ผู้ค้าไทยดีใจ หลังมาเลเซียให้ส่งสินค้าข้ามแดนได้ทุกประเภท

มารียัม อัฮหมัด
2020.05.11
ปัตตานี
200511-TH-MY-trade-train-1000.jpg ผู้โดยสารรอที่สถานีรถไฟตันหยงมัส ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่ทางการไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดอนุญาตการนำเข้าสินค้าทุกประเภทอีกครั้ง รวมทั้งการเปิดการขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟ จากสถานีรถไฟปาดังเบซาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดน ที่ถูกปิดมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เพราะการระบาดของโรคโควิด-19

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดการนำเข้าอีกครั้ง เกิดขึ้นหลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือเพื่อเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย แล้วได้เดินทางไปประชุมร่วมกับด่านศุลกากร จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมานี้

ทั้งนี้ หลังจากการปิดด่านเมื่อกลางเดือนมีนาคม เมื่อถึงต้นเดือนเมษายน ทางการมาเลเซียได้อนุญาตให้ไทยส่งออกยางพาราเพียงอย่างเดียว เพื่อใช้ทำถุงมือที่แพทย์ต้องการใช้ในการรับมือกับโรคโดวิดเป็นจำนวนมาก

“ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งออกได้หมด และผลไม้จากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะออกผลผลิตก็จะสามารถส่งเข้าไปได้...โดยรวมสามารถลดปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ได้มาก และส่งผลดีต่อการส่งเข้าออกสินค้าในภาพรวม" นายชนธัญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“รัฐบาลมาเลเซียได้อนุญาตให้ประเทศไทยสามารถขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกได้ โดยผ่านการขนส่งทางรถไปขึ้นรถไฟในมาเลเซียผ่านด่านปาดังเบซาร์ได้แล้ว ในสินค้าทุกประเภท” นายชนธัญ กล่าวเพิ่มเติม

จากสถิติของกรมการค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ยังคงมีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งในจำนวนชายแดนสี่ด้านของประเทศ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าในไตรมาสแรกของปีนี้ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึงกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ โดยมีมูลค่ารวม 56,475 ล้านบาท (ลดลง 27.78%) เป็นการส่งออก 25,731 ล้านบาท (ลดลง 27.17%) นำเข้า 30,744 ล้านบาท (ลดลง 28.28%) ขณะที่มูลค่าการค้าชายแดนทั้งสี่ด้านอยู่ที่ 264,969 ล้านบาท ซึ่งลดลง 7.64 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับสินค้าหลัก ๆ ที่ไทยส่งออกไปมาเลเซีย ได้แก่ น้ำยางพารา ไม้ยางพารา ผลไม้ และสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด

นายอาแว สาและ นักธุรกิจส่งไก่เข้ามาเลเซีย กล่าวว่า ตนเองดีใจมากที่มาเลเซียยกเลิกการงดนำเข้าสินค้า

"ตอนนี้ สามารถส่งสินค้าได้ปกติแล้วก็ดีใจมาก ก่อนหน้าที่การส่งออกไม่สามารถทำได้เลย... ก่อนหน้านี้ ผมกับครอบครัวตันเลย ของที่อยู่ข้างในระบายไม่ได้ ของที่จะส่งเข้าก็ไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่นิ่งและยอมรับสภาพ แฟนผมนอนป่วยทำอะไรไม่ได้ ทำใจยอมรับไม่ได้กับผลกระทบหลายล้านที่ต้องสูญหายเพราะโควิด-19” นายอาแวกล่าว

“แม้เราจะส่งสินค้าเข้ามาเลเซียได้ แต่การล็อคดาวน์ของมาเลเซียยังมีต่อเนื่องไปอีกถึงกลางเดือนหน้า ก็ยังทำให้สินค้าสามารถกระจายได้น้อย ร้านต้มยำยังไม่สามารถเปิดขายได้เต็มที่ จึงส่งผลกระทบอยู่ แต่การที่เราสามารถส่งของได้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อเรามากแล้ว คาดว่าสถานการณ์ทั้งหมดจะเป็นไปในทางที่ดี” นายอาแว กล่าวด้วยความหวัง

ส่วนนายริดวัน มูดอ อายุ 43 ปี พ่อค้ารับซื้อยางพาราในพื้นที่จังหวัดยะลา กล่าวว่า การอนุญาตให้ส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังมาเลเซีย ทำให้ราคายางพาราปรับตัวขึ้น

“ราคายางเริ่มขยับขึ้นเล็กน้อยหลังจากมาเลเซียอนุญาตให้ส่งสินค้าเข้าไปได้ ตอนนี้ รับซื้อเศษยาง 13-15 บาท น้ำยาง 40-45 บาท ถือว่าดีมากกว่าก่อนหน้านี้ที่ไม่สามารถส่งของได้ การซื้อก่อนหน้านี้ต้องชะลอ เราเป็นคนกลางเมื่อตลาดไม่ซื้อ เราก็ต้องซื้ออยู่เพราะลูกค้าเขาต้องกินต้องใช้ แต่ก็ซื้อในราคาที่เราพอมีกำลังทำได้” นายริดวัน กล่าว

ทั้งนี้ ช่วงก่อนการเปิดการส่งออก ราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 38.50 บาท

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย การเริ่มการนำเข้าสินค้าอีกครั้งของมาเลเซียส่งผลดีต่อการส่งออกยางพาราของประเทศไทยที่จะเพิ่มมากขึ้น

“ผลมาจากแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมยางพาราเริ่มขับเคลื่อน หลังจากที่ประเทศจีนเริ่มเปิดให้มีการดำเนินการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แล้วบางส่วน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าในประเทศจีนเริ่มดีขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สถานการณ์อุตสาหกรรมยางพาราเริ่มกลับมาดีขึ้น เพราะจีนถือเป็นตลาดหลักในการใช้ยางพารา” นายขจรจักษณ์ กล่าว

องค์กรสิทธิฯ ร้องรัฐพิจารณาปล่อยแรงงานต่างด้าวจากที่กักตัว ทุกฝ่ายเสี่ยงเชื้อช่วงโควิด  

นายสุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อศุกร์ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยควรปล่อยตัวแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัว ในห้วงการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 เพราะเชื้อจะลามดั่งไฟป่า ในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่อยู่ในสภาพหนาแน่นและสกปรก

แถลงการณ์ระบุว่า ผู้ต้องกักอย่างน้อย 65 คน ในสำนักกักตัวคนต่างด้าว จังหวัดสงขลา ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงญา 18 คน ที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ได้สร้างความวิตกอย่างมาก ในการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกกักตัวภายในห้องที่มีสภาพหนาแน่นและสกปรก

การดูแลรักษาด้านสุขภาพที่ไม่ดีและไม่เพียงพอ ในสำนักกักกันตรวจคนเข้าเมืองของไทยนั้น ที่ได้มีหลักฐานยืนยันกันมาแล้ว ดังนั้นการที่คนจำนวนหลายร้อยคนมาอยู่ร่วมกัน กิน นอน ใช้ห้องน้ำ ในพื้นที่ที่คับแคบเดียวกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการรักษาระยะห่างและข้อจำกัดมาตรการอื่น ๆ เพื่อสกัดกั้นการติดเชื้อ ในสภาวะเช่นนี้โควิด-19 สามารถแพร่ กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งผู้ถูกควบคุมตัว รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลห้องกักที่กลับบ้านทุกวัน สามารถนำเชื้อออกไปสู่ชุมชนโดยรอบได้

นายสุณัย ยังกล่าวว่า รัฐบาลไทยควรให้ความมั่นใจว่าผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและบริการ รวมถึงมีการป้องกัน การตรวจทดลองหาเชื้อ และการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้งหมดควรมีอยู่ในแผนระดับชาติ ในป้องกันและรับมือการระบาดใหญ่ของโควิด-19

นอกจากนี้รัฐบาลไทยควรพิจารณายุติการตรวจจับเอกสารและการจับกุมแรงงานข้ามชาติเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยง แออัดเกินไป และจากการสัมผัสติดเชื้อไวรัส ในสถานกักกันคนเข้าเมือง แรงงานข้ามชาติจะไม่ยอมให้มีการตรวจหาเชื้อและรักษา หากพวกเขากลัวการถูกจับกุม – ซึ่งจะก่อความเสียหายต่อทุกฝ่ายโดยรวมการเคารพสิทธิของทุกคน รวมทั้งผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ควรเป็นรากฐานที่สำคัญในการรับมือการระบาดใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อสาธารณสุขของประชาชนในประเทศ

ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 6 ราย อาจผ่อนปรนระยะ 2 วันที่ 15 พ.ค. นี้

ในวันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวว่า ประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 6 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,015 ราย หายป่วยไปแล้ว 2,796 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม โดยการกระจายตัวยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและภาคใต้เป็นส่วนใหญ่

นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมจะผ่อนปรนให้สามารถดำเนินกิจการและกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติม จากเดิมที่ผ่อนปรนไปก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม จะมีประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 โดยกิจการและกิจกรรมที่จะผ่อนปรนประกอบด้วย 3 กลุ่มกิจกรรมกิจการ คือ กลุ่มด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน กลุ่มการออกกำลังกาย และกลุ่มอื่นๆ เช่น หนึ่ง การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ในภัตตาคาร ศูนย์อาหาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ สวนอาหาร ร้านไอศกรีม ร้านขนมหวาน ในอาคารสำนักงาน สอง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ยกเว้น ศูนย์ประชุม โบว์ลิ่ง สนามพระ โรงหนัง ฟิตเนส สวนน้ำ สาม ร้านค้าปลีก ค้าส่งอื่นๆ สี่ ร้านเสริมสวย เปิดให้ย้อมผม ดัดผม หรือบริการอื่นๆ ที่ให้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง รวมถึงร้านทำเล็บ

ด้านการออกกำลังกาย หนึ่ง คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงาม คุมน้ำหนัก สอง สนามกีฬา เฉพาะกีฬากลางแจ้ง และตามกติกาสากล เล่นเป็นทีม และไม่มีผู้ชม สาม สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ห้องสมุดสาธารณะ โดยจำกัดการเข้าเป็นรายคน สี่ นวดแผนไทย เฉพาะนวดเท้า ส่วนกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ณ สถานที่ภายใน/ภายนอกองค์กร ลักษณะการบรรยาย ร่วมกับการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยจำกัดจำนวนคนตามพื้นที่ ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป ที่ไม่เกิน 5 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง