คณะพูดคุยฯ ไทยพบกับบีอาร์เอ็นเป็นทางการครั้งแรก ในมาเลเซีย

มารียัม อัฮหมัด ภิมุข รักขนาม โนอา ลี และ มุซลิซ่า มุสตาฟา
2020.01.21
ปัตตานี กรุงเทพ และกัวลาลัมเปอร์
200121-TH-peace-talk-1000.jpg ประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่เดินหาซื้อของในตลาด จังหวัดปัตตานี วันที่ 16 มีนาคม 2562
รอยเตอร์

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พบปะกับแกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู โดยตรง อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ โดยมีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกจัดให้มีการพูดคุยขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตั้งความหวังในการยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่าเจ็ดพันราย นับตั้งแต่ปี 2547

พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ในวันอังคารนี้ว่า ตนเองพร้อมด้วยคณะผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พบปะพูดคุยร่วมกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น นำโดย อันนาส อับดุลเราะห์มาน (Mr. Anas Abdulrahman) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อวันจันทร์นี้ ซึ่งมี นายอับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก และในวันเดียวกันนี้ ทางฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็ได้แถลงข่าวในกัวลาลัมเปอร์และออกแถลงการณ์ยืนยันถึงการเจรจาเป็นครั้งแรกของทั้งสองฝ่ายเช่นกัน

“การพูดคุยฯ ครั้งนี้ เป็นเจตจำนงร่วมกันที่ต้องการแก้ไขปัญหา และสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยสันติวิธี โดยได้ออกแบบกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจนเป็นที่ยอมรับร่วมกัน” แถลงการณ์ฝ่ายไทย ระบุ

“การพูดคุยฯ ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำความรู้จักและรับทราบกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการพูดคุย ในห้วงต่อไปมีความก้าวหน้า และต่อเนื่อง โดยบรรยากาศของการพูดคุยเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ และทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ดีในการร่วมมือกันต่อไป” แถลงการณ์ฝ่ายไทย กล่าวเพิ่มเติม

นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบปล้นปืนไรเฟิลกว่าสี่ร้อยกระบอกไป จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์ยิง-ระเบิด ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย

ทั้งนี้ ในปี 2556 สมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายไทยได้ริเริ่มการเจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่มีนายฮัซซัน ตอยิบ เป็นแกนนำ แต่ล้มเหลวในปลายปีเดียวกัน จากนั้น ในเดือนสิงหาคม 2558 ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก­รัฐมนตรี ฝ่ายขบวนการฯ ต่างๆ ได้ตั้งองค์กรร่มที่ชื่อว่า “มาราปาตานี” ขึ้นมาเจรจากับฝ่ายไทย แต่ได้สะดุดลงอีกครั้งในต้นปี 2562 ซึ่งจริงๆ แล้วในมาราปาตานี ก็มีที่มีตัวแทนฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็น รวมอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นบางกลุ่ม ได้เรียกร้องให้ฝ่ายไทยเจรจากับบีอาร์เอ็นโดยตรง

การพบปะเมื่อวันจันทร์ มีขึ้นในเมืองหลวงของมาเลเซีย ในขณะเดียวกับที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่

“เราหวังว่า การปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของประชาชน สามารถช่วยลดความรุนแรงได้” พลเอกประยุทธ์กล่าว ในห้วงการเยือนสองวัน

และเมื่อปลายปีที่แล้ว กับเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนไทย และบีอาร์เอ็น ได้มีการหารืออย่างลับ ๆ ขึ้น ในกรุงเบอร์ลิน โดยมีองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งเป็นตัวกลาง แต่ไม่มีการปรึกษาล่วงหน้ากับมาเลเซียเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้

ในส่วนฝ่ายไทยนั้น ได้มีการตั้งคำถามว่า การเจรจาที่ผ่า­­นๆ มานั้น ถูกฝาถูกตัวหรือไม่ เพราะแม้มีการเจรจากันอยู่ แต่ความรุนแรงไม่ได้หายไปจนหมด

ในวันนี้ ฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้แถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าววงเล็กไม่กี่ราย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และได้ออกแถลงการณ์ยืนยันการพบปะที่มีขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้

“หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำงานร่วมกันอย่างขันแข็ง เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการริเริ่มและหารูปแบบกรอบการเจรจาและเงื่อนไข สำหรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนการพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย ที่ธำรงไว้ซึ่งความจริงใจ และความซื่อสัตย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ ด้วยเกียรติ ความเที่ยงธรรม และยั่งยืน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 นี้ ได้มีการเจรจาเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยมี นายอับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งลุล่วงไปได้ด้วยดี” ฝ่ายบีอาร์เอ็น กล่าวในแถลงการณ์

กลุ่มฮาร์ดคอร์ของบีอาร์เอ็น

พลตรีธิรา แดหวา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.4 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เมื่อวานนี้ ได้มีการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น ที่ใช้ชื่อว่า อันนาส อับดุลเราะห์มาน ซึ่งก็คือ นายฮีพนี มะเร๊ะ แกนนำคนสำคัญของบีอาร์เอ็น

“ได้มีการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น หัวหน้าเขา ๆ ใช้ชื่อ อันนาส อับดุลเราะห์มาน คนเดียวกันกับ นายฮีพนี มะเร๊ะ ประเด็นสำคัญ ในการพูดคุย คือ คุยกันในเรื่องที่คุยกันได้ทุกเรื่องเลย เมื่อก่อนเวลาเปิดเวทีพูดคุยก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง คือคุยกัน เมื่อเรายื่นข้อเสนออะไรที่รับกันไม่ได้” พลตรีธิรา กล่าว และระบุว่า ได้พูดคุยกันเป็นระยะเวลาหนึ่งวัน และได้มีการรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า นายฮีพนี มะเร๊ะ มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย อิสลาม เป็นชาวบ้านแย๊ะ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา ได้หนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ หลังจากถูกหมายจับเมื่อ ปี 2547 ฐานความผิดร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะใช้กำลัง เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรฯ ปัจจุบัน เป็นสมาชิกของระดับหัวหน้าฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็น และหลบหนีอยู่ประเทศมาเลเซีย

นายฮีพนี เคยเป็นอุสตาซ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ถูกกล่าวหาโดยผู้ต้องสงสัยที่เจ้าหน้าที่สอบสวนว่า เป็นผู้ถ่ายทอดแนวความคิดให้กับนักเรียน ให้ต่อต้านรัฐ โดยให้กู้ชาติตามแนวทางของศาสนา มีส่วนเกี่ยวข้อง รู้เห็นกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดบ้านพักนายอำเภอบันนังสตา เมื่อ 4 เม.ย. 47 เป็นต้น

ในปี 2550 ได้ตกเป็นหนึ่งใน 27 ผู้ต้องหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน สะสมกำลังพลและอาวุธ ร่วมกันเป็นอั้งยี่ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งค่าหัวไว้ 2 ล้านบาท

“การพบปะเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้การเจรจาสามารถดำเนินไปได้ในอนาคต” นายอันนาส กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ส่วนนายอับดุล อาซิซ ยาบาล หนึ่งในคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นอีกรายที่ร่วมพูดคุย กล่าวว่า "เราบรรลุข้อตกลงร่วมกัน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ได้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตายหลายพันราย"

และ ตนเองกำลังดำเนินการรวบรวมกลุ่มขบวนการอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกันกับบีอาร์เอ็นในกระบวนการพุดคุยฯ กับรัฐบาลไทย “เรากำลังคุยกับพวกเขา มันกำลังอยู่ในกระบวนการ” นายอับดุล กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ด้านโฆษกของมาราปาตานี นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม กล่าวว่า ทางมาราปาตานี ได้รับแจ้งเรื่องที่ฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นจะพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว แต่มาราปาตานี ไม่ทราบว่าจะมีการแถลงข่าวของบีอาร์เอ็น ซึ่งการเจรจาจะดำเนินไปอย่างไรนั้น นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวว่ายังจะต้องรอดู

“มันเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ ยังต้องดูว่าบีอาร์เอ็นจะก้าวต่อไปอย่างไร จะคุยเดี่ยวหรือว่าจะเชิญกลุ่มอื่นๆ ร่วมด้วย” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

องค์กรไครซิสกรุ๊ป : การเจรจาสันติสุขต้อง 'กระตุ้นใหม่'

ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น พูดกับผู้สื่อข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันเดียวกันกับที่องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (หรือ ไอซีจี - ICG) องค์กรพัฒนาเอกชนในกรุงบรัสเซลส์ ที่เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ได้เผยแพร่รายงานล่าสุดเกี่ยวกับความพยายามที่จะนำสันติสุขมายังชายแดนใต้ของไทย

โดยรายงานไอซีจี มีการตั้งข้อสังเกตถึงการที่พลเอกวัลลภ เรียกร้องให้มีการพูดคุยโดยตรงกับบีอาร์เอ็น “ซึ่งได้ปฏิเสธการร่วมพูดคุยที่ผ่านมา”

ไอซีจี กล่าวว่า กระบวนการการพูดคุยฯ “ต้องมีการกระตุ้นอีกครั้ง” โดยมีกลุ่มบีอาร์เอ็นร่วม และต้องเตรียม “การมีส่วนร่วมอย่างเป็นกิจลักษณะ”

ในส่วนของกรุงเทพฯ นั้น “ควรมองข้ามปัญหาการมีองค์กรระหว่างประเทศเป็นตัวกลาง และยุติความคิดที่ว่าการกระจายอำนาจเป็นการแบ่งแยกประเทศ” องค์กรไอซีจียังกระตุ้นให้ประเทศไทยและมาเลเซีย “หาตัวกลางจากภายนอกมาร่วมสังเกตการณ์ข้อพิพาท”

ประเทศมาเลเซียซึ่งมีพรมแดนติดกับชายแดนภาคใต้ของไทย ยังคงเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่สำคัญ ไอซีจีกล่าว แต่กัวลาลัมเปอร์ “เกี่ยวพันกับความขัดแย้งในฝ่ายต่าง ๆ มากเกินกว่าที่จะถูกมองว่าเป็นกลาง”

อารยา โพธิ์จา ในกรุงเทพ และนานี ยูโซฟ ในวอชิงตัน มีส่วนร่วมในการรายงานข่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง