ครบรอบสิบสองปีไฟใต้: นักวิชาการย้ำรัฐต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของอีกฝ่ายอย่างจริงจัง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.01.04
TH-deepsouth-620 เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดปัตตานี รับการฝึกอบรมใช้อาวุธ เพื่อการรักษาความสงบในพื้นที่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558
เบนาร์นิวส์

แก้ไขข้อมูล 10:35 a.m. ET 2016-01-06

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเหตุความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ครบรอบ 12 ปี ในวันนี้ (4 ม.ค. 2559) นั้น มีความคืบหน้าไปมาก แต่รัฐบาลต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้เห็นต่างอย่างจริงจัง และเน้นการใช้กระบวนการยุติธรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึง 2558 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งสิ้น 6,543 ราย แต่ที่น่าสังเกตว่า ในสามปีล่าสุด มีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลงมาโดยตลอด โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2556 มีผู้เสียชีวิต 456 ราย ปี 2557 จำนวน 341 ราย และปี 2558 จำนวน 244 ราย ตามลำดับ โดยมีค่าเฉลี่ยผู้เสียชีวิตปีละ 545 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บในปี 2556 มีจำนวน 978 ราย  ปี 2557 จำนวน 672 ราย และปี 2558 จำนวน 544 ราย มีค่าเฉลี่ยผู้บาดเจ็บอยู่ที่ปีละ 993  ราย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า “ผมมองว่าแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว ภาครัฐต้องทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพเดินหน้าต่อไป ต้องมีการแก้ปัญหากระบวนการสันติภาพให้ได้ มีการพิจารณาถึงข้อเรียกร้องและข้อเสนอของฝ่ายตรงข้ามอย่างจริงจัง”

“รัฐต้องทำพร้อมกันกับการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้หลักประกันว่า รัฐเน้นความยุติธรรม เพื่อให้พื้นที่เกิดความสันติสุข” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยว่า ตนยังมีข้อกังวลในเรื่องการละเมิดสิทธิและการซ้อมทรมาน โดยกล่าวว่า “แม้สถานการณ์จะเบาบางลง แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ การซ้อมทรมาน เป็นสิ่งที่รัฐต้องพยายามแก้ปัญหาป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อการแก้ปัญหาอย่างถาวร”

ตามข้อมูลของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นับตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2558 มีผู้เสียชีวิตที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รวม จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1. นายอัสฮารี สะมะแอ เสียชีวิต เมื่อ 22 กรกฎาคม 2550 2. นายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในลักษณะผูกคอตาย เมื่อ 29 พฤษภาคม 2553 3. นายยะพา กาเซ็ง เสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 4. พลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิตเมื่อ 5 มิถุนายน 2554 และรายล่าสุด รายที่ 5. นายอับดุลลายิ ดอเลาะ

อย่างก็ตาม ในการเสียชีวิตรายล่าสุดของนายอับดุลลายิ ดอเลาะ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่อยู่ในระหว่างการถูกควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมนั้น คณะนิติแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ว่า คณะแพทย์ไม่พบร่องรอยการทำร้ายร่างกาย แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจนได้ เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตไม่อนุญาตให้ผ่าพิสูจน์ศพ

“รัฐต้องส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามหลักกฎหมาย รับรองความปลอดภัยให้ทั้งประชาชน หรือผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในการควบคุมของทหาร” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม

การปรับการทำงานของรัฐ และความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุข

พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า รัฐบาลไทยทราบดีว่าการอำนวยความยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องสำคัญ และได้มีการรื้อระบบให้มีประสิทธิภาพ และได้ทำคู่ขนานไปกับการพูดคุยกับมาราปาตานีอยู่แล้ว

“ระบบยุติธรรมในภาคใต้ เราปรับระบบใหม่ทั้งหมดแล้วครับ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและมีการเข้าถึงทุกคนอยู่แล้ว เราทำคู่ขนานกันไปอยู่แล้วครับเรื่องนี้ เพราะเรารู้ว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่” พล.ท.นักรบ กล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แก่เบนาร์นิวส์

“เรื่องความยุติธรรม เราก็ยื่นเป็นข้อเสนอเข้าไปสามข้อ ถ้าเขารับก็มาทำร่วมกัน แต่ขณะนี้ เขายังไม่รับเราเหมือนกัน เรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน” พล.ท.นักรบกล่าว

พล.ท.นักรบ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยให้ความจริงใจในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขและเดินหน้าต่อไป แต่มีสาระบางอย่างอยู่ในขั้นตอนพิจารณา และด้วยเหตุที่คณะอนุกรรมการร่วมทางเทคนิกของสามฝ่ายเพิ่งได้พบปะกันเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว จึงยังต้องรอการตัดสินใจในรายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติม

“เราก็เดินอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าเงื่อนไขสามข้อที่เขาเสนอมา มันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เราต้องมาดูข้อดีข้อเสียและผลกระทบต่อการยอมรับ(ข้อตกลง)” พล.ท.นักรบกล่าว

พล.ท.นักรบกล่าวว่า ข้อเสนอสองในสามอย่างของมาราปาตานีนั้นไม่มีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดให้การพูดคุยสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ และการให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย ที่ในขณะนี้ ฝ่ายไทยกำลังพิจารณาว่าจะรับรองผู้แทนการเจรจาของมาราปาตานีในฐานะใด

ส่วนการยอมรับมาราปาตานีเป็นคู่เจรจานั้น พล.ท.นักรบ กล่าวว่ากำลังดูข้อกฎหมายว่า การยอมรับมาราปาตานี จะเข้าข่ายข้อขัดแย้งตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ต่างชาติสามารถแทรกแซงได้หรือไม่

“บางอย่างมันติดเพราะเราก็ไม่รู้ ทางโน้นก็ไม่รู้ ว่าถ้าเรารับกันอย่างนี้แล้ว อะไรมันจะเกิดขึ้น เช่น เรื่องของมาราปาตานี พอยกระดับแล้ว ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงได้ไหม เป็นการคอนฟลิกต์ เข้าข่ายกฎหมายระหว่างประเทศเลยไหม เราต้องนำข้อนี้มาพิจารณาหลายๆ อย่าง” พล.ท.นักรบกล่าว

พล.ท.นักรบกล่าวว่า ทั้งสามฝ่าย คือคณะพูดคุยฯ ฝ่ายมาราปาตานี และมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ได้มีการติดต่อทางอีเมลอยู่ทุกวัน แต่การเจรจาทางเทคนิกครั้งที่สองที่เดิมกำหนดไว้เมื่อกลางเดือนธันวาคมนั้น คาดว่าจะเลื่อนไปเป็นกลางเดือนมกราคม

“เลื่อนเป็นมกรา กลางเดือน เราติดต่อทางอีเมล ที่ผ่านมายังไม่สะดวก รอสามฝ่ายให้พร้อม ต้องให้มาเลย์เป็นคนจัดให้” พล.ท.นักรบ กล่าว

ย้อนรอยสิบสองปีแห่งความรุนแรง

กลุ่มกองกำลังแบ่งแยกดินแดนจำนวนกว่าร้อยคน ได้เข้าโจมตีกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ในตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันวันที่ 4 มกราคม 2547 และได้ปล้นปืนไรเฟิ้ล เอ็ม-16 และปืนพกสั้นขนาด 11 มม. จำนวน 413 กระบอก และได้กลายเป็นเป็นจุดเริ่มของความไม่สงบตั้งแต่บัดนั้นมา จนครบ 12 ปี ในวันนี้

เจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. 4 ยังเปิดเผยว่า นอกจากการปล้นดังกล่าวแล้ว ยังมีการปล้นปืนจากเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการต่างๆ และการซุ่มยิงเจ้าหน้าที่แล้วชิงอาวุธรวม 2,076 กระบอก เจ้าหน้าที่สามารถยึดคืนกลับมาได้ 804 กระบอก ซึ่งในจำนวนนี้ รวมเหตุปืนปล้นจากค่ายปิเหล็ง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จำนวน 413 กระบอก ที่เจ้าหน้าที่ยึดปืนคืนได้ 98 กระบอก และเหตุโจมตีฐานพระองค์ดำ กองร้อยทหารราบที่ 15121 อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่19 มกราคม 2554 ปืนถูกปล้น 65 กระบอก ยึดคืนได้ 20 กระบอกด้วย

นับตั้งแต่มีเหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีการจัดเงินงบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหา 264,953 ล้านบาท ส่วนงบประมาณประจำปี 2559 สำหรับการแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น รัฐบาลได้อนุมัติไว้ที่ 30,866 ล้านบาท

ในพื้นที่มีอัตรากำลังพลในกรอบ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า 6-8 หมื่นนาย เฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารพราน มีกำลัง 12 กรม 172 กองร้อย กับอีก 9 หมวดของทหารพรานหญิง

เหตุการณ์ยังไม่สงบและความกังวลใจของชาวบ้าน

แม้ว่าสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บจะลดลง แต่ชาวบ้านในพื้นที่ ยังต้องการให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและปลอดภัยโดยเร็ว

“ถ้าถามใจชาวบ้านจริงๆ ก็ขอตอบตามความจริงว่าสถานการณ์แบบนี้ ถือว่ายังไม่สงบ คำว่าสงบของชาวบ้านคือ ไม่ใช่เฉพาะเหตุลดลง แต่หมายถึง ชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ” นายอิสมะแอ อาแวโล๊ะ ชาวบ้านในจังหวัดยะลา กล่าว

“ผมคิดว่าระยะหลังเหตุรุนแรงที่เกิดจากฝั่งขบวนการมีน้อยลงและเกิดยาก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ก็สามารถกดสถานการณ์เอาไว้ได้ แต่อย่าเผลอ เพราะถ้าเผลอ เขาอาจทำหนักๆ แน่ เหมือนไฟที่รอปะทุ อย่างนี้น่ากลัว” นายอิสมะแอ กล่าว

*แก้ไข ปีพ.ศ.จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง