นายกรัฐมนตรีระบุ ยังไม่ยกเลิกมาตรการฉุกเฉินโควิด-19

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.04.21
กรุงเทพฯ
200421-TH-COVID-1000.JPG นักเรียนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สวมชุดป้องกันไวรัสโคโรนา ขณะรอขึ้นเครื่อง ในการส่งกลับประเทศจีน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 21 เมษายน 2563
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ยังไม่มีแผนยกเลิกมาตรการฉุกเฉิน โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ในภายหลัง และจะมีการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันอังคารหน้า เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ในอนาคตจะมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่อใด เพราะจำเป็นต้องประชุมกับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไปก่อน

“สถานการณ์หลายๆอย่างก็ดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อเพิ่ม ก็ลดลงตามลำดับ หลายวันมาแล้ว ก็คงต้องดูต่อไป เพื่อดำเนินการในระยะต่อไป อย่าเพิ่งผลีผลาม หลายท่านก็เรียกร้องให้มีการปลดนั่นปลดนี่ในเวลานี้ คิดว่าเราต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ฟังข้อมูลจากด้านการสาธารณสุข และมาตรการอื่นว่ามีการรองรับได้เพียงพอแล้วหรือไม่ ผมไม่ต้องการให้การตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายๆอย่าง ผมต้องการให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ถ้าเราเริ่มอะไรหรือปลดอะไรไป สิ่งที่จะตามมาก็คือ หากมันแพร่ระบาดเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดเป็นระยะเวลายาวนั้น มันล้มเหลว ผมก็ทราบดีว่าทุกคนเขาเดือดร้อน แต่สิ่งที่เดือดร้อนมากกว่านั่นก็คือ สุขภาพ ถ้าบาดเจ็บ สูญเสีย ล้มตายกันมากกว่านี้ แล้วจะทำอย่างไร ถ้าเราทำอะไรเร็วเกินไป สิ่งที่เราทำมาทั้งหมด มันสูญเสียทันที แล้วมันเรียกกลับมาไม่ได้… การพิจารณาเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันอังคารหน้า” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

พล.อ.ประยุทธ์ ยังชี้แจงว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ที่รัฐบาลเสนอเพื่อแก้ไขวิกฤตโควิด-19 มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 19 เมษายน 2563 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณสำหรับดำเนินงานด้านสาธารณสุข เยียวยาประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจ

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พ.ร.ก.ทั้งสามฉบับเรียบร้อยแล้ว พ.ร.ก. สำคัญก็คือ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมจำนวนไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการแถลงข่าว

และ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า การเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีในประเทศไทยนั้น เป็นการประสานงาน เพื่อให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ดำเนินมาตรการที่สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล และไม่ใช่การขอรับบริจาคตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด โดยจะไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แน่นอน

ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในการแถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่น่าพอใจ โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 2,811 ราย และเสียชีวิตสะสม 48 ราย

“วันนี้มีผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้าน 109 ราย หายป่วยไปแล้ว 2,108 ราย แล้วก็ยินดีกับอีกหนึ่งวันที่เรามีตัวเลขที่ลดลงของรายใหม่ 19 รายที่รายงานมาในรอบ 24 ชั่วโมงนี้ แล้วก็ผู้ป่วยทีเสียชีวิต วันนี้ 1 ราย ยังมีผู้ป่วยที่รับการรักษา ลดลงเหลือ 655 ราย เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เตียงของโรงพยาบาลว่างเลย ณ วันนี้เป็นผลของ 14 วันที่แล้ว ที่เรารวมตัวกันทำงานด้วยกันอย่างดี คือ เรื่องของการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติที่เราคุยกันมาตลอด หลังจากที่เราได้มีการประกาศเคอร์ฟิวกันทั้งหลาย” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่วันนี้ ประกอบด้วยกลุ่มที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 10 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า 8 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และเข้าศูนย์กักตัวของรัฐ (State Quarantine) 1 ราย

คนไทย 144 ราย ยอมถูกจับ หลังหนีจากมาเลเซียเข้าสุไหงโกลก

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและสั่งการเจ้าหน้าที่ทหารพราน ซึ่งดูแลรับผิดชอบชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอสุไหงโกลก หลังจากคืนวานนี้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัว คนไทย 144 ราย ที่เดินข้ามแม่น้ำโกลกจากประเทศมาเลเซีย เข้าพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เพราะไม่สามารถผ่านเข้าประเทศทางด่านชายแดนปกติได้

“ทาง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ท่านแม่ทัพ ผบ. กองกำลัง ได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ได้อำนวยความสะดวกให้กับคนไทย ซึ่งในส่วนนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ให้ความสนใจมากว่า คนไทยที่ข้ามมาจะต้องได้รับการดูแล และต้องไปเข้าระบบควอรันทีนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางทหารก็อำนวยความสะดวก ในการให้ประชาชนข้ามฝั่งเข้ามา แต่ในขณะเดียวกัน การตรวจสอบทั้งประวัติอาชญากรรม ตรวจสอบที่อยู่จริง ความมีตัวตนของผู้ที่ข้ามมา ก็ต้องทำควบคู่ไปด้วย” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

ทั้งนี้ คนไทยในประเทศมาเลเซีย พยายามข้ามพรมแดนธรรมชาติกลับมายังประเทศไทย ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงวันจันทร์ มีผู้ที่ข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายแล้วกว่า 800 คน โดยเหตุผลที่คนทั้งหมดต้องลักลอบเข้าประเทศนั้น เนื่องจากในประเทศมาเลเซียไม่มีงานให้ทำ หลังจากโควิด-19 ระบาด ขณะที่รัฐบาลอนุญาตให้คนไทยเดินทางผ่านแดนในทั้ง 5 ด่านจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียง 350 คนต่อวัน โดยกำหนดให้ต้องลงทะเบียนกับทางสถานทูตไทยในมาเลเซีย เพื่อขอหนังสือรับรอง รวมทั้งขอใบรับรองสุขภาพ (Fit-to-Travel) จากแพทย์ในมาเลเซีย ทำให้คนไทยหลายคนไม่สามารถทำตามมาตรการได้ และเลือกข้ามมาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายการข้ามแดน และถูกปรับเป็นเงิน 800 บาทต่อราย

ธนาธรร่วมเอกชนผลิตอุปกรณ์การแพทย์ช่วยแก้ปัญหาโควิด-19

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยขณะพาสื่อมวลชนเข้าชมโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ตนเองร่วมกับบริษัทเอกชนผลิต เพื่อส่งให้โรงพยาบาลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ไม่เพียงแค่รายชื่อมหาเศรษฐี 20 คนเท่านั้น ที่จะช่วยเหลือประเทศในสถานการณ์แบบนี้ได้ แต่ภาคเอกชนหลายแห่งก็เข้ามาช่วยเหลือ เหมือนกรณีที่เข้ามาช่วยเหลือในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล ก็ถือเป็นการช่วยเหลือสังคม และประเทศชาติได้เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถแสดงสปิริต ช่วยเหลือประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้… สำหรับผมมันเป็นเวลาที่สังคมต้องร่วมมือกัน กรณีนี้มันก็เป็นเรื่องที่ชัดว่า พวกเราเอกชนคนละไม้คนละมือก็สามารถทำงานให้กับสังคมได้ ถ้าเราจะทำ”

นายธนาธร ระบุว่า การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ครั้งนี้ เพื่อมอบให้โรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2 รายการ คือ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ (Patient Transportation Chamber) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน (Modular ARI Clinic) โดยการผลิตครั้งนี้เริ่มขึ้นเพราะได้รับการติดต่อจากศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานกับคณะแพทย์ ให้ร่วมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยร่วมมือกับ 3 บริษัทเอกชน คือ บริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด และ กลุ่มบริษัทโอ.อี.ไอ พาร์ท จำกัด เบื้องต้นมีโรงพยาบาล 12 แห่งทั่วประเทศ ที่แสดงความประสงค์ขอรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าว แบ่งเป็นเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบจำนวน 18 ชุด และห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน จำนวน 11 ชุด

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี และ มาตาฮารี อิสมาแอ ในนราธิวาส ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง