ไทยส่งสามนักโทษอิหร่านกลับประเทศ-ปัดแลกตัวสปายออสซี่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.11.27
กรุงเทพฯ
201127-TH-Iranian-1000.jpeg นางสาวไคลี มัวร์ กิลเบิร์ต ถูกจับกุมในอิหร่าน เมื่อปี 2561 และได้รับโทษจำคุก 10 ปี ในความผิดฐานจารกรรม ภาพนี้ถูกถ่ายไว้ที่กรุงเตหะราน หลังจากเธอได้รับการปล่อยตัว พร้อมกับชาวอิหร่านอีกสามคน ซึ่งถูกจำคุกในต่างประเทศ ภาพถ่ายจากคลิปวิดีโอวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563
รอยเตอร์

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 9:52 a.m. ET 2020-28-11

ในสัปดาห์นี้ ประเทศไทยได้ส่งตัวนักโทษชาวอิหร่าน 3 คน ที่ถูกลงโทษจำคุกในข้อหาก่อการร้ายในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยที่กระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธว่า การส่งตัวกลับครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวนักวิชาการลูกครึ่งอังกฤษ-ออสเตรเลีย ที่ถูกจำคุกในอิหร่านด้วยข้อหาจารกรรม ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาในสัปดาห์นี้เช่นกัน

นางสาวไคลี มัวร์ กิลเบิร์ต วัย 33 ปี เดินทางกลับถึงออสเตรเลียในวันศุกร์นี้ โดยที่สื่ออิหร่านและต่างประเทศรายงานว่า เธอได้รับปล่อยตัวเนื่องจากการแลกเปลี่ยนกับการส่งคืนนักโทษอิหร่านในต่างประเทศ

ขณะที่สื่อโทรทัศน์ของรัฐบาลอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Broadcasting) ไม่ได้ระบุชื่อนักโทษอิหร่าน 3 คน ที่ถูกปล่อยตัวในต่างประเทศ แต่ทางการไทยได้ระบุชื่อบุคคลดังกล่าวดังนี้ คือ นายซาอิต โมราดิ, นายโมฮัมหมัด คาซาอี และนายมาซูด เซดากัตซาเดห์ ว่าเป็นชาวอิหร่านสามราย ที่ถูกจับกุมเมื่อหกปีก่อน ในความผิดจากความพยายามลอบวางระเบิด เพื่อมุ่งทำร้ายนักการทูตอิสราเอลในประเทศไทย

ในวันเดียวกัน วันศุกร์นี้ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยปฏิเสธว่าการปล่อยตัวนักโทษอิหร่านในประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการร่วมมือกับออสเตรเลีย ที่พยายามจะเจรจาให้อิหร่านปล่อยตัวนักโทษชาวอังกฤษ-ออสเตรเลีย รายดังกล่าวแต่อย่างใด

“ข้อตกลงระหว่างไทยกับอิหร่าน เป็นความร่วมมือทวิภาคีตามสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษา และความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา โดยมีนักโทษสามราย สองรายเป็นการโอนตัวนักโทษ อีกรายหนึ่งเขาชดใช้โทษเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งตัวกลับไป” นายธานี กล่าว

“ทั้งสามคนนี้ไม่เกี่ยวกับประเทศที่สาม” นายธานี กล่าวเพิ่มเติม หลังถูกถามถึงความเชื่อมโยงกับการปล่อยตัวนางสาวไคลี มัวร์ กิลเบิร์ต ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ศูนย์อิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น โดยถูกจับขณะท่องเที่ยวในอิหร่านเมื่อปี พ.ศ. 2555 และถูกตัดสินให้รับโทษจำคุก 10 ปี ด้วยข้อหาจารกรรม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เธอปฏิเสธมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอิหร่านกล่าวเมื่อวันศุกร์ ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทางการอิหร่าน (IRNA) ว่า นักโทษชาวอิหร่าน 3 คน จากประเทศไทยเป็นการแลกเปลี่ยนตัวกับ นางสาวไคลี มัวร์ กิลเบิร์ต เมื่อวันพุธ

การแลกเปลี่ยนนักโทษเกิดขึ้น หลังจากความพยายามทางการทูตอย่างหนักระหว่างอิหร่าน ไทย และออสเตรเลีย เป็นเวลานานกว่า 1 ปี สำนักข่าวของทางการอิหร่าน อ้างคำกล่าวของ นาย อับบาส อารักชี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านการเมืองของอิหร่าน

“การแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นที่สนามบินเตหะราน ซึ่งหมายความว่าชาวอิหร่านสามคนได้รับการปล่อยตัวและเดินทางถึงกรุงเตหะราน จากนั้นนักโทษชาวออสเตรเลีย จึงได้รับอนุญาตให้ออกไปได้” นายอารักชี กล่าวกับ IRNA และกล่าวอีกว่า การแลกเปลี่ยนตัวครั้งนี้ได้ใช้เครื่องบินส่วนตัวของออสเตรเลีย ซึ่งก่อนหน้าได้นำนักโทษชาวอิหร่านบินมายังกรุงเตหะราน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทย ไม่ได้ตอบกลับอีเมลเรื่องการส่งตัวนักโทษอิหร่านของเบนาร์นิวส์ในคืนวันพฤหัสบดีโดยทันที แต่ระบุในภายหลังว่าไม่สามารถตอบคำถามในประเด็นนี้ได้ จึงให้ผู้สื่อข่าวไปร่วมฟังการแถลงข่าว ที่จัดขึ้นในวันศุกร์นี้

ด้านเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ว่าทางกรมราชทัณฑ์ได้ส่งชาวอิหร่านสามคนกลับไป ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน นี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยคุมตัวผู้ต้องสงสัยวางระเบิดชาวอิหร่าน นายโมฮัมหมัด คาซาอี (กลาง) ระหว่างการสอบสวน ที่บ้านเช่าของเขา ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 (เอเอฟพี)
เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยคุมตัวผู้ต้องสงสัยวางระเบิดชาวอิหร่าน นายโมฮัมหมัด คาซาอี (กลาง) ระหว่างการสอบสวน ที่บ้านเช่าของเขา ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 (เอเอฟพี)

ขณะที่นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ปฏิเสธการให้ความเห็นเกี่ยวกับการเจรจาทางการทูตเรื่องการปล่อยตัว ดร.ไคลี มัวร์ กิลเบิร์ต เมื่อนักข่าวถามถึงกรณีความเชื่อมโยงกับการปล่อยนักโทษอิหร่านในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ไคลี

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยโอนนักโทษสองราย และนักโทษที่ได้รับอภัยโทษแล้วอีกหนึ่งราย กลับไปตามข้อตกลงกับอิหร่านไว้ “เพื่อหลักมนุษยธรรม พวกเขาควรได้รับการส่งกลับไปประเทศตนเอง เพื่อได้อยู่ใกล้กับครอบครัวมากขึ้น และเพื่อจะได้มีกำลังใจ”

อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของสำนักข่าวเอพี พบว่าคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์รัฐบาลอิหร่าน แสดงให้เห็นภาพชายชาวอิหร่านสามคน ได้รับการต้อนรับด้วยดอกไม้และการชื่นชม หลังเดินทางถึงกรุงเตหะราน ทำให้เชื่อว่า การโอนตัวนักโทษเพื่อไปรับโทษต่อในประเทศของตนเองนั้น น่าจะเกิดขึ้นยากมาก

การจำคุกชายชาวอิหร่านสามคนในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์การระเบิดอย่างไม่ตั้งใจที่บ้านเช่าของพวกเขา ในกรุงเทพฯ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2555 โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า ขณะที่เจ้าหน้าตำรวจกำลังเข้าไปในที่เกิดเหตุ ผู้ต้องสงสัย คือ นายซาอิต โมราดิ พยายามจะปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ แต่ว่าทำหลุดมือ จนทำให้ระเบิดใส่ตัวเอง ส่งผลให้ขาของเขาขาดทั้งสองข้าง

อย่างไรก็ตาม หลังการตรวจค้นบ้านพักหลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่พบวิทยุทรานซิสเตอร์จำนวน 5 เครื่อง ที่มีวัตถุระเบิดประเภทซีโฟร์ ถูกบรรจุไว้พร้อมกับปุ๋ยและกระสุนปืนโลหะกลม

ต่อมา นายโมฮัมหมัด คาซาอี ถูกจับตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่พยายามหลบหนีออกนอกประเทศ ส่วนนาย มาซูด เซดากัตซาเดห์ ที่หลบหนีออกจากประเทศไทยไปได้ ถูกจับในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และถูกส่งตัวกลับมาที่กรุงเทพฯ โดย นายโมราดิ ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ด้วยข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่นายโมฮัมหมัด ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ด้วยข้อหาครอบครองวัตถุระเบิด และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับเจ้าของบ้านเช่าเป็นเงิน 2 ล้านบาท ส่วนนายมาซูด ผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุนั้น ได้รับการอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ ในเดือนสิงหาคมปีนี้

* ปรับปรุงข้อมูล โดยเพิ่มรายละเอียดจากการสัมภาษณ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง