โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ประสบปัญหาขาดแคลนศัลยแพทย์ทั่วไป
2015.08.07

วันนี้ที่ 7 ส.ค. 2558 ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ นายแพทย์บรรจง เหล่าเจริญสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวถึงปัญหาของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในปัจจุบันนี้ว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ทางด้านศัลยแพทย์ทั่วไป ซึ่งโรงพยาบาลจำเป็นจะต้องส่งผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด รวมถึงกลุ่มผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบ ที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ และรักษาอย่างเร่งด่วนด้วย ไปรักษาที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก หรือ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ปัตตานี และหาดใหญ่ตามลำดับ
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “กรณีดังกล่าวเบื้องต้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะแรก ได้มีการประสานงาน ในส่วนขอแพทย์ จากกรมแพทย์ทหารบก ได้รับการช่วยเหลือในการจัดส่งแพทย์ด้านศัลยแพทย์ 1 คนจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มาประจำเดือนละ 3 สัปดาห์ อีกหนึ่งสัปดาห์ก็จะต้องพักและทางโรงพยาบาลเองได้จัดส่งแพทย์ จากพื้นที่ไปเรียนต่อด้านศัลยแพทย์ทั่วไป คาดว่าหลังจากนี้ 3 ปี ทั้งสามจะกลับมาเป็นแพทย์ประจำในพื้นที่เพื่อรักษาพี่น้องในพื้นที่ที่เจ็บป่วย”
สำหรับโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์นั้น ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีเตียงผู้ป่วย 427 เตียง มีแพทย์ประจำโรงพยาบาล 40 คน โดยมีแพทย์ด้านศัลยกรรมประสาท 1 คน และศัลยกรรมกระดูกและข้อ 2 คน ซึ่งหากมีผู้ป่วยด้านศัลยกรรมที่ไม่เร่งด่วน ก็จะให้แพทย์กลุ่มนี้เป็นผู้ดูแล เพื่อทำการรักษาในขั้นต้น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยเร่งด่วน ทางโรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีความพร้อมในด้านแพทย์และเครื่องมือ
“แพทย์ส่วนใหญ่ที่ย้าย เพราะต้องการกลับบ้านเกิดบ้าง เพราะทำหน้าที่ในพื้นที่นี้มานาน บางคนขอย้ายเพราะปัญหาที่เกิดขึ้น แต่โดยหลัก ขอย้ายเพราะต้องการกลับบ้านเกิดมากกว่า”
ด้านนายแมะซง กาเล็ง ชาวบ้าน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า “เมื่อไปโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ต้องใช้เวลานาน เมื่อเข้าพบแพทย์ แพทย์ไม่มีเวลาพอในการตรวจผู้ป่วย เพราะมีคนป่วยที่รอคิวอีกยาว เราก็ไม่มั่นใจเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ รอนาน ตรวจใช้เวลาสั้นๆ เมื่อตรวจไม่ละเอียด ย่อมเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ จริงอยู่ไม่ต้องเสียเงิน เพราะเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิก แม้ต้องเสียเงิน แต่มีความมั่นใจมากกว่า”
หากโรงพยาบาลมีทั้งแพทย์และเครื่องมือที่พร้อม การรักษาย่อมมีประสิทธิภาพ ถ้าเป็นไปได้ ขอให้รัฐบาลส่งแพทย์และเครื่องมือมาในพื้นที่ โดยประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ จะได้รับประโยชน์ในการรักษาที่รวดเร็วและอาจช่วยชีวิตพวกเขาได้ดีกว่า ปัญหาที่มีในปัจจุบัน
“เท่าที่เห็นบ่อยครั้ง เมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ แล้วต้องมีการส่งต่อไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลอื่นที่มีเครื่องมือพร้อมกว่า นาทีเดียวถ้าเราช่วยชีวิตเขาได้ ก็อาจทำให้เรารอด แต่เมื่อต้องมีการส่งต่อ การรักษาก็ต้องขาดช่วง จึงเกิดการสูญเสียตามมา”
นายแพทย์บรรจง เหล่าเจริญสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า “เมื่อวาน ช่วงเกิดเหตุระเบิดที่บาเจาะ ทำให้ต้องส่ง พลทหาร พัสกร บุญมาพร อายุ 22 ปี ไปที่โรงพยาบาลสุไหงโกหลก แล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา เพราะแพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าส่งมา กำลังพักพอดี เช่นเดียวกันกับเหตุยิง ที่ อ.ศรีสาคร ก็ต้องส่งตัวผู้บาดเจ็บ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา”
โรงพยาบาลที่มีอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา รวมทั้งหมด 56 แห่ง แยกเป็น โรงพยาบาลจังหวัดยะลา ที่เป็นโรงพยาบาลรัฐ ประจำอำเภอๆ ละ 1 แห่ง รวมที่ จ.ยะลา มีจำนวน 8 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่งรวมเป็น 9 แห่ง ที่จังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลประจำอำเภอ มี 12 แห่ง โรงพยาบาลทหารอีก 1 แห่ง รวมเป็น 13 แห่ง ส่วนที่จังหวัดนราธิวาส โรงพยาบาลประจำอำเภอ มี 13 แห่ง ส่วน จ.สงขลา มีโรงพยาบาลประจำอำเภอทั้งหมด 15 แห่ง โรงพยาบาลประจำค่ายทหาร และโรงพยาบาลจิตเวช มี 2 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน จำนวน 4 แห่ง รวมเป็น 21 แห่ง
สำหรับการรักษา ซึ่งหากอยู่ในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงพยาบาลศูนย์ จ.ยะลา ถือว่ามีเครื่องมือพร้อมมากกว่าโรงพยาบาล ใน จ.ปัตตานี และนราธิวาส หากมีผู้บาดเจ็บที่อาการสาหัส แพทย์จากโรงพยาบาลปัตตานีและนราธิวาส มักจะส่งตัวเข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ส่วนอาการของผู้บาดเจ็บสาหัส ซึ่งแพทย์คาดว่า สามารถเดินทางไปถึงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์หาดใหญ่ หรือ มอ.หาดใหญ่ได้ แพทย์จะนำส่งเข้ารักษาตัวที่ มอ.หาดใหญ่
ส่วน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ผศ.ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาจะต้องเดินหน้า ต้องไม่หยุดนิ่ง ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา จะต้องให้ความสำคัญ และตั้งใจในการแก้ปัญหา แม้ในพื้นที่จะเกิดปัญหาความไม่สงบอยู่ก็ตาม การขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมายาวนาน เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องผลิตแพทย์ เพื่อเข้าปฎิบัติงาน รักษาผู้ป่วยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้าน พล.อ.อ.นายแพทย์ อวยชัย เปลื้องประสิทธิ์ คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งนักศึกษาแพทย์บางส่วนไปศึกษาภาษาอังกฤษ ที่ประเทศสิงคโปร์แล้ว
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ตั้งแต่ปี 2550 ผลิตนักศึกษาแพทย์ จบไปแล้ว 3 รุ่น ได้ลงปฎิบัติงาน ในฐานะแพทย์ รวมทั้งสิ้น 62 คน ประจำโรงพยาบาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
พยาบาลวิชาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจาก การให้ความสำคัญในการเร่งผลิตบุคลากรแพทย์ และเพิ่มศักยภาพแพทย์เพื่อการปฏิบัติการ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ปัญหาที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ควรคำนึงถึง และเร่งแก้ไขอีกปัญหาหนึ่งคือ การเพิ่มศักยภาพ และให้ความเป็นธรรมแก่พยาบาลวิชาชีพ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2558 เดือนที่แล้ว ตัวแทนจากชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาชิกชมรมฯ จำนวน 15 คน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ขอความเป็นธรรม ในการเพิ่มค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพ ในการกำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ให้กับพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฎิบัติ งานมานานและมีคุณสมบัติเหมาะสม พิจารณาให้พยาบาลวิชาชีพ ที่ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ สามารถดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนสายงาน