คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ-บีอาร์เอ็น เริ่มแตะหัวข้อการสร้างสันติภาพ
2020.03.04
ปัตตานี

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีแถลงการณ์ในวันพุธนี้ว่า ทางคณะฯ ได้พบปะกับคณะพูดคุยของขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมานี้ โดยตัวแทนทั้งสองฝ่าย ได้เน้นถึงเรื่องการประสานงานและการบริหารจัดการกระบวนการพูดคุย รวมทั้งเริ่มพูดคุยใจความสำคัญของเรื่องการสร้างสันติภาพและการลดความรุนแรงอีกด้วย
ตามเอกสารแถลงข่าวแจกที่ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ได้รับจาก สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทางคณะฯ ได้ระบุว่า พลเอก วัลลภ รักเสนาะ ได้นำคณะฝ่ายไทย พูดคุยกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรืออีกชื่อที่ใช้คือ นายฮีพนี มะเร๊ะ) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ครั้งที่สอง โดยมี ตันสรี อัลดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก
“บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยได้พูดคุยในเรื่องการประสานงาน และการบริหารจัดการกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อกระบวนการพูดคุยด้วย ซึ่งการพูดคุยประเด็นสารัตถะ คงจะต้องอาศัยเวลาความต่อเนื่อง และแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
“ทั้งนี้ คณะพูดคุยจะยึดมั่นแนวทางสันติวิธี และใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ในโอกาสต่อไป” แถลงการณ์กล่าว
ด้านนายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย กล่าวว่า การพูดคุยจะมีจนกว่าจะเกิดสันติภาพ
“ทางการไทยกับทางกบฏมุสลิมไทย (Thai Muslim rebels) ได้พบปะกันจริง ในกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 2 และ 3 มีนาคมนี้ เพื่อยุติความรุนแรงในภาคใต้ของไทย การประชุมกันจะมีอีกในอนาคต จนกว่าจะประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพ” นายอับดุล ราฮิม นูร์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ในมาเลเซียเพียงสั้น ๆ
และเมื่อวันจันทร์ นายอับดุล ราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ว่า เขาจะบรีฟ นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย ภายในสองสัปดาห์หน้านี้ เกี่ยวกับความพยายามที่จะยุติการก่อความไม่สงบของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก่อก่อความไม่สงบมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ได้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยแล้วกว่า 7,000 ราย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีเชื้อชาติมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม
ส่วนในปีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 จากการรายงานเหตุของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภาค 9 มีการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ทั้งหมด ทั้งเหตุยิงและระเบิด จำนวนรวม 30 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 24 ราย ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตจำนวน 7 ราย และเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 28 นาย
ด้าน นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ให้ทัศนะแก่เบนาร์นิวส์ว่า การพูดคุยในรอบนี้ น่าจะมีความหวังมากกว่าที่ผ่านมา
“ผมมองว่าการพูดคุยสันติสุขรอบนี้ พอมีความหวังอยู่บ้าง ที่จะทำอย่างไรให้พื้นที่สามจังหวัดเกิดความสันติสุขขึ้น ในขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง” นายรักชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
"อีกอย่างที่คนในพื้นที่ก็ตั้งความหวังสำหรับการพูดคุยสันติสุข คือ ทำอย่างไรให้เหตุการณ์ในพื้นที่สงบได้จริง ๆ จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงกับประชาชน สมมุติว่าข้อตกลงนี้ทำได้จริง ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี หลังจากนั้นแล้วการคุยเรื่องอื่นมันง่ายขึ้น อย่างเรื่องการปกครอง หากไม่ทำให้พื้นที่สงบ ปราศจากเหตุรุนแรง คนในพื้นที่ก็จะไม่มั่นใจในมิติของการพูดคุยสันติสุข" นายรักชาติ กล่าวและเพิ่มเติมว่า "ทางรัฐบาลไทยควรเปิดเผย และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้าใจกลไกของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขให้มากยิ่งขึ้น"
นานี ยูโซฟ ในวอชิงตัน มีส่วนร่วมในการรายงาน