เจ้าหน้าที่ประมงปัตตานีจับไอ้โง่ รอบอ่าวปัตตานีได้นับร้อยลูก
2015.10.16

ในวันศุกร์ (16 ตุลาคม 2558) นี้ นายปรีชา บริเพ็ชร หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเล ปัตตานี ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเล ปัตตานี นำเรือยางออกลาดตระเวนรอบอ่าวปัตตานี และ สามารถจับลอบพับ หรือไอ้โง่ ถึง 260 ลูก และจับได้อีกมากกว่า 100 ลูก กระจัดกระจายตลอดสัปดาห์
นายปรีชา ได้กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี ได้มีการออกปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลให้มีการทำประมงโดยถูกต้อง ทำให้สามารถตรวจยึดเครื่องมือที่ผิดกฎหมายได้เป็นจำนวนมากในทุกวัน
“เราพบว่าชาวประมงที่ใช้เครื่องมือชนิดนี้ มีวิธีการพยายามหลบตาเจ้าหน้าที่มากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องพยายามหาวิธีที่จะตรวจจับให้ได้ จนสามารถจับกุมได้จำนวนมากครั้งนี้” นายปรีชา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ไอ้โง่ เครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฏหมายตาม คำสั่ง คสช.ที่ 24/2558 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2558 อันเป็นมาตรการส่วนหนึ่งในมาตรการต่างๆ ที่จะกำจัดการประมงแบบผิดกฎหมาย หลังจากที่สหภาพยุโรปได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย ที่มีปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, Unregulated Fishing) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้แจ้งให้ทางเบนาร์นิวส์ทราบทางอีเมลว่า ในขณะนี้ สหภาพยุโรปยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปกับทางประเทศไทย เมื่อใบเหลืองครบกำหนดหกเดือนในสิ้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
ชาวประมงขึ้นทะเบียนรับการเยียวยาจากภาครัฐ
วันเดียวกันที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมงปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้เปิดรับลงทะเบียนเยียวยาเรือประมง ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่สามารถออกทำประมงได้ ทำให้มีเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ทุกประเภท และเรือประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย เดินทางมาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก
นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “วันแรกของการรับลงทะเบียน เพื่อเก็บข้อมูล ให้ความช่วยเหลือชาวประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายตามคำสั่ง คสช. ทำให้ชาวประมงกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถทำการประมงได้ วันแรก มีทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ มากกว่า 500 ลำ ที่เข้ามาร่วมลงทะเบียน คาดว่าน่าจะให้ความช่วยเหลือได้โดยเร็ว”
นายดอเลาะ สาและ เจ้าของเรือประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ตนเองดีใจถ้ารัฐบาล ให้ความช่วยเหลือ อย่างน้อยก็สามารถหาอาชีพอื่นทำ ไม่ให้เดือดร้อน ทางรัฐบาลเอง ก็สามารถรักษาทรัพยากรทางทะเลได้ตามความต้องการ”
ในก่อนหน้านี้ ชาวประมงได้กล่าวว่า มีชาวประมงฆ่าตัวตายแล้วหลายราย จากการที่ไม่สามารถทำมาหากินได้มานานหลายเดือน หลังจากรัฐบาลห้ามเรือที่ไม่ขึ้นทะเบียน เรือที่ไม่มีอาชญาบัตร และเรือที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายออกทะเลอย่างเด็ดขาด นับจากสิ้นเดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป
ครม. อนุมัติเงินช่วยเหลือชาวประมง
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 13 ตุลาคม 2558 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงในระหว่างที่ไม่สามารถออกทำการประมงได้ภายในวงเงิน รวมทั้งสิ้น 228,516,100 บาท ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ โดยให้กองทัพเรือ โดยศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแล้ว โดยเบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่น ลักษณะเงินอุดหนุน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
1. ผู้ประกอบการที่มีเอกสารและอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 และต้องหยุดการทำประมง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา จำนวน 4,012 ลำ เป็นเงิน 180,593,500 บาท
2. ผู้ประกอบการประมงที่มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง แต่ไม่สามารถทำการประมงได้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2558 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2558 และต้องหยุดทำการประมง ตั้งแต่วันที่กฎหมาย/คำสั่ง มีผลบังคับใช้ โดยให้ความช่วยเหลือถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 จำนวน 330 ราย/ลำ และโพงพาง 4 ราย เป็นเงิน 47,922,600 บาท
โดยกรอบประเภทค่าใช้จ่าย ดังนี้ ค่าแรงแรงงานประมง เฉลี่ย 300 บาท/คน/วัน แบ่งเกณฑ์การคำนวณเป็นประเภทเรือ เป็น 3 ประเภท คือ ต่ำกว่า 10 ตันกรอส จำนวนแรงงาน 3 คน เท่ากับ 900 บาท, 10-30 ตันกรอส จำนวนแรงงาน 4 คน เท่ากับ 1,200 บาท, 30-60 ตันกรอส จำนวนแรงงาน 6 คน เท่ากับ 1,800 บาท และ 60 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 8 คน เท่ากับ 2,400 บาท
เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ เฉลี่ย 500บาท/คน/วัน เกณฑ์การคำนวณ ต่ำกว่า 10 ตันกรอส จำนวน 2 คน เป็นเงิน 1,000 บาท, 10 ตันกรอส จำนวนแรงงาน 3คน เป็นเงิน 1,500 บาท
ด้านค่าเช่าที่จอดเรือ/ค่าไฟ เฉลี่ย 200 บาท/ลำ/วัน ประเภทเรือประมง ถ้าต่ำกว่า 10 ตันกรอส จะได้เงินช่วยเหลือ 2,100 บาท/ลำ/วัน, 10-30 ตันกรอส จะได้เงินช่วยเหลือ 2,900 บาท/ลำ/วัน, 30-60 ตันกรอส จะได้เงินช่วยเหลือ 3,500 บาท/ลำ/วัน, 60 ตันกรอสขึ้นไป จะได้เงินช่วยเหลือ 4,100 บาท/ลำ/วัน แต่ถ้าเป็นเครื่องมือโพงพาง จะได้เงินช่วยเหลือ 1,000บาท/วัน
การดำเนินการใช้จ่าย และเบิกจ่ายงบกลาง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงดังกล่าวให้กองทัพเรือปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน และให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
3. ผู้ประกอบการประมงที่มีเอกสารแต่ไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องหยุดทำการประมงจนถึง 30 ก.ย. 2558 จำนวนทั้งสิ้น 2,658 ราย (ลำ) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องจากกรมประมง
ในส่วนของผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องมือที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้ผิดจากที่ได้รับอนุญาต ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2558 นั้น ไม่ควรให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากอาชญาบัตรไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หากผู้ประกอบการต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง ผู้ประกอบการควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย และเห็นควรให้ความช่วยเหลือ โดยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกระทรวงการคลัง