ตำรวจมาเลเซียช่วยเหลือ 21 หญิงไทยจากแก๊งค์ค้ามนุษย์
2016.11.14
ยะลา

ในวันจันทร์ (14 พ.ย. 2559) นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย กล่าวถึงกรณีรายงานข่าวการหายตัวไปของแรงงานหญิงสูงอายุชาวไทย 21 ราย ว่า ในข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้ช่วยเหลือให้รอดพ้นจากเงื้อมมือนักค้ามนุษย์ ซึ่งทางตำรวจมาเลเซียจับกุมได้สองราย ส่วนหญิงไทยที่เข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายนั้น ทางการมาเลเซียไม่ได้ตั้งข้อหา และจะปล่อยตัวหลังจากมีการสอบปากคำเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ปรากฏข่าวการหายตัวไปของ 21 หญิงไทย ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เนื่องจากญาติๆ ของแรงงานได้ขอความช่วยเหลือจากทางการไทยให้ช่วยค้นหา หลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านไม่ประสบผลสำเร็จในการค้นหาในก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ ญาติได้กล่าวว่า ทั้ง 21 ราย ขาดการติดต่อไปเพียงไม่กี่วันหลังจากเดินทางเข้ามาเลเซียทางด่านนอก สงขลา เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา
"คนไทยทั้ง 21 คน เจ้าหน้าที่มาเลเซียไม่ได้จับ แต่ให้ความช่วยเหลือในฐานะผู้ตกเป็นเหยื่อของนายหน้าสองคน ตอนนี้ นายหน้าถูกดำเนินคดีค้ามนุษย์ ส่วนหญิงทั้ง 21 คน เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการเพื่อส่งตัวกลับบ้านหลังจากได้สอบถามข้อมูล" เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียคนดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยชื่อของผู้ต้องหาทั้งสอง ในขณะเดียวกันทางเอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซีย กล่าวว่า ทางการมาเลเซียจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าเยี่ยมทั้ง 21 คนในวันอังคารนี้
“ทางกงสุลในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย จะได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมหญิงไทยทั้ง 21 คน ที่บ้านพักฉุกเฉินสตรีในรัฐยะโฮร์ ในวันอังคารที่ 15 พ.ย. นี้ และจะประสานหาทางช่วยเหลือ โดยขอให้ทางการมาเลเซียเร่งรัดการดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งหมดจะได้เดินทางกลับประเทศไทย” นายดำรงค์ ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูตไทย กล่าว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
นายดำรงค์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในขณะนี้ มีคนไทยในบ้านพักฉุกเฉินสตรีในรัฐยะโฮร์ 42 คน แต่ไม่มีรายละเอียดที่เกิดขึ้นกับหญิงรายอื่นๆ นอกเหนือจาก 21 รายนี้
แรงงาน 21 คน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในปัตตานี และยะลา เจ้าหน้าที่แรงงานในปัตตานีท่านหนึ่งกล่าวว่า ทางการมีตัวเลขแรงงานไทยแจ้งการเดินทางไปทำงานในมาเลเซียถูกกฎหมายเพียง 19 ราย ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยานี้ ในขณะเดียวกันมีการแจ้งการเดินทางไปมาเลเซียเกือบเก้าพันราย โดยไม่มีการแจ้งวัตถุประสงค์ในการเดินทาง
สำหรับรายชื่อแรงงาน มีดังนี้ 1. นางซีตีบูงอ เจะลี 2. นางเจะเนาะ แวกือจิ 3. นางเจะมือลอ เจะลี 4. นางซีพะ ดามัย 5. นางปิอะ เจะฮะ 6. นางซีตีแอเสาะ ลาเตะ 7. นางรอฮานี เปาะโซ๊ะ 8. นางมารียะ สาและ 9. นางตีเมาะ มะมิง 10. นางปีซะ ดาเหม 11. สัลลามะ สะแลแม 12. มารีเยาะ หะมะ 13. นางฮาสือนะ อาแว 14. นางดอยะ กาตีมูซอ 15. นางลิเยาะ สุหลง อายุ 81 ปี ทั้งหมดเป็นคนปัตตานี ส่วนอีกห้าคนมีภูมิลำเนาในจังหวัดยะลา ได้แก่ 16. นางสาวสะละมา บาโล 17. นางลีหม๊ะ เจะโด 18. นางกอรีเยาะ สาแม 19. น.ส.ฮามีด๊ะ สาและ 20. นางรอเมาะ เดหลำ และ คนที่ 21 ทางครอบครัวไม่ขอเปิดเผยชื่อ-นามสกุล
นายมะสุกรี เจะเหาะ ชาวตำบลตัยหยงดาลอ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี สามีของนางซิติอาชิเสาะ ลาเต๊ะ หนึ่งใน 21 คนที่ถูกควบคุมตัว กล่าวว่า นายหน้าบอกว่า ทั้งหมด 21 คน ต้องนำเงินให้กับเขาคนละ 2 หมื่นบาท เพื่อไปดำเนินการช่วยเหลือแรงงานทั้ง 21 คนออกมา รวมเป็นเงินทั้งหมดสี่แสนสองหมื่นบาท แต่ไม่มีใครจ่าย
“ผมมีลูกห้าคน ลูกคนเล็กอายุ 2 ปี ทุกวันนี้ ร้องเรียกหาแม่ทุกวัน เพราะภรรยาตั้งใจจะไปหาเงินไม่นานจะกลับมา นำเงินส่งเสียลูกเรียนหนังสือ ทุกวันนี้ อยู่ที่บ้านงานหายาก ประกอบกับมีคนมาชวนไปทำงานก็เลยตัดสินใจไป” นายมะสุกรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้
ทางด้านนายมามะสาดี สุหลง ลูกชายนางฮามีดะห์ สาและ ชาวจังหวัดยะลา หนึ่งในหญิงสูงอายุ 21 ราย กล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มารดาของตน ได้รับการชักชวนจากนายหน้าให้ไปทำงานขายข้าวเกรียบที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย โดยไปรวมกันทั้งหมด 21 คน เดินทางโดยรถกระบะ 2 คัน ผ่านทางด่านนอก อำเภอสะเดา สงขลา เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา แล้วก็ติดต่อไม่ได้
นางซง (ไม่เปิดเผยนามสกุล) ชาวอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า นักค้าแรงงานจะทำการหลอกลวงชาวบ้านกันอย่างเป็นขบวนการ โดยจะแต่งกายอวดความร่ำรวยว่า ตนเพิ่งกลับจากต่างประเทศและมีเงินทอง เพื่อที่จะหลอกผู้สูงอายุ เพื่อไปทำงานขอทานในมาเลเซีย โดยอ้างว่าจะให้ไปทำงานขายข้าวเกรียบ