ศปมผ. กล่าวว่า อียูจะประเมินสถานะไทยอีกครั้งในต้นปี 2560

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.07.15
กรุงเทพฯ
TH-IUU-CCCIF-1000 พลเรือเอกบงสุข สิงห์ณรงค์ ประธานอนุกรรมการปราบปรามการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในภาคประมง ศปมผ. ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์ (15 กรกฎาคม 2559) นี้ ตัวแทนศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า สหภาพยุโรปจะมีการประเมินสถานะ การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของรัฐบาลไทยอีกครั้ง ในต้นปี 2560 และเชื่อว่าผลการประเมินจะออกมาในทิศทางที่ดี

พลเรือเอกบงสุข สิงห์ณรงค์ ประธานอนุกรรมการปราบปรามการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในภาคประมง กล่าวต่อสื่อมวลชน ในงานประชุมเชิงปฎิบัติการพัฒนานโยบายการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และ IUU ในกิจการประมงทะเลอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 ว่า ตัวแทนสหภาพยุโรปมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย แม้จะยังไม่ระบุสถานะความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยก็ตาม

“คิดว่าเขาพอใจขึ้นเป็นลำดับๆ และผมคิดว่าประเทศไทยคงจะได้รับข่าวดีในเรื่องที่ว่า เราอยู่ในสเตจไหนของอียู โดยเขาจะมาประเมินเราในต้นปีหน้า ดังนั้น การดำเนินการของเราก็จะสิ้นสุดในธันวาคมนี้” พลเรือเอกบงสุข กล่าวต่อที่ประชุม ที่จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เขาไม่ได้ชี้แจงเรื่องสถานะเราว่า เราใบแดง ใบเหลือง ใบเขียว เพียงแต่ว่ามาเสนอแนะในการที่จะต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ...” พลเรือเอกบงสุขกล่าวเพิ่มเติม

ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 และรับรองจะปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในการทำประมงอย่างโปร่งใส แต่ยังคงปล่อยให้มีการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาอย่างยาวนาน

ด้วยเหตุดังกล่าว อียูได้ออกใบเหลืองให้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 โดยมีกำหนดเส้นตายในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) ให้ได้มาตรฐาน ภายในหกเดือน ทั้งนี้ ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงลงพื้นที่ ในสมุทรสาครสองครั้ง แต่ยังไม่ได้มีการตัดสินว่าจะปลดใบเหลือง หรือให้ใบแดงแก่ประเทศไทย

อียู ได้ให้คำแนะนำให้ทางการไทยแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม โดยขยายขอบเขตไปยังการจัดการแรงงานในภาคประมงให้ถูกต้อง

ข้อเสนอแนะด้านแรงงาน

ด้าน นาย มาโนช แสงแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขการดูแลแรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ที่สหภาพยุโรปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินสถานะความเชื่อมั่นทางการประมงของไทย และสร้างมาตรฐานจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจประมง โดยกล่าวว่า

“ต้องปรับทัศนคติของสังคมต่างๆ สร้างมาตรฐานการบริหารงาน การเอาคนมาอยู่บนเรือ ปรับกลยุทธ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงาน วิธีการขายของ วิธีการโฆษณาสินค้า ยืนยันเลยว่า สินค้าของเราไม่เปรอะเปื้อนการค้ามนุษย์ แบบนี้ใครก็ซื้อ ข้อสำคัญที่สุดกลุ่มผู้ประกอบการต้องยึดมั่นในจริยธรรม และมีบทลงโทษกับพวกของตนเอง”

นายมาโนช ยังชี้อีกว่า ต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงกับผู้เป็นนายจ้าง หรือเจ้าของธุรกิจ แทนการลงโทษรุนแรงกับตัวแรงงาน ซึ่งถือเป็นเหยื่อ แต่กลับปล่อยปละละเลยการลงโทษนายทุน

ทางด้านนายสมพงศ์ สระแก้ว จากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า การแก้ปัญหาแรงงานบนเรือประมงควรทำให้แรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย สร้างแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้ทำงานด้วยค่าแรงและสวัสดิการที่ดี เพื่อลดปริมาณนายหน้าหาแรงงานที่เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาค้ามนุษย์บนเรือประมง

“แรงงานที่ประสบปัญหาก็เห็นชัดเจนว่า เป็นพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ชาวพม่า เขมร และส่วนหนึ่งก็คือลาว  เรื่องมาตรฐานเงินเดือนในแต่ละตำแหน่งบนเรือ เราไม่เคยได้ยิน มันก็เลยไม่มีแรงจูงใจให้คนมาทำงานบนเรือ ดังนั้น คนจึงไม่อยากมาทำงาน เมื่อนายจ้างมีความต้องการแรงงาน ก็ใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ก็อาศัยโบรกเกอร์[นายหน้า] เอาแรงงานเข้ามา” นายสมพงศ์กล่าว

ข้อเสนอแนะในการแบ่งโควต้าการทำการประมง

นาย ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เสนอแนะให้รัฐบาลไทยสร้างเงื่อนไขในการทำประมงแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืน คือ การให้โควต้าจับปลาแก่เรือประมงขนาดเล็กมากขึ้น และลดโควต้าการจับปลาของเรือขนาดใหญ่ให้น้อยที่สุด

“เราจะต้องให้ปลาในท้องทะเลอ่าวไทยและอันดามัน 80 เปอร์เซ็นต์ จับโดยประมงท้องถิ่นและเรือขนาดเล็กเท่านั้น เหลืออีก 20 เปอร์เซนต์ให้เรือขนาดใหญ่ เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะต้องลดน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” นายชนินทร์ กล่าวแก่ที่ประชุม

“เพราะถ้าท่านยังอยู่ในเทรนด์นี้ คือ เรือประมงขนาดใหญ่จับอยู่ 70-80 เปอร์เซนต์ แล้วเรือขนาดเล็กแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เราแก้อะไรไม่ได้เลย การประมงอย่างยั่งยืน การค้ามนุษย์แก้ไม่ได้” นายชนินทร์กล่าวเพิ่มเติม

นายชนินทร์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน เรือประมงขนาดใหญ่ในน่านน้ำไทยมีประมาณ 15,000 ลำ แบ่งเป็นเรือที่จดทะเบียนถูกต้อง 11,000 ลำ เรือผิดกฎหมายอีกกว่า 2,000 ลำ และที่เหลืออาจมีเรือประมงสัญชาติเวียดนามที่เข้ามาทำประมงในน่านน้ำไทยด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง