เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเผย การพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ อาจจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.05.11
TH-talk-mara-620 เด็กในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี สวมหมวกทหารพร้อมทำวันทยาหัตถ์ ในท่ามกลาง ความพยายามการเจรจาเพื่อคืนสันติสุขแก่ภาคใต้ 11 พฤษภาคม 2558
เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย กล่าวในวันจันทร์ (11 พฤษภาคม 2558) นี้ว่า สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข หรือ Joint Working Group-Peace Dialogue Process (JWG-PDP) ของประเทศมาเลเซีย ได้มีการจัดประชุมตัวแทนจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมปูทางไปสู่การเจรจาสันติภาพกับผู้แทนรัฐบาลไทย ที่คาดว่าจะมีขึ้นได้ในปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน ที่จะถึงนี้ ขณะที่รัฐบาลไทยเรียกร้องให้มาเลเซียนำ "ตัวจริง" มาร่วมพูดคุย

ซึ่งทางสำนักงานเลขานุการคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข ที่มี ดาโต๊ะซัมซามิน (Dato Sri Ahmad Zamzamin Hashim) เป็นประธาน ได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย จำนวน 6 กลุ่ม ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายการเจรจาในนามองค์กรสภาพันธะแห่งประชาชนปาตานี หรือ MARA Patani (Majlis Amanah Rakyat Patani) เป็นครั้งแรก โดยหกกลุ่มที่เข้าร่วมประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู  (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP)  ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) ทั้ง 3 กลุ่มย่อย

ทั้งนี้ แหล่งข่าวรายเดียวกันกล่าวว่า การรวมกลุ่มกันดังกล่าว จะเป็นการช่วยให้กลุ่มผู้เห็นต่างฝ่ายต่างสามารถมีช่องทางติดต่อสื่อสารกันได้ มีความเป็นเอกภาพ และถือเป็นคณะตัวแทนสูงสุดของกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมเจรจา ที่จะมีฉันทามติใดๆ ต่อรัฐบาลไทย

“ข้อตกลงการตั้งองค์กร MARA Patani เป็นความเห็นร่วมกันของทั้ง 6 กลุ่ม เพื่อให้ฝ่ายผู้เห็นต่างสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันและกันได้สะดวก รวดเร็วและเป็นเอกภาพ” แหล่งข่าวกล่าว

“การประชุมดังกล่าว ซึ่งทางการมาเลเซียจัดขึ้นนั้น ถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายใต้องค์กร MARA Patani ภายหลังจากที่มีการประชุมนอกรอบกันก่อนหน้านั้นที่ประเทศอินโดนีเซีย และตัวแทนทั้ง 6 กลุ่มเห็นพ้องกันว่า องค์กร MARA Patani จะทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวแทนสูงสุด ในการพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทย แต่ก็มีการเสนอให้มีคำสั่ง หรือการมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากฝ่ายต่างๆ ตามลำดับชั้น เพื่อไม่ให้ข้อตกลงหรือฉันทามติถูกปฏิเสธในภายหลัง” แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติม

“หลังจากนี้ จะมีการประชุมนอกรอบกันอีกครั้ง เพื่อวางแผนการเปิดตัว และประชาสัมพันธ์องค์กรสู่สาธารณะ ก่อนจะนัดเปิดโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งทางการไทยต้องการให้เป็นการประชุมลับ ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างเสนอให้มาเลเซียกดดันรัฐบาลไทยให้ประกาศเรื่องการพูดคุยสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ” แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

การเจรจาหรือการพูดคุยสันติภาพ ได้ถูกริเริ่มในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการพูดคุยเป็นครั้งแรกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 หลังจากนั้น มีการเจรจาเป็นครั้งที่สอง ในปลายปี พ.ศ. 2556 ต้องสะดุดลงด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ทางผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ต้องการให้รัฐบาลไทยยอมรับเอกราชเหนือดินแดนปัตตานีของตน  โดยในการเจรจานั้น มีนายฮัซซัน บิน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของฝ่ายกลุ่มแยกดินแดน ส่วนฝ่ายไทยคือ พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ส่วนในการเจรจาครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะมีพลเอกอักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของฝ่ายไทย ที่ได้เปิดวงพูดคุย เพื่อทำความรู้จักกับแกนนำฝ่ายบีอาร์เอ็น พูโล บีเอ็นพีพี และจีเอ็มไอพี ในการประชุมลับไปบ้างแล้ว จากคำบอกกล่าวของอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นผู้หนึ่ง

แหล่งข่าวอดีตแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นคนเดียวกัน ให้ทรรศนะต่อการเจรจาดังกล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า “ตอนนี้ ทุกคนพยายามหาทางเพื่อจะรวมให้เกิดการพูดคุยให้ได้ ในวันที่ 25 พ.ค. 2558 นี้ เพื่อเป็นการแสดงให้ทุกคนเห็นว่า รัฐบาลยุคนี้จะสามารถพูดคุยให้สำเร็จให้ได้ แต่ทุกอย่างจะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีความจริงใจขนาดไหน”

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ตามการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่าหกพันสามร้อยคน และบาดเจ็บมากกว่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง