บีอาร์เอ็น : มาเลเซียเป็นเจ้าภาพการพูดคุยฯ ร่วมกับไทย แม้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ณิชา เดวิด และมารียัม อัฮหมัด
2020.03.02
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี
200302-TH-MY-peace-talks-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับอาวุธที่ยึดมาจากผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบห้าคน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวิสามัญ ในนราธิวาส วันที่ 23 ก.พ. 2563
เอเอฟพี

ประเทศมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการการพูดคุยสันติสุขในสัปดาห์นี้ ระหว่างประเทศไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเลเซีย ในกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ตาม สำนักข่าวของมาเลเซียรายงาน ในวันจันทร์ อ้างแหล่งข่าวจากกลุ่มก่อความไม่สงบ

นายอับดุลราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เขาจะบรีฟ นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย ภายในสองสัปดาห์หน้านี้ เกี่ยวกับความพยายามที่จะยุติการก่อความไม่สงบของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

นายอับดุลราฮิม จะอำนวยความสะดวกในการพูดคุยฯ รอบที่สองโดยตรง ระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทย และบีอาร์เอ็น ในวันพุธที่ 4 มีนาคม แหล่งข่าวจากบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) บอกกับสำนักข่าวเบอร์นามา ของมาเลเซีย

“ตอนนี้ ทุกคนอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และกำลังเตรียมการการพูดคุยฯ ครั้งนี้” แหล่งข่าวกล่าวในรายงานของเบอร์นามา ซึ่งกล่าวว่า เป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นการพูดคุยฯ ที่ “ทั้งสองฝ่ายจะมีการเสนอแผนข้อแนะนำระยะยาวเพื่อสันติสุข ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย”

โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการพบพูดคุยกันครั้งแรก ในกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปลายเดือนมกราคม ซึ่งในวันต่อมา หัวหน้าตัวแทนคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เอ่ยเมื่อวันที่ 21 มกราคม ว่าเขาได้มีการพูดคุยโดยตรงกับ กลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบที่ใหญ่และมีพลังที่สุด ในจังหวัดชายแดนใต้

การประกาศดังกล่าว เป็นเสมือนการตัดองค์กรมาราปาตานี กลุ่มที่เป็นตัวแทนกลุ่มกบฏภาคใต้ทั้งหลายออก หลังจากที่ร่วมดำเนินการ ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับทางการไทย มาเป็นเวลาห้าปีก่อนหน้านี้

นับตั้งแต่การก่อความไม่สงบ ในปี 2547 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 ราย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และพูดภาษามลายู ทั้งเป็นพรมแดนติดกับมาเลเซีย

ในกัวลาลัมเปอร์ นายอับดุลราฮิม ตอบเบนาร์นิวส์ เมื่อถูกถามว่า การเจรจาจะดำเนินการต่อในวันจันทร์หรือไม่ เพราะแหล่งข่าวของมาราปาตานี เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้

“อันที่จริง นี่เป็นการตัดสินใจของเรา ที่เราจะไม่เปิดเผยพัฒนาการ หรือความก้าวหน้าของการพูดคุยฯ โดยเมื่อไรที่เรามี ข้อตกลงความเข้าใจร่วมกัน พบวิธีแก้ไขปัญหา [ความขัดแย้ง] เมื่อนั้นเราจึงจะออกแถลงการณ์" นายอับดุลราฮิม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในวันจันทร์นี้

เขากล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายคู่เจรจา “ไม่ต้องการประกาศในสาธารณะ” เกี่ยวกับการพูดคุยฯ เพื่อหลีกเลี่ยงความคาดหวังของสาธารณชน ในกระบวนการการพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบใหม่นี้

เมื่อถูกถามว่า เมื่อใดที่สามารถออกแถลงการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับการพูดคุยฯ ได้ เขาตอบว่า “เมื่อเราบรรลุสันติภาพขั้นพื้นฐาน”

“นั่นคือ ความปรารถนาของทั้งสองฝ่าย ขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลา และความเร็วเพียงใด ที่พวกเขาจะสามารถตกลงสร้างสันติสุข ซึ่งกันและกัน ยิ่งเร็วยิ่งดี” ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย บอกเบนาร์นิวส์

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในขณะนั้น ได้แต่งตั้ง นายอับดุลราฮิม นูร์ อดีตหัวหน้าตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ในการเจรจาสันติสุขของจังหวัดชายแดนใต้ไทย

พรรครัฐบาลพันธมิตร ปากาตัน ฮาราปัน ของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ล่มลง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อนายมาหเธร์ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลนายมหาเธร์ ซึ่งเป็นแกนนำพรรคเบอร์ซาตู พรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในสุดสัปดาห์สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย

“สำหรับมาเลเซีย เราหวังว่า ความขัดแย้ง [ในชายแดนภาคใต้] จะสิ้นสุด ในสมัยรัฐบาลนายมหาเธร์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้เขาลาออกแล้ว ตอนนี้เราก็มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่… ฉันจะพบในอีกหนึ่งหรือสองสัปดาห์หน้า เพื่อบรีฟเขา” นายอับดุลราฮิมกล่าว

แหล่งข่าวใกล้ชิดคณะพูดคุยฯ ในกรุงเทพฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า พลเอกวัลลภ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย ไม่ได้ไปกัวลาลัมเปอร์ใ นวันจันทร์นี้ แต่เดินทางไปต่างจังหวัด เมื่อช่วงกลางวัน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า เขาหวังว่า ตัวแทนคณะพูดคุยฯ ของเขา จะมีการพูดคุยฯ ครั้งที่สอง กับตัวแทนของบีอาร์เอ็น ในกัวลาลัมเปอร์ ช่วงต้นเดือนมีนาคม

ในวันจันทร์นี้ เบนาร์นิวส์ยังได้พูดคุยกับหนึ่งในสมาชิกขององค์กรมาราปาตานี ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มพูโล (Patani United Liberation Organization - PULO) หนึ่งในกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในจังหวัดชายแดนใต้

“เริ่มแรกเลย ฉันก็ไม่รู้ว่าจะมีการพูดคุยฯ ในวันนี้หรือไม่ แต่ขอยืนยันว่า ฉันสนับสนุนการพูดคุยฯ อย่างเต็มที่ สนับสนุนการพูดคุยฯ ทุกครั้ง สำหรับครั้งนี้ อยากขอย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่ม จัดลำดับให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตั้งแต่ต้น” กัสตูรี มาห์โกตา กล่าว

“เพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวเหมือนในอดีต ฉันจะไม่พูดมากเกินไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะกระบวนการเพิ่งเริ่มขึ้น” นายกัสตูรีกล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง