นักวิเคราะห์ : ไทยลดบทบาทกลุ่มมาราปาตานี เริ่มพูดคุยสันติสุขรอบใหม่กับบีอาร์เอ็น
2020.02.04
ปัตตานี และกัวลาลัมเปอร์

รัฐบาลไทยดูเหมือนได้ตัดสินใจที่จะลดบทบาทของผู้เจรจาที่เป็นตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขในสามชายแดนใต้ของไทย ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2558 ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้บอกแก่เบนาร์นิวส์
ขณะเดียวกัน สมาชิกขององค์กรมาราปาตานี องค์กรร่มของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการเจรจาที่มีมาเลเซียเป็นคนกลาง ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา กล่าวว่า กลุ่มจะไม่เข้าร่วมหรือ ยังไม่ได้รับการเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจาโดยตรงที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีอำนาจมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้
“มีความชัดเจนว่า มีความต้องการลดบทบาทของมาราปาตานี และเป็นความตั้งใจของรัฐบาล โดยเฉพาะจากคำพูดของ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ยืนยันว่าต้องการพูดคุยกับกลุ่มที่มีบทบาทอันดับแรกๆ เป็นกลุ่มที่ชัดเจนที่สุด มีบทบาทมากที่สุด แล้วค่อยไปคุยกับกลุ่มอื่น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) แก่เบนาร์นิวส์
พล.อ.วัลลภ และนายอันนาส อับดุลเราะห์มาน (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ฮีพนี มาเระห์) ผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ได้ประกาศออกมาในระหว่างการแถลงข่าวร่วม ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 21 มกราคมว่า ทั้งสองฝ่ายกำลังเริ่มการเจรจาโดยตรงอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การเจรจาดังกล่าวจะมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้วยเช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พลเอกวัลลภได้กล่าวในงานแถลงข่าว ที่กรุงเทพฯ ว่า "เบื้องต้น เราจะพูดคุยกับบีอาร์เอ็นสองฝ่าย... เวลาที่เราทำงานจริง ๆ เราอยากเริ่มต้นกับกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดก่อน และต่อไปก็อาจจะรวมถึงกลุ่มอื่น ๆ ด้วย”
กลุ่มบีอาร์เอ็นมีสมาชิกร่วมในองค์กรมาราปาตานีด้วย แต่ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ มาราปาตานีซึ่งเป็นองค์กรร่มของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ อาจไม่สามารถควบคุมนักต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นในพื้นที่ได้ ดังนั้นจึงทำให้ พล.อ.วัลลภ ต้องพยายามติดต่อกับผู้นำที่แท้จริงของกลุ่มบีอาร์เอ็น ผ่านทางนายอับดุล ราอิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขนี้ ผู้นำหัวรุนแรงของกลุ่มบีอาร์เอ็นไม่เคยเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยกับทางการไทย ที่นำโดยมาราปาตานี จนกระทั่งมีการประกาศออกมา เมื่อเดือนมกราคมเกี่ยวกับการพูดคุยครั้งใหม่
ผศ.ดร.ศรีสมภพ พูดถึงการเจรจาชุดใหม่นี้ว่า เป็นพัฒนาการที่ดีในการพยายามช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยุติความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย พื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามลายู นับตั้งแต่ที่เหตุก่อความไม่สงบปะทุขึ้นอีกในปี 2547 มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้แล้วกว่า 7,000 คน
แต่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่รู้ว่าอนาคตจะไปได้ไกลขนาดไหน ก็ต้องรอดูท่าที”
“ที่สำคัญอยู่ที่เขาจะตกลงกันภายในด้วย กลุ่มขบวนการมีความขัดแย้งภายในอยู่ และระหว่างกลุ่มต่างๆ ต้องมีการเจรจากันภายในด้วย นอกจากที่จะมีการเจรจากับฝ่ายรัฐ”
“ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ต้องพูดคุยภายในด้วยกับรัฐบาลเอง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเสริม
การประชุมครั้งต่อไปกับกลุ่มบีอาร์เอ็นจะมีขึ้นในต้นเดือนมีนาคม พล.อ.วัลลภ บอกแก่ผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม
จากคำพูดของนายสุกรี ฮารี หนึ่งในสามของสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นที่อยูในองค์กรมาราปาตานี การพูดคุยโดยตรงรอบต่อไประหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น จะมีขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม แต่ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นในมาราปาตานีไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการพูดคุยครั้งนี้
“เฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่นำโดยนายอันนาสเท่านั้น ที่จะเข้าร่วมในการพูดคุย และสมาชิกของบีอาร์เอ็นที่อยู่ในมาราปาตานี จะไม่มีส่วนร่วมในการพูดคุย” นายสุกรีบอกแก่เบนาร์นิวส์
นายกัสตูรี มาห์โกตา หัวหน้ากลุ่มพูโล หรือองค์กรปลดปล่อยสหปาตานี (Patani United Liberation Organization หรือ PULO) ผู้ที่เป็นสมาชิกในมาราปาตานีด้วย กล่าวว่า เขามีความหวังว่า จะมีสมาชิกจากมาราปาตานีเข้าร่วมในการเจรจาเพื่อสันติสุขครั้งใหม่นี้ด้วย
“ยังไม่แน่ใจ” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์ เมื่อถูกถามว่ามาราปาตานีจะเข้าร่วมในการเจรจาด้วยหรือไม่ “[เ]ราจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ถ้ากลุ่มบีอาร์เอ็นสามารถจัดแจงได้ ถ้าพระอัลเลาะห์ทรงโปรด เราจะอยู่ด้วยกัน การจัดการทั้งหมดอยู่ในมือของกลุ่มบีอาร์เอ็น”
นายกัสตูรีกล่าวว่า เขาคาดว่าการเจรจารอบใหม่นี้ “จะเป็นกระบวนการที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” โดยระบุว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นได้ให้คำมั่นว่า “การเจรจาเพื่อสันติสุขรอบนี้ จะให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมด้วย”
นายอันนาสคือใคร
ในงานแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ พล.อ.วัลลภ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย ที่ได้รับแต่งตั้งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ บอกผู้สื่อข่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับการพบปะครั้งแรกกับนายอันนาส ในกรุงกัวลาลัมเปอร์
“เราค่อนข้างมั่นใจว่า เขาเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นที่จะเจรจากับเรา” พล.อ.วัลลภ กล่าว
ผศ.ดร.ศรีสมภพ นักวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ พูดถึงนายอันนาสว่า เป็นผู้นำรุ่นกลาง มีตำแหน่งสูงในกลุ่มบีอาร์เอ็น จบการศึกษาจากต่างประเทศ มีความรอบรู้ และอดีตเคยเป็นครูที่โรงเรียนอิสลามแห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้
“อุสตาซฮีพนี มีบทบาทค่อนข้างสำคัญในโครงสร้างบีอาร์เอ็น หลายปีมาแล้ว หน่วยงานการข่าวของรัฐบาลเองก็รู้จัก และรู้มานานแล้วว่า อุสตาซฮีพนี คือบุคคลสำคัญ เมื่อเขาออกมา การพูดคุยจะทำให้มั่นใจว่าน่าจะเป็นการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น ตัวจริง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อดีตนักต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่แน่ใจว่า นายอันนาสเป็นผู้นำระดับสูงของกลุ่มจริงหรือไม่ หรือเป็นบุคคลที่เหมาะสมจริงหรือไม่ ที่จะนำกลุ่มในการเจรจาครั้งใหม่นี้
เจ๊ะ ฆู อดีตสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นในพื้นที่เอ่ยว่า นายอันนาสอาจมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยมากเกินไป
“อุสตาซฮีพนี ไม่ใช่คนหน้าใหม่สำหรับรัฐบาลไทย รัฐเข้าหาเขามาโดยตลอด วงพูดคุยที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มของ อุสตาซฮีพนี รัฐจำเป็นที่จะต้องนำตัวละครออกมาแสดงที่เป็นหน้าใหม่ๆ สำหรับบนโต๊ะพูดคุย” เขาบอกเบนาร์นิวส์ กล่าวถึงนายอันนาส ในนามแฝง
เบนาร์นิวส์ได้พยายามติดต่อ นายอันนาส แต่ไม่สามารถติดต่อได้
“และตอนนี้ บีอาร์เอ็นในพื้นที่กำลังรอดูท่าทีของรัฐว่าจะเอายังไงต่อไป เพราะทุกวันนี้ เป้าหมายของบีอาร์เอ็น คือ เมอร์เดกา Merdeka ยังไม่เปลี่ยนจากเดิม” เจะห์ ฆู กล่าว โดยใช้คำมลายูที่หมายถึง ความเป็นเอกราช
นานี ยูโซฟ ในวอชิงตัน มีส่วนในการรายงานนี้