ามตาม 1. ไม่รวมถึงอากาศยานดังต่อไปนี้ (1.) อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (2.) อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (3.) อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง (4.) อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (5.) อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับภูิลำเนา (6.) อากาศยานขนส่งสินค้า” ตอนหนึ่งของประกาศระบุ

ประกาศยังได้ระบุให้ ผู้โดยสารบนอากาศยานที่ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานต้นทางก่อนประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องได้รับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

หลังจากมีมาตรการห้ามเครื่องบินเข้าประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า มีผู้โดยสารชาวไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศ 48 คน แบ่งเป็นที่ญี่ปุ่น 12 คน เกาหลีใต้ 35 คน และเนเธอร์แลนด์ 1 คน โดยชาวไทยทั้งหมดนี้ อยู่ในการดูแลของสถานทูตไทยประจำประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ในตอนเย็นวันนี้ ชาวไทย 76 คน ที่เดินทางไปร่วมการชุมนุมทางศาสนาในอินโดนีเซีย แต่ถูกทางการสั่งระงับเพราะกลัวการแพร่เชื้อโควิด ได้เดินทางมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ โดยยังมีอีก 27 คน ที่ไม่สามารถเดินทางกลับได้ เพราะต้องถูกกันตัวไว้ดูอาการสองสัปดาห์ ภายใต้การควบคุมของสถานทูตไทยในอินโดนีเซีย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า เที่ยวบินที่มาจากทางอินโดนีเซียเที่ยวนี้ได้ขออนุญาตไว้ก่อน มีการเตรียมความพร้อมจัดเตรียมพื้นที่ที่เรียกว่า State Quarantine ซึ่งมีมาตรการว่าผู้โดยสารจะต้องมีใบรับรองแพทย์ และหนังสือรับรองการเดินทาง

คนไทยติดอยู่ในมาเลเซียกว่าหกพันคน

หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ออกประกาศภาวะฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว สถานทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้แจ้งให้คนไทยในมาเลเซียชะลอการเดินทางเข้าประเทศ รวมทั้งด่านทางบก 9 ด่าน ในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1-15 เมษายน นั้น ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางกลับบ้านจากกัวลาลัมเปอร์ ในตอนค่ำของวันที่ 2 เมษายน และมาถึงด่าน Bukit Kayu Hitam ติดกับชายแดนด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในเช้าวันที่ 3 แต่ต้องติดที่ด่านฝั่งมาเลเซีย แม้ว่าในคำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้เริ่มเคอร์ฟิว ในเวลา 4 ทุ่ม ของวันศุกร์ที่ 3 เมษายน ก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความผิดหวังให้กับแรงงานไทย เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดในจังหวัดสงขลา ยอมให้เข้าประเทศ ทำให้ทางสถานเอกอัครราชทูต ต้องแจกอาหารกล่อง ถุงยังชีพ หน้ากากอนามัยก่อนจะส่งกลับไปยังที่พัก ซึ่งในกลุ่มนี้ มีเด็กหลายคน และต่างอยู่ในสภาพที่อิดโรย เพราะไม่ได้ทานอาหารและเหนื่อยล้าจากการเดินทาง

ในเรื่องนี้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ได้ประสานงานจากอาสาสมัครคนไทยในประเทศมาเลเซีย พบข้อมูลจำนวนคนไทยที่เดือดร้อนจากรัฐต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนกับสถานทูตและกลุ่มต้มยำทั้งหมดจำนวนประมาณ 6,000 ราย ประกอบด้วยประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 5,000 ราย และพื้นที่อื่นๆ อีกกว่า 1,000 ราย ทุกคนประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนา

ทางนายตูแวดานียา มือรีงิง ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์ในมาเลเซียวันต่อวัน และติดตามงานการรวบรวมรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากโควิค-19 เพื่อให้ง่ายต่อการให้การช่วยเหลือ

“ในเบื้องต้น และจะทยอยส่งการช่วยเหลือต่อไปให้ถึงมือผู้ได้รับผลกระทบภายในระยะเวลาอันใกล้ ตอนนี้เรามีผู้ที่อยู่หน้างานที่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมต้มยำในแต่ละรัฐ เช่น รัฐสลังงอร์ ยะโฮบารู เคดะห์ และรัฐอื่น ๆ” นายตูแวดานียา กล่าว

ทั้งนี้ มีการวางแผนให้ทางอาสาสมัครคนไทยของแต่ละรัฐ ไปบริหารจัดการในการซื้อข้าวสารอาหารแห้งแก่คนไทยที่อาศัยอยู่ในรัฐนั้นๆ เพื่อยังชีพในระยะสั้น เป็นเงินจำนวนประมาณ 5,000 ริงกิตต่อรัฐ

ยอดตายเพิ่มสามราย รวมเป็น 26 ราย ยังไม่มีเฟอร์ฟิว 24 ชั่วโมง

ในวันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น และเสียชีวิตอีกสามราย

“วันนี้ เพิ่มขึ้น 51 ราย กระจายอยู่ใน 66 จังหวัด ตัวเลขสะสมตอนนี้อยู่ที่ 2,220 ราย ซึ่งก็มีผู้ป่วยที่หายแล้ว 793 ราย กลุ่มใหญ่ อยู่ที่ 25 คน สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ กระจายไปหลายจังหวัด พิธีกรรมทางศาสนาเหลือแค่ 3 กลุ่ม ไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 19 คน 13 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ดูแลผู้ป่วย รับประทานอาหารร่วมกัน อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 7 ราย มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันนี้ อีก 3 ราย รวมสะสม 26 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงตามที่มีกระแสข่าว เพียงแต่กระทรวงมหาดไทยให้ข้าราชการเตรียมพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้

“ยังไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงแต่อย่างใด เพราะตอนนี้ เราเพิ่งประกาศในช่วงเวลาสี่ทุ่มถึงตีสี่ของทุกวัน ถ้าทำได้แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง มาตรการอื่นๆ ไม่ต้องมีเลย แต่ถ้าตัวเลขยังเพิ่มขึ้น จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข แสดงว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ถึงตรงนั้นอาจจะมีการปรับเพิ่ม” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม

ศบค. เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน เวลา 22.00 น. ถึงวันที่ 6 เมษายน เวลา 04.00 น. ทั้งประเทศมีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว 919 ราย มีการร่วมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงที่เสียงต่อการแพร่เชื้อในเคหสถานอีก 79 ราย หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกตักเตือน และดำเนินคดี โดยตักเตือนไปแล้ว 315 ราย และถูกดำเนินคดี 708 ราย ในวันที่ 5 เมษายน ทั่วประเทศมีจุดตรวจ 836 จุด และในวันที่ 6 เมษายน จะเพิ่มจุดตรวจเป็น 923 จุด

ขณะที่ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 1,324,907 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 184 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 73,703 คน รักษาหายแล้ว 273,546 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น

ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง