กลุ่มบีอาร์เอ็นหัวรุนแรงอาจเข้าร่วมการพูดคุยสันติสุขแดนใต้ ทางการมาเลเซียกล่าว

โนอาห์ ลี และ นิชา เดวิด
2019.12.02
กัวลาลัมเปอร์
191202-TH-talks-620.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสถานที่เกิดเหตุการยิง มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ที่จุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ที่ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา วันที่ 6 พ.ย. 2562
เอพี

ผู้ก่อความไม่สงบหัวรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปฏิเสธเข้าร่วมการพูดคุยเพื่อสันติสุขเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการหารืออย่างลับ ๆ ขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย และอาจเข้าสู่โต๊ะเจรจา แหล่งข่าวรัฐบาลมาเลเซียและโฆษกของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่มาเลเซียรายหนึ่ง ที่เป็นตัวกลางการพูดคุยเพื่อสันติสุขมาตั้งแต่ปี 2558 กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลมาเลเซียได้ทราบมาว่า คณะผู้เจรจาของรัฐบาลไทยและตัวแทนของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่ที่สุดและมีอำนาจที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ได้ประชุมกันในกรุงเบอร์ลิน

“เราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมนี้จากฝ่ายไทย” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายโมห์ด ฟาดลี จามัลอูดิน สมาชิกคนหนึ่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย บอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันจันทร์

เขากล่าวว่า การประชุมในกรุงเบอร์ลินนั้น มีการพูดคุยกันระหว่างสองฝ่าย หลายครั้งติดต่อกัน โดยมีองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งเป็นตัวกลาง แต่ไม่มีการปรึกษาล่วงหน้ากับมาเลเซียเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้

“รัฐบาลมาเลเซียผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา ไม่ได้รับแจ้งให้ทราบล่วงหน้าถึงการพูดคุยลับครั้งนี้” นายโมห์ด ฟาดลี จามัลอูดิน ผู้เป็นหนึ่งในคณะทำงานร่วมของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในชายแดนใต้ กล่าว

รัฐบาลมาเลเซีย “ไม่ทราบถึงความเกี่ยวข้อง” ขององค์กรระหว่างประเทศอีกองค์กรหนึ่ง “ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการ” นายโมห์ดกล่าวต่อ

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมในการพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายกลุ่มและบรรดากลุ่มย่อยในชายแดนใต้ รวมทั้งฝ่ายการเมืองของกลุ่มบีอาร์เอ็น ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบโดยกลุ่มผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนขึ้นในปี 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตแล้วร่วม 7,000 ราย จากเหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้

ขณะที่ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ของรัฐบาลไทยในการเจรจากับกลุ่มมาราปาตานี ได้แนะนำตัวและคณะของตน และกล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ ว่า ตนคาดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเกี่ยวกับคู่เจรจาในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

การพูดคุยอย่างเป็นทางการที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลางนั้น ไม่ได้มีมานานหลายเดือนแล้ว และการพูดคุยที่ผ่าน ๆ มาก็ขาดความคืบหน้าที่สำคัญ และยังมีการกล่าวหาว่า บรรดาผู้นำหัวรุนแรงของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นผู้สั่งการปฏิบัติการก่อความรุนแรงในพื้นที่ ไม่เข้าร่วมในการเจรจาและไม่ให้การสนับสนุนความพยายามเพื่อสันติภาพดังกล่าวด้วย

เมื่อวันจันทร์ เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อกับ นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียในการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อขอคำยืนยันว่า ฝ่ายทหารของกลุ่มบีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมในการเจรจา หลังจากที่ไม่เข้าร่วมการเจรจามานานกว่าสี่ปี

“ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น” นายอับดุล ราฮิม นูร์ ตอบทางโทรศัพท์ “ผมรู้ และก็ได้รับแจ้งมาอย่างนั้น นับเป็นสิ่งที่ดี”

เมื่อต้นเดือนนี้ สองแหล่งข่าวในมาเลเซีย บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า ฝ่ายการทหารของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ตกลงเข้าร่วมการเจรจากับ พล.อ.วัลลภ และนายอับดุล ราฮิม นูร์ โดย พล.อ.วัลลภ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนกันยายน ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลไทย ขณะที่นายอับดุล ราฮิม นูร์ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2561

“[เ]มื่อไม่มีคำมั่นจากฝ่ายการทหาร และเฉพาะฝ่ายการเมืองเท่านั้นที่เกี่ยวข้องในการเจรจา ความรุนแรงและสิ่งที่พูดคุยกันบนโต๊ะเจรจาก็ไม่สอดคล้องกัน” กล่าวโดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของรัฐบาลมาเลเซีย ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเรื่องนี้และขอสงวนนาม เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ขยายเรื่องนี้ต่อสาธารณชน

“อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ ผู้นำการเจรจาจะเป็นผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มีอำนาจจริง ๆ ซึ่งเป็นฝ่ายการทหารที่มีอำนาจในพื้นที่ และเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” แหล่งข่าวรายดังกล่าวบอกแก่เบนาร์นิวส์

แหล่งข่าวนั้นยังกล่าวด้วยว่า ผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็นอาจเข้าร่วมในการพูดคุยด้วย เพราะชอบ พล.อ.วัลลภ และนายอับดุล ราฮิม นูร์ มากกว่าเจ้าหน้าที่ชุดก่อน

“อาจเป็นเพราะความน่าเชื่อถือของนายอับดุล ราฮิม นูร์ ในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจ และวิธีการทำงานของเขาในระหว่างดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ของมาเลเซียก็เป็นได้” เจ้าหน้าที่มาเลเซียกล่าว

“ประการที่สอง การแต่งตั้ง พล.อ.วัลลภ ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแทนพล.อ.อุดมชัย ทำให้กลุ่มบีอาร์เอ็นรู้สึกเบาใจขึ้น” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวกล่าว โดยหมายถึง พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 แต่ได้ลาออกก่อนหน้านี้ หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก

ขณะเดียวกัน กลุ่มมาราปาตานีก็ขาดหัวหน้าเจรจา หลังนายสุกรี ฮารี ขอลาออก เมื่อเดือนพฤษภาคม นายอับดุล ราฮิม นูร์ กล่าวว่า เขาไม่ทราบว่า ใครจะเข้ามาทำหน้าที่แทนนายสุกรี

“เราทราบเกี่ยวกับการลาออกของนายสุกรี แต่ผมไม่ทราบว่าใครจะมาแทนที่เขา นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภายในของกลุ่ม” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์ “ผมแน่ใจว่ากลุ่มได้เลือกคนขึ้นมาแทนนายสุกรีแล้ว”

แม้จะยังไม่มีการประกาศออกมาว่า ผู้ใดจะมาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของกลุ่ม แต่กลุ่มมาราปาตานีจะเข้าร่วมในการพูดคุย และจะยินดีที่กลุ่มบีอาร์เอ็นที่เข้มแข็งจะเข้ามาร่วมการพูดคุยด้วย” โฆษกกลุ่มมาราปาตานีกล่าว

“กลุ่มมาราปาตานีได้เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มการพูดคุยแล้ว และเราคาดว่า แกนหลักบีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมกับเราด้วย” นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม โฆษกของกลุ่ม บอกกับเบนาร์นิวส์ “การรวมตัวของเราจะออกมาในลักษณะใด และเมื่อสรุปได้แล้ว เราจะประกาศให้ทุกคนรับทราบ”

มุซลิซา มุสตาฟา ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และนานี ยูโซฟ ในวอชิงตัน มีส่วนในรายงานข่าวฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง