แม่ทัพภาคสี่ประกาศโครงการฯ ก่อปฏิกิริยากลุ่มมาราปาตานี
2018.03.27
ปัตตานี

การเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีมานานกว่าสามปี พบกับแรงเสียดทานจากการที่องค์กรมาราปาตานี กล่าวพาดพิงถึงแม่ทัพภาคที่สี่ว่า การพูดและการกระทำของแม่ทัพภาคที่สี่ขัดแย้งกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่ทางมาแม่ทัพภาคที่สี่และคณะพูดคุยฯ ปฏิเสธการพาดพิงและปัดเรื่องความขัดแย้งกันเองของฝ่ายไทย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายสุกรี ฮารี ซึ่งเป็นตัวเเทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายมาราปาตานี ได้พบปะกับสื่อมวลชนไทยและมาเลเซีย ที่เมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยอธิบายว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อการขจัดความสับสน และเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
“เรามีความเชื่อมั่นในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย ที่ได้รับฉันทานุมัติจากนายกรัฐมนตรี และเราเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่เป็นทางการได้รับการบรรจุเป็นวาระแห่งชาติแล้ว อย่างไรก็ตาม เรามีความกังวลต่อการพูดและการกระทำของแม่ทัพภาคที่สี่ ที่ขัดแย้งกับกระบวนการพูดคุยฯ” นายสุกรี กล่าวอ้างถึง โครงการพาคนกลับบ้าน และความสงสัยที่ว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศพื้นที่ปลอดภัยใน 14 อำเภอ
นายสุกรี ได้อ่านแถลงการณ์ที่มีสี่ข้ออีกว่า “มาราปาตานี มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยผ่านทางคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และเราขอย้ำว่า 4.1 โครงการพาคนกลับบ้าน 4.2 การประกาศพื้นที่ปลอดภัยใน 14 อำเภอ โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ที่มีการกล่าวถึงนั้น สองเรื่องที่กล่าวมานี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างมาราปาตานีและรัฐบาลไทย”
ขณะเดียวกัน นายอาบู ฮาฟิส อัลฮาคิม โฆษกของกลุ่มมาราปาตานี กล่าวในวันศุกร์ต่อเบนาร์นิวส์ว่า โครงการที่แพร่ประกาศโดย พล.ท.ปิยะวัฒน์ ไม่เคยมีการพูดถึง ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
“ซึ่งตามหลักทุกอย่างที่ทำกัน [ในจังหวัดชายแดนภาคใต้] ควรให้สอดคล้องกับสิ่งที่ได้พูดคุยกันไว้ที่โต๊ะเจรจา แต่พล.ท.ปิยะวัฒน์ ได้มีแถลงการณ์ที่ขัดต่อสิ่งที่เราได้พูดคุยกันที่โต๊ะเจรจา”
“อย่างเช่น เขากล่าวอ้างว่า เขาประสบความสำเร็จในโครงการพาคนกลับบ้าน มีหลายพันคนได้เข้าร่วม ยังบอกอีกว่า เขาได้เปิดพื้นที่ปลอดภัย 14 แห่ง ในขณะที่รัฐบาลไทยกับเรา เพียงต้องการเริ่มต้นที่หนึ่งพื้นที่” อาบู ฮาฟิส กล่าว
'ไม่มีแรงเสียดทาน'
เมื่อวานนี้ พล.ท.ปิยะวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวโต้ตอบฝ่ายมาราปาตานี โดยกล่าวว่า
"ผมไม่ได้อ่านแถลงการณ์ BRN และไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ทำตามหน้าที่ดูแลพื้นที่ให้ปลอดภัย ไม่ใช่แค่ 14 อำเภอ แต่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และได้ทำกันมานาน 12 ปีแล้ว แต่ไม่ได้บอกใคร ถ้าบอกก็จะมีปัญหาตามมา บอกแต่ผู้ใหญ่และผู้บังคับบัญชาเท่านั้น" แม่ทัพภาค 4 กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
พล.ท.ปิยะวัฒน์ ยังได้กล่าวปกป้องโครงการพาคนกลับบ้านว่า มาราปาตานี แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว เพราะว่าได้สูญเสียมวลชนให้กับรัฐบาล
“...คิดว่าโครงการพาคนกลับบ้านดีอยู่แล้ว มาถึงจุดที่ใกล้จุดสูงสุดแล้ว ทำให้พวกเขาเพลี่ยงพล้ำ เสียมวลชน และคนของเขาเองที่ออกมาร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน... เขาอยากจะกลับมาบ้าน มาหาญาติพี่น้อง อย่าเอาเขามาเกี่ยวด้วยเลย มาเอาเขาพัฒนาประเทศดีกว่า" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ทั้งนี้ ในการเจรจาเต็มคณะ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มาราปาตานีและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แถลงว่า สามารถตกลงในหลักการในการจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” ในหนึ่งอำเภอ เพื่อทดสอบความไว้วางใจระหว่างกันเท่านั้น
และเมื่อกลางเดือนมีนาคมนี่ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้ขอใช้พื้นที่สำนักงานของคณะกรรมการฯ ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อจัดตั้งสำนักงานประสานงานของฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ และภาคพลเรือน หรือที่เรียกกันว่า “เซฟเฮ้าส์” ที่จะใช้ในการดำเนินการเพื่อเตรียมการจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” ต่อไป
ในเรื่องนี้ นายสุกรี กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “การเจรจาที่ดำเนินไปในกระนวนการพูดคุยฯ ระหว่างมาราปาตานีและรัฐบาลไทย ยังคงอยู่ในระดับเทคนิค ยังไม่ได้รับการรับรองจากคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข หรือ Joint Working Group-Peace Dialogue Process (JWG-PDP) นั่นหมายถึง ในขณะนี้ ยังไม่การบรรลุข้อตกลงชั้นสุดท้าย”
"ผมไม่ได้บอกว่า ไม่ต้องมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่กระบวนการพูดคุยทำกันในระดับรัฐบาลระดับชาติ ส่วนผมทำในระดับพื้นที่” พล.ท.ปิยะวัฒน์ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติม
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า คณะกรรมการทางเทคนิคสองฝ่ายได้เลือกอำเภอที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่เปิดเผยชื่ออำเภอ เพื่อความปลอดภัย
ด้าน พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยฯ ได้ออกมาชี้แจงในวันจันทร์ว่า การพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและเซฟเฮ้าส์กำลังอยู่ในชั้นของคณะเทคนิคชุดเล็ก ซึ่งต่อไปจะเป็นการตรวจสอบหรือให้ความเห็นชอบโดยคณะพูดคุยฯ ชุดใหญ่ โดยการดำเนินการของฝ่ายไทย ไม่ได้ขัดแย้งกับกระบวนการพูดคุยฯ
“ปัจจุบัน เรื่องเซฟตี้โซน เซฟเฮ้าส์ อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาที่ประชุมของคณะชุดใหญ่” พลตรีสิทธิ กล่าวแก่ไทยทีวีช่องสาม เมื่อวานนี้
“ผมว่า ไม่สวนทาง เราต้องยอมรับก่อนว่าประเด็นการพูดคุย เราไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องยุติการต่อสู้ก่อนเพื่อคณะพูดคุย แต่เราพูดคุยบนแวดล้อมที่ยังมีเหตุรุนแรงอยู่” พลตรีสิทธิ กล่าวตอบต่อคำถามถึงเรื่องการดำเนินการที่ขัดแย้งในกระบวนการพูดคุย
ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จลงว่า การพูดคุยมีความก้าวหน้าตามลำดับ
“การพูดคุยสันติสุข ผมคิดว่ามันมีความก้าวหน้าไปเป็นระดับแหละ แต่มันจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างยื่นมาโดยเฉพาะฝ่ายคู่กรณี... เรื่องพื้นที่ปลอดภัย มาถามผมว่าได้เมื่อไหร่ มันไม่อยู่ที่เรา เราต้องการอยู่แล้ว เร็วเท่าไหร่ได้ยิ่งดี แต่มันขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง เขาจะรับรองได้ไหมเล่า” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ มีส่วนในรายงานฉบับนี้