นายกฯ เร่งช่วยคนไทยตกค้างในต่างแดน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และ มารียัม อัฮหมัด
2020.05.07
กรุงเทพฯ และปัตตานี
200507-TH-border-1000.JPG แรงงานไทยกลับเข้าประเทศ ทางด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส วันที่ 18 เมษายน 2563
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งในหัวข้อหนึ่ง ทางนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งช่วยเหลือชาวไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดที่สุด

ทั้งนี้ สมาคมการกุศลและเจ้าหน้าที่การทูต กล่าวว่า ยังมีคนไทย ซึ่งทำงานในประเทศมาเลเซีย ตกค้างอยู่ราว 40,000 คน หลังจากที่มาเลเซียประกาศปิดประเทศและชายแดน ไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งหลังจากนั้น ได้อะลุ้มอล่วยเปิดห้าด่านชายแดนในนราธิวาส ยะลา และสตูล ให้คนไทยเดินทางกลับเข้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน นี้

“ในส่วนของคนไทยในมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศอำนวยความสะดวก ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งว่าส่งความช่วยเหลือไปให้เกือบทุกรัฐในมาเลเซียอย่างเพียงพอ ซึ่งกรณีนี้ ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครมาเลเซียด้วย” นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ 5 ผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนใต้ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซียอย่างเร่งด่วน และให้มีสิทธิ์ขอรับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลาสามเดือนได้ เช่นผู้ตกงานในประเทศไทยรายอื่น ๆ

เจ้าหน้าที่ทางการทูตของไทยและอาจารย์มหาวิทยาลัยในมาเลเซีย คาดว่า ก่อนการปิดชายแดนมีคนไทยไปทำงานในร้านอาหาร ที่เรียกกันติดปากว่า ร้านต้มยำกุ้ง สวนยางพารา สวนปาล์ม และภาคการประมง ประมาณ 100,000 คน ได้กลับมาก่อนหน้าการปิดชายแดนแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะได้ให้ความช่วยเหลือ แต่ยังมีกฎเกณฑ์บางประการที่แรงงานที่ฐานะยากจนและบางรายไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโยลีมากนัก ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขต่างๆ ได้ เช่น การต้องลงทะเบียนขอกลับบ้านกับทางสถานทูตไทย การขอใบรับรองสุขภาพในการเดินทางกลับ การจำกัดจำนวนคนกลับผ่านทางด่านห้าแห่ง รวมวันละ 350 คน โดยต้องกักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน ตามศูนย์กักตัวต่างๆ

“พยายามติดต่อหน่วยงานรัฐหรือผู้ประสานงาน มีแต่แนะนำให้ลงทะเบียน แต่พวกเราพยายามที่จะลงทะเบียนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ไม่รู้ว่าเพราะเราทำไม่เป็น เพราะเราเรียนน้อย หรือเพราะระบบไม่ดี” น.ส.รามูนา อาลี อายุ 19 ปี พนักงานร้านต้มยำแห่งหนึ่งในสลังงอร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เราทั้งหมดมาจากอำเภอยะหา จ.ยะลา อยากกลับบ้าน อยู่ที่นี่ลำบาก แต่เรากลับไม่ได้เพราะไปไหนก็ไม่ได้ แม้แต่จะไปหาหมอเพื่อขอใบรับรองแพทย์ ก็ยังไม่ได้ เราไม่มีเงินเลย มีความหวังว่าสื่อจะส่งความรู้สึกนี้ถึงนายกรัฐมนตรี ให้เขามาช่วยพวกเรา” น.ส.รามูนา ซึ่งเดินทางมาอยู่ด้วยกันทั้งหมด 8 คน รวมทั้งเด็กอายุ 4 ปี ที่กำลังจะขาดแคลนนม กล่าวเพิ่มเติม

เจ้าหน้าที่สถานทูตไทย กล่าวว่า คนไทย 7,247 ได้กลับถึงประเทศไทยแล้ว โดยในจำนวนนี้ มีการเดินทางกลับตามช่องทางธรรมชาติกว่าสองพันคน ซึ่งเขาเหล่านั้นต้องการเลี่ยงปัญหายุ่งยากในการเตรียมการเดินทาง แม้ว่าจะต้องถูกปรับ เพราะเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ตาม

เพื่อการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ต้องการเดินทางกลับ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จะจัดให้มีแพทย์ไปตรวจร่างกายของผู้เดินทางกลับมาที่ชายแดน แทนการขอหนังสือรับรองความสมบูรณ์ในการเดินทาง หรือ fit-to-travel

“ส่วนหนึ่งทำได้ตามที่กำหนดไปครับ ส่วนที่ติดขัดก็มีการจัดแพทย์จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปตรวจให้ครับ” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

นายซาลีม เกรก ชาวปัตตานีซึ่งไปทำงานเป็นเชฟในมาเลเซีย กล่าวว่า ตนเองเดินทางไปถึงชายแดนแล้ว แต่ต้องถูกปฏิเสธเพราะไม่มีเอกสารรับรองแพทย์

“ผมมีเงินที่เพียงพอต่อการเดินทาง ส่วนค่าตรวจสุขภาพอยู่ที่ 150 ริงกิต (ประมาณ 1,120 บาท) แล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านด่านได้ในวันเดียวหรือไม่ ผมเลยกลับเข้าเมืองเปิงกาลันฮูลู ในรัฐเปรัค ตอนนี้ ผมไม่มีเงินซื้อหาอาหาร แต่โชคดีที่เป็นช่วงรอมฎอน มีชาวบ้านเอาอาหารมาให้ผมกับเพื่อนๆ” นายซาลีม กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ในมาเลเซีย

ด้านนายตูแวดานียา มือรีงิง ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกค้าง ทั้งเป็นของแจกและการให้คำปรึกษาทางคอลเซ็นเตอร์ กล่าวว่า จากตัวเลขที่ได้รับแจ้งจาก นายณรงค์ ศศิธร เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ล่าสุดมีคนไทยที่ยังติดค้างในมาเลเซีย อีก 40,000 คน และที่ลงทะเบียนแล้ว 11,000 คน ส่วนสำหรับที่เดินทางกลับมาแล้ว ยากต่อการคำนวณ

อย่างไรก็ตาม นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าวว่า ทางการไทยได้ช่วยเหลือคนไทย ด้วยการจัดรถบัสไปส่งคนไทยที่ลงทะเบียน มีเอกสารเรียบร้อยตามด่านชายแดน แต่อย่างไรก็ตาม ในภายหลังมีคนไทยลงทะเบียนน้อยลง

“ตัวเลขของผู้ที่ต้องการจะเดินทางกลับบ้านส่อแววลดลง เนื่องจากร้านอาหารในมาเลเซียได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลังฉลองตรุษรายอ 24 พ.ค. นี้ ก็น่าจะมีปรากฏการณ์ยูเทิร์นตามมา” นายมงคล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ และนิชา เดวิด ในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ร่วมรายงานข่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง