อินโดนีเซียเรียกร้องอาเซียนร่วมต่อต้านประมงผิดกฎหมาย
2017.09.14
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดี (14 กันยายน 2560) นี้ นายมาส อาค์หมัด ซานโตซ่า ตัวแทนด้านประมงจากประเทศอินโดนีเซียเรียกร้องให้ประเทศอาเซียนร่วมมือกันแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายอย่างเร่งด่วน ในงานประชุมด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลระหว่างประเทศอาเซียน และสหรัฐอเมริกา (U.S. – ASEAN Conference on Marine Environmental Issues) ที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศ รวมไปถึงการยกระดับการกระทำความผิดให้เป็นอาชญากรข้ามชาติด้านการประมง
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายองค์กร โดยเชิญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนสถาบันการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ ตัวแทนองค์กรเอกชน และผู้แทนจากรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคอาเซี่ยน และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมกว่า 50 คน
“การวางมาตรฐานในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องมีมุมมองเดียวกัน และมีวิธีการเข้าจัดการปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในระดับเดียวกัน ทั้งนี้ รวมถึงการวางมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน การป้องกันการลักลอบการทำประมงผิดกฎหมาย การวางมาตรฐานด้านข้อมูลข่าวสาร รวมถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ส่งผลถึงการร่วมมือกันในการตรวจตราน่านน้ำในภูมิภาค รวมไปถึงการยกระดับการกระทำความผิดให้เป็นอาชญากรข้ามชาติด้านการประมง” นายซานโตซ่า เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์
นายมาส อาค์หมัด ซานโตซ่า (Mas Achmad Santosa) ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่อต้านการประมงผิดกฎหมายของนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวต่อที่ประชุมว่า อาเซียนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาประมงอย่างเร่งด่วน ประเทศไทย และอินโดนีเซียต่างเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก ซึ่งการส่งออกมีผลต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้การประมงมีความยั่งยืน ไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงงานทาส ที่อาจโยงถึงการลักลอบค้ามนุษย์ และต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร และมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ด้วย
นายซานโตซ่า ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมายของอินโดนีเซีย โดยระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียมีความจริงจังในการจัดการปัญหาการประมงผิดกฎหมาย โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และตอบโต้ผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างรุนแรง และเด็ดขาด เช่น การระเบิดเรือ ที่ลักลอบทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า เจ้าของเรือประมงจำเป็นต้องเคารพกฎหมาย
“เราเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมาย และผมคิดว่ามันคือ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน มันไม่ใช่เรื่องง่ายในการใช้มาตรการที่รุนแรงในการบังคับใช้กฎหมาย แต่เราจำเป็นต้องทำเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และเพื่อทำให้เจ้าของเรือซึ่งเป็น ต้นตอของกระบวนการเห็นว่า เราจริงจัง เราจะล่าพวกเขา และจัดการพวกเขาด้วยกฎหมายของเรา ซึ่งต่อมาประเทศมาเลเซีย แม้แต่ประเทศไทยก็ใช้วิธีการจมเรือเช่นเดียวกัน” นายซานโตซ่า กล่าว
นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโจโก วิโดโด ในปี 2557 รัฐบาลอินโดนีเซียได้จมเรือประมงที่ลักลอบทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียแล้ว 317 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็น เรือสัญชาติเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย มาเลเซีย ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในการจะจมเรือประมง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องรอคำอนุญาตจากศาล
ในงานประชุมด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลระหว่างประเทศอาเซียนและสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ หัวข้อที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถยกระดับให้การทำประมงผิดกฎหมาย กลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งที่ประชุมมองว่า อุปสรรคสำคัญผลักดันปัญหาดังกล่าว อุปสรรคด้านกฎหมาย เทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างประเทศในการลาดตระเวน และที่สำคัญที่สุดคือ ทัศนคติและจุดยืนในการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศ
การต่อต้านการลักลอบการทำประมงผิดกฎหมายได้รับความสนใจจากนานาชาติ เนื่องจาก ปัจจุบัน ผู้บริโภคอาหารทะเลใน สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ไม่ได้ต้องการเพียงอาหารที่ปลอดภัย แต่คำนึงถึง อาหารที่ถูกกฎหมายด้วย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความพยายามที่จะตรวจสอบว่า ประเทศผู้ผลิตได้ปฏิบัติตามข้อบังคับ กฎระเบียบ และข้อตกลง ด้านการใช้แรงงาน และหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าว รวมถึงการไม่ใช้แรงงานทาส การลักลอบการค้ามนุษย์ ด้วย
นายซานโตซ่ากล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย ยินดีที่จะเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือของประเทศในอาเซียน เนื่องจากอินโดนีเซียประสบความสำเร็จอย่างมากในการดำเนินการต่อต้านการลักลอบการทำประมงผิดกฎหมาย โดยระบุว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ เกิดจากการได้ร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ นอร์เวย์ ในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการตรวจจับ ผู้กระทำความผิดอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลักดันยอดการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค
ปัจจุบัน รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการต่อต้านการลักลอบการทำประมงผิดกฎหมายร่วมกัน ในส่วนของประเทศไทย นายซานโตซ่าให้ความเห็นว่าอาจจะเป็นเรื่องของจังหวะเวลา