แรงงานไทยถูกกักตัวเป็นพยานคดีค้าแรงงานเถื่อนในมาเลเซีย รองครม.ส่วนหน้ากล่าว

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.11.11
ยะลา
TH-MY-labor-1000 เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดยะลา (ขวามือ) เยี่ยมญาติแรงงานไทย ที่ถูกกักตัวที่เมืองยะโฮร์ บาห์รู วันที่ 11 พ.ย.2559
เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวัน (11 พ.ย. 2559) นี้ ว่า ทางการมาเลเซียได้กักตัวหญิงไทยรวม 42 คน ไว้บ้านพักฉุกเฉินสตรี ในรัฐยะโฮร์ เพื่อเป็นพยานในคดีการลักลอบค้าแรงงานที่มีชาวมาเลเซียเป็นผู้ต้องสงสัย

ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ได้รับทราบเรื่องราวดังกล่าว เมื่อวานนี้ เมื่อญาติของแรงงานกลุ่มหนึ่ง เป็นหญิงสูงอายุ จำนวน 21 คน ที่ได้เดินทางไปทำงานในมาเลเซีย โดยไม่มีการขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้อง ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมานี้ ได้ติดต่อสถานทูตไทย ให้ช่วยติดตามญาติของตน เพราะขาดการติดต่อไป ไม่นานหลังจากเดินทางถึงมาเลเซีย

ซึ่งเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ทางการไทยได้ประสานงานกับทางการมาเลเซีย จนทราบว่า มีผู้หญิงไทยถูกกักตัวที่บ้านพักฉุกเฉินสตรี ในเมืองยะโฮร์บาห์รู รัฐยะโฮร์ รวมทั้งสิ้น 42 คน

"ได้ให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังสำนักงานแรงงาน และกงสุลไทยประจำมาเลเซีย ทราบว่าหญิงสูงอายุทั้ง 21 คน ถูกกักกันอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินสตรี ในเมืองยะโฮร์ บาห์รู รัฐยะโฮร์ ทางตอนใต้ของมาเลเซีย โดยถูกกักตัวในฐานะพยานเนื่องจากทางการมาเลเซียได้จับกุมชาย 2 คน ที่สงสัยว่าจะเป็นผู้นำพาหญิงทั้ง 21 คน มาทำงานในมาเลเซียโดยผิดกฎหมาย” พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองหัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว

“ฉะนั้นหญิงชราทั้ง 21 คน จะต้องอยู่ในบ้านหลังนี้ไม่น้อยกว่า 15 วัน หรือจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบนำพาคนต่างด้าวเข้าออกประเทศโดยผิดกฎหมายของมาเลเซีย" พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้านนายดำรงค์ ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ขณะนี้ มีคนไทยในบ้านพักฉุกเฉินสตรีในรัฐยะโฮร์ 42 คน ส่วนหญิงชรา 21 คนนี้ แจ้งว่าเข้ามาเลเซียเพื่อขายข้าวเกรียบ

“ทางกงสุลในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย จะได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมหญิงไทยทั้ง 21 คน ที่บ้านพักฉุกเฉินสตรีในรัฐยะโฮร์ ในวันอังคารที่ 15 พ.ย. นี้ และจะประสานหาทางช่วยเหลือ โดยขอให้ทางการมาเลเซียเร่งรัดการดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งหมดจะได้เดินทางกลับประเทศไทย” นายดำรงค์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้

ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ในประเทศมาเลเซียได้ติดต่อ วัน โมห์ด นัจมูดดิน โมห์ด ผู้กำกับการตำรวจรัฐยะโฮร์ ซึ่งในขณะนั้นยังติดภารกิจในการประชุมที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย  ซึ่งทางผู้กำกับการ วัน โมห์ด นัจมูดดิน โมห์ด กล่าวอย่างค่อนข้างแปลกใจว่าไม่ทราบเรื่องมาก่อน แต่ให้คำมั่นว่า จะติดตามเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ของเขาในยะโฮร์ ที่มาเลเซียให้

ขบวนการค้าแรงงานเถื่อนชายแดนใต้

พันเอกจตุพร กลัมพสุต หัวหน้าชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ขบวนการค้าแรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติมีอยู่หลายกลุ่ม สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มค้าแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นพวกโรฮิงญาและอุยกูร์ กลุ่มนี้จะมีเครือข่ายรองรับพวกที่เดินทางมาจากประเทศต้นทาง ทั้งเมียนมา บังคลาเทศ และจีน จากนั้น จะมีแหล่งพักตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อสบโอกาสก็จะส่งข้ามไป

ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นพวกที่หลอกคนไทยไปขายแรงงาน เหยื่อมีทั้งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดอื่นๆ โดยวิธีการจะข้ามแดนโดยใช้พาสปอร์ต ซึ่งสามารถขอวีซ่าท่องเที่ยวหรือเยี่ยมญาติได้ 1-3 เดือน

“จริงๆ แล้ว ลักลอบเข้าไปทำงาน เมื่อวีซ่าใกล้หมด ก็จะมีขบวนการพากลับมาที่ชายแดน เพื่อจ๊อบพาสปอร์ตกลับเข้าไปใหม่ โดยสาเหตุที่คนเหล่านี้ไม่ขึ้นทะเบียนหรือขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมายมาเลเซีย เพราะมาเลเซียมีนโยบายไม่รับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากมีปัญหาแย่งงานคนมาเลย์ท้องถิ่น” พ.อ.จตุพร กล่าว

พ.อ.จตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า แหล่งพักแรงงานเหล่านี้อยู่ที่รัฐยะโฮร์ โดยเฉพาะเมืองยะโฮร์บารู ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ติดกับสิงคโปร์ ถ้าเป็นแรงงานจากประเทศไทย ก็จะทำงานรับจ้างที่นั่น หรือรัฐอื่นของมาเลเซีย แต่ถ้าเป็นโรฮิงญาหรืออุยกูร์ จะถูกส่งต่อไปประเทศที่สาม

ทางด้านนายมามะสาดี สุหลง ลูกชายนางฮามีดะห์ สาและ ชาวจังหวัดยะลา หนึ่งในหญิงสูงอายุ 21 ราย กล่าวว่า "รู้สึกดีใจเมื่อทราบว่าเจอแม่แล้ว ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ ก็อยากเรียกร้องขอให้นำแม่กลับมาเร็วๆ"

“แม่ชื่อฮามีดะห์ สาและ วัย 57 ปี ได้รับการชักชวนไปทำงานขายข้าวเกรียบที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ไปกัน 21 คน กับรถยนต์กระบะ 2 คัน ทางด่านนอกอำเภอสะเดา เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา แล้วก็ติดต่อไม่ได้เลย คิดว่าอาจจะถูกตำรวจมาเลเซียจับกุมเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน” นายมามะกาดี กล่าว

นายฮารง มะยิ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านเจาะกลาดี อ.ยะหา จ.ยะลา ที่ได้ให้การช่วยเหลือกลุ่มญาติๆ ได้กล่าวเบนาร์นิวส์เมื่อวานนี้ว่า ในเบื้องต้น ทราบชื่อเพียง 8 ราย คือ นางลิเยาะ สุหลง อายุประมาณ 80 ปี ชาวปัตตานี นางสาวสะละมา บาโล อายุ 51 ปี ชาวยะลา นางลีหม๊ะ เจะโด อายุ 65 ปี ชาวยะลา นางกอรีเยาะ สาแม อายุ 53 ปี ชาวยะลา นางฮาสือนะ อาแว ชาวปัตตานี นางฮาลีเมาะ สาและ ชาวปัตตานี และนางกอยะห์ กาเจมูซอ ชาวปัตตานี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง