สภาอียูเสนอให้มีการดีเบตก่อนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
2016.05.18
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (18 พฤษภาคม 2559) นี้ ที่กรุงเทพฯ คณะผู้แทนจากรัฐสภายุโรปเปิดโต๊ะแถลงข่าว ภารกิจการเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นเวลาสามวันว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการกลับสู่ประชาธิปไตย และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างอิสระ
คณะผู้แทนจากรัฐสภายุโรปกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2559 ได้พบปะหารือกับคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนราชการ ฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ โดยการเดินทางเยือนครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกหลังจากการทำรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยคณะผู้แทนฯ ได้ออกแถลงการณ์ เน้นย้ำว่าการประชามติ และการเดินหน้ากระบวนการสู่ประชาธิปไตยของรัฐบาลจำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
“การกลับคืนสู่โครงสร้างประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรม ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหภาพยุโรป และประเทศไทยในอนาคต” บางส่วนจากแถลงการณ์
และในแถลงการณ์ยังระบุว่า “สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออก จะต้องได้รับการเคารพ แม้ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน”
นายเวอร์เนอร์ แลนเกน ประธานกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน กล่าวว่า รัฐสภายุโรปต้องการเห็นเสรีภาพเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะช่วงก่อนจัดประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
“เราต้องการเห็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เราได้ยินว่าการวิพากษ์-วิจารณ์การประชามติ อาจทำให้ถูกดำเนินคดีและลงโทษ ซึ่งสถานการณ์นี้น่าเป็นห่วง และนั่นไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชน” นายแลนเกนกล่าว
“เราไม่ต้องการจะสั่งสอนประเทศไทย เพราะประเทศนี้ มีวัฒนธรรมของตัวเอง เพียงเรากังวลว่า ระบอบทหารจะคุมอำนาจและทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว” นายแลนเกนกล่าวเพิ่มเติม
นายมาร์ค ทาราเบลล่า รองประธานกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน กล่าวว่า ประชาชนไทยจำเป็นต้องมีสิทธิในการถกเถียงเรื่องประชามติก่อนถึงวันออกเสียงจริง เพราะนี่คือ อนาคตของทั้งประเทศ
“นี่คือเรื่องสำคัญของประเทศไทย เป็นอนาคตของประเทศไทย ประชาชนจำเป็นต้องได้ถกเถียง เพราะการลงประชามติครั้งนี้คือการออกเสียงเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่เพียงบางข้อ ถือเป็นการตัดสินอนาคตของประเทศไทย ดังนั้นจึงควรมีการดีเบตก่อนการลงประชามติ” นายมาร์คกล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนฯได้กล่าวว่า สหภาพยุโรปยังหวังว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนไทยจะได้รับการเปิดกว้าง