รัฐบาลย้ำต่อวุฒิสภาถึงความโปร่งใสใช้เงินกู้สู้โควิด 1.9 ล้านล้านบาท
2020.06.01
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ วุฒิสภา ได้เริ่มพิจารณาร่างพระราชกำหนด เกี่ยวกับการกู้เงิน 3 ฉบับ ที่รัฐบาลเสนอเพื่อใช้ในแก้ปัญหาในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างเร่งด่วน และผ่านการโหวตจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวานนี้ โดยรัฐบาลย้ำว่าจะดำเนินโครงการช่วยเหลือที่ตรงต่อความต้องการของประชาชนและมีความโปร่งใส
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ ประกอบด้วย หนึ่ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ในวงเงินหนึ่งล้านล้านบาท สอง พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 500,000 ล้านบาท และ สาม พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต่างได้อภิปรายตอกย้ำให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส
เงินสามส่วนนี้ จะใช้ในการสาธารณสุข การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจรวม ช่วยเหลือเอสเอ็มอีและเจ้าของกิจการต่างๆ การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลได้ขยายครอบคลุมเกษตรกร หมอนวด ภาคธุรกิจบันเทิง นักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์ กว่ายี่สิบล้านคน
ในเรื่องนี้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายค้าน ในการจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินทั้ง 3 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวตอบต่อสมาชิกรัฐสภาในวันนี้ว่า การดำเนินการต่างๆ ต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่และในภาคส่วนต่างๆ
“นายกรัฐมนตรี รับทราบจากสภาผู้แทนราษฎร จากสมาชิกวุฒิสภาแล้ว คงไปมีการพิจารณานะครับ คงต้องรับฟังว่าจะทำอย่างไร... แต่ว่าในขณะนี้ พอจะเรียนท่านได้ว่า การพิจารณาโครงการนั้น จะเริ่มมาจากทุกหน่วยงานโดยมาจากพื้นที่เป็นหลัก ต้องเป็นไปตามความต้องการของพี่น้องประชาชน... ไม่ว่าเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ อะไรก็แล้วแต่” พลเอกอนุพงษ์ กล่าว
พลเอกอนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้น จะให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำโครงการต่าง ๆ ทุกขั้นตอน รวมทั้ง การจัดซื้อจัดจ้าง โดยผ่านคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (คบจ.) ซึ่งในคณะกรรมการ คบจ. จะมีทั้งภาคเอกชน หอการค้า อุตสาหกรรม ธนาคาร ทุกหน่วยงานในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด รับวิสาหกิจ หน่วยงานระดับภูมิภาคและในพื้นที่ และภาคประชาสังคมรวมอยู่ด้วย
“ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คนพวกนี้น่าจะต้านทานสิ่งที่เป็นห่วงได้ ในเรื่องของความโปร่งใสในการที่จะเสนอโครงการ เหลืออย่างเดียวเท่านั้นแหละว่า จะดีไม่ดี” พลเอกอนุพงษ์กล่าว และเพิ่มเติมว่า ภาคเอกชน จะมีส่วนในการช่วยกลั่นกรองโครงการ เช่น เรื่องการบริการน้ำ เป็นต้น
“เรื่องที่ท่านเปิดเผยการเสนอข้อมูลโครงการอะไรนี้มันดี พวกวอทช์ด็อก จะได้ไปคอยดู ดูตั้งแต่ทำโครงการแรกๆ ถ้ามันไม่เข้าท่าเข้าทาง ไม่คุ้มค่า ก็จะได้หยุดกันตั้งแต่ตอนนั้นนะครับ... ส่วนองค์กรอิสระนั้น ก็เห็นด้วยกับท่านนะครับ ถ้าจะอยู่ในภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน แต่หากเข้ามาทำงานร่วมกันไม่ได้ ก็ต้องอยู่ในพวกองค์กรตรวจสอบทั้งหลายกับภาคเอกชนต่าง ๆ นะครับ” พลเอกอนุพงษ์กล่าว
อนึ่ง วุฒิสภาจะดำเนินการอภิปรายร่างพระราชกำหนดต่อ ในวันอังคารนี้ หากมีมติเห็นชอบ ก็จะส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และส่งต่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ซึ่งจะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้
ต่อมติการเห็นชอบ พ.ร.ก. เงินกู้ 3 ฉบับ นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า น่าผิดหวังมาก หาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินทั้ง 3 ฉบับ ที่เพิ่งผ่านมติ ส.ส. ในวันอาทิตย์
“น่าเศร้าที่ พรรคพลังประชารัฐยังควบคุมทุกอย่างในรัฐบาล สุดท้ายก็ยังไม่สามารถตั้งกรรมาธิการตรวจสอบงบประมาณ ตามที่ฝ่ายค้านเสนอได้ ซึ่งมันสะท้อนถึงประเด็นความโปร่งใส และการตรวจสอบได้ จริงอยู่ว่า รัฐบาลอ้างว่า กลไกปกติมีหน่วยงานตรวจสอบอยู่แล้ว แต่การที่จะจัดตั้งกรรมาธิการตรวจสอบ ก็จะยิ่งทำให้เห็นถึงความโปร่งใสของการใช้งบประมาณของรัฐบาลมากขึ้น การที่พรรครัฐบาลมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ก็แสดงเจตนารมณ์เรื่องความโปร่งใสของรัฐบาล” นายฐิติพล กล่าว
นอกจากนี้ ส.ส. ได้กำหนดให้วันที่ 4-5 มิถุนายน 2563 เป็นวันอภิปราย และลงมติเห็นชอบ พระราชบัญญัติการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 (พ.ร.บ.โอนงบฯ เพื่อนำไปแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 100,395 ล้านบาทด้วย)
รัฐผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิดระยะสาม
ในวันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า มีผู้ที่ติดเชื้อใหม่ 1 ราย มาจากพื้นที่กักกันที่รัฐจัดให้ ตัวเลขรวมเป็น 3,082 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมยังอยู่ที่ 57 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะเข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 3 แล้ว แต่ประชาชนยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อควบคุมโรคอยู่
“กรกฎา จะมีหรือไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เกิดขึ้นจากมาตรการ 3-4 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ถ้าเราผ่านเหตุการณ์ของการระบาดนี้ไปได้อย่างดี เหมือนที่เราผ่าน 1-2 ได้อย่างดี ก็เกิด 3 ตรงนี้... การชดเชยสงกรานต์ในเดือนกรกฎาคม อาจจะเกิดขึ้นถ้าเดือนมิถุนายน เราผ่านไปด้วยดี” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โดย นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยทำการตรวจเชื้อไปแล้ว 420,529 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 มีคนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งทางอากาศ และด่านชายแดน 30,019 ราย เป็นการเข้าเมืองผ่านชายแดนมาเลเซีย 14,039 ราย ลาว 622 ราย กัมพูชา 415 ราย และเมียนมา 746 ราย และเป็นการเดินทางมาโดยเครื่องบิน 14,197 รายจากหลายประเทศ
ทั้งนี้ การผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 และการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ต่ออีก 1 เดือน ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2563 เป็นผลของการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ศบค. เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีรายละเอียดการผ่อนคลายกิจกรรมและกิจการดังนี้
การกำหนดเวลาเคอร์ฟิวคือ ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน จากเดิมตั้งแต่เวลา 23.00-04.00 น. ให้เปลี่ยนเป็นเวลา 23.00-03.00 น. (4 ชั่วโมง) เวลาการปิดห้างสรรพสินค้าจากเดิมกำหนดให้เป็นเวลา 20.00 น. เปลี่ยนเป็น 21.00 น. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และการจัดนิทรรศการ ให้ดำเนินการได้เฉพาะที่มีพื้นที่ไม่เกิน 20,000 ตร.ม. และต้องปิด 21.00 น. โรงภาพยนตร์เปิดได้ แต่ต้องรับผู้เข้าชมไม่เกิน 200 คน ศูนย์พระเครื่อง สนามพระเครื่อง สามารถเปิดได้แต่ต้องควบคุมไม่ให้แออัด
โรงเรียนและสถานศึกษา อนุญาตให้ใช้สถานที่ในการสอบคัดเลือก และอบรมระยะสั้นได้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เปิดเพื่อประกอบอาหารให้ผู้ปกครองมารับได้ แต่สถานศึกษาจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยอาจมีบางโรงเรียนเปิดก่อนตามการพิจารณาของกระทรวงศึกษาธิการ ร้านเสริมสวย สถานเสริมความงาม ร้านตัดผม ให้ดำเนินได้ทุกกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับใบหน้า แต่ต้องให้บริการลูกค้าหนึ่งรายไม่เกิน 2 ชั่วโมง และห้ามนั่งรอในร้าน ร้านนวดเพื่อสุขภาพ สปา นวดแผนไทย นวดเท้า เปิดบริการได้แต่ให้บริการไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมง และงดการอบไอน้ำ อบตัว
ส่วนฟิตเนส และสถานที่ออกกำลังกาย ให้เปิดบริการได้ทุกกิจกรรม สนามกีฬาเพื่อการฝึกซ้อม ให้เปิดบริการโดยเว้นระยะห่าง และมีพนักงานไม่เกิน 10 คน ลานกิจกรรม เช่น โบว์ลิง สเกต โรลเลอร์เบลด ลีลาศ ให้เปิดบริการโดยจำกัดผู้ใช้บริการ สวนสัตว์ สถานที่จัดแสดงสัตว์ ให้เปิดได้ตามปกติ การเดินทางข้ามจังหวัด ให้เดินทางได้เฉพาะที่จำเป็น ขณะที่ การเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร ทางบก น้ำ อากาศ ยังห้ามอยู่ เช่นเดียวกับการให้บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารยังไม่ได้รับอนุญาต
ต่อการผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาล นายภูริ พงษ์สุทธิ เจ้าของร้านอาหารและเบียร์สดในจังหวัดขอนแก่น วัย 35 ปี กล่าวว่า ร้านของตนเองได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากรายได้หลักของร้านคือ เบียร์สด ซึ่งรัฐบาลห้ามขายเพื่อบริโภคภายในร้าน
“2 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายลดลง 83 เปอร์เซ็นต์ ติดหนี้บริษัทนำเข้าเบียร์อยู่ 70,000 บาท การที่รัฐบาลผ่อนคลายก็เป็นเรื่องที่ดี ธุรกิจจะได้กลับมามีกำไรบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลยังห้ามขายแอลกอฮอล์ในร้านต่อไปก็น่าจะยังได้รับผลกระทบอยู่ เพราะช่วงที่ผ่านมาพยายามหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้ว เช่น การเอาเบียร์สดมาใส่ขวดให้ลูกค้าซื้อกลับบ้าน แต่ยอดขายก็ยังไม่ได้กลับมาปกติ เห็นว่า รัฐบาลควรผ่อนปรนมากกว่านี้” นายภูริ กล่าว
ขณะที่ นายดอน หอมมณี นักวิจัยชาวเชียงใหม่อายุ 38 ปี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับการผ่อนปรน แต่จะยิ่งดีกว่าหากยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
"การผ่อนปรนก็ดี แต่คิดว่า สถานการณ์ตอนนี้รัฐควรจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โควิด เพราะ จังหวัดชายแดนใต้ก็ใช้ พ.ร.ก. ตัวนี้มาหลายปี ในด้านดีคือ คนก็ไม่เดือดร้อนอะไร ถ้าไม่ทำความผิด ในด้านหนึ่ง ด้านไม่ดี มันก็แก้ปัญหาให้สงบสุขไม่ได้ ก็เห็นมีข่าวระเบิดข่าวยิงกันอยู่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอำนาจเดียวที่กฎหมายปกติทำไม่ได้ คือ เคอร์ฟิวส์ไม่ให้คนออกจากบ้านตอนกลางคืน อยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปก่อน เพราะต้นทุนการตั้งด่านเคอร์ฟิวส์มันไม่สูง เดี๋ยวมาตั้งใหม่ก็ได้ เช่นเดียวกับต้นทุนการตั้ง ศบค. มันก็ไม่สูง” นายดอน กล่าว
ด้าน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแสดงความคิดเห็นเรื่องการผ่อนปรนมาตรการว่า “สำหรับการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลไม่เหมาะสมเท่าที่ควร เพราะปัจจุบันให้โรงหนังเปิด ห้างสรรพสินค้าเปิด แต่มหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนก็ยังไม่มีความชัดเจน การจะให้เรียนออนไลน์ก็มีปัญหา การศึกษาไม่สำคัญเท่าธุรกิจหรือ ถ้ารัฐบาลมองว่า สถานศึกษายังไม่มีความพร้อม รัฐบาลก็ควรสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเปิดและมีการป้องกันที่ดี และสนับสนุนการจัดการศึกษาออนไลน์”
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน