มหาเธร์: รัฐบาลมาเลเซียจะยังคงบทบาทตัวกลางหนุนการพูดคุยต่อไป

ฮาดี อัซมี
2018.06.25
กัวลาลัมเปอร์
180625-MY-TH-peace-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์ จังหวัดปัตตานี วันที่ 27 ก.พ. 2559
เอพี

รัฐบาลใหม่ประเทศมาเลเซียภายใต้การนำของ ด็อกเตอร์ มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันในวันจันทร์นี้ว่า จะยังรับบทบาทในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา ระหว่างประเทศไทย และองค์กรมาราปาตานีต่อไป แต่อาจจะมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการหน่วยงานที่เป็นตัวประสานงาน

ในปี 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามดำเนินการเจรจากับฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดน โดยการสนับสนุนของรัฐบาลของนายนาจิบ ราซัค ในขณะนั้น โดยมาเลเซียรับเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาให้กับทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายขบวนการส่วนหนึ่ง ได้ก่อตั้งองค์กรร่มขึ้นมาชื่อว่า มาราปาตานี เพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยมี ดาโต๊ะ ซัมซามิน เป็นผู้ดูแลผ่านทางสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group-Peace Dialogue Process - JWG-PDP) ซึ่งการเจรจาได้สะดุดลงเป็นช่วงๆ

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อพรรคการเมืองพันธมิตรฝ่ายค้านมาเลเซีย หรือปากาตัน ฮารัปปัน ของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด เอาชนะพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ไปได้อย่างถล่มทลาย ทำให้โฆษกของฝ่ายมาราปาตานี เกิดความกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมา

ในระหว่างการแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ได้สอบถาม นายมหาเธร์ว่า รัฐบาลของเขาจะยังคงพยายามทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุข ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยหรือไม่ ซึ่ง นายมหาเธร์ ตอบว่า "ใช่ ... ใช่ เรายังเป็น"

เบนาร์นิวส์ได้ถาม นายมหาเธร์ หลังจากการแถลงข่าวว่า เขาจะแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ในการพูดคุยหรือไม่

“เราจะประกาศในภายหลัง” มหาเธร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ทางการทั้งมาเลเซีย ไทย และอื่นๆ บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขนี้ กำลังรอคอยอย่างกระวนกระวาย เพื่อดูความเคลื่อนไหวของมาเลเซีย ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปกับกระบวนการพูดคุยอย่างไร

“หลายคนเชื่อว่า หลังการเปลี่ยนรัฐบาลในมาเลเซียเมื่อเดือนที่แล้ว จะมีการเปลี่ยนตัวนายอาหมัด ซัมซามิน บิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน นายซัมซามินถูกมองว่ามีความใกล้ชิดเกินไปกับนายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย” จากบทวิเคราะห์ของ ดอน ปาทาน วันที่ 4 มิถุนายน

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมนี้ นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม โฆษกองค์กรมาราปาตานี ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “การเจรจาถึงทางแยกอีกครั้ง” โดยกล่าวว่า ในเดือนกันยายน 2556 คณะกรรมการทางเทคนิคร่วมของสองฝ่าย ได้ตกลงในเงื่อนไข (ทีโออาร์) ในการจะจัดตั้งเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและได้มีการพูดคุยกันมา สิบเก้าเดือนหลังจากนั้น ได้มีการบรรลุกรอบทั่วไปในการตั้งพื้นที่ปลอดภัย การจัดตั้งเซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ ซึ่งรวมเงื่อนไขการปล่อยตัว “นักโทษการเมืองชาวมลายูด้วย

อย่างไรก็ตาม นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวว่า จัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยที่ฝ่ายไทยระบุว่าจะมีขึ้นที่อำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส นั้น จำเป็นต้องยืดเวลาออกไป เพราะว่าคณะกรรมการทางเทคนิคฝ่ายไทย ปฏิเสธการลงนามในเอกสารข้อตกลงในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าการเจรจายังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร

ก่อนที่จะมีการหารือระหว่างรัฐบาลทหารของไทย และองค์กรมาราปาตานีนั้น รัฐบาลมาเลเซียก็ได้เคยเป็นตัวกลางผู้อำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยมีขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ กลุ่มบีอาร์เอ็น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุด ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยด้วยเช่นกัน แต่การเจรจาได้สะดุดลง ในเดือนธันวาคม ปี 2556

และ นายมหาเธร์ สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียครั้งก่อนหน้า ห้วงในปีพ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2546 และกองทัพไทย ได้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ตามคำขอจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในขณะนั้น หากรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ถูกกันออกจากการดำเนินการเจรจาในครั้งนั้น" แซคคารี อาบูซา นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขา ในปี 2559 ที่ชื่อว่า "สันติภาพที่ถูกบิดเบือน ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์: การก่อความไม่สงบ กระบวนสันติภาพ และการประนีประนอม"

บทความตอนหนึ่งของ ดอน ปาทาน ยังได้เขียนว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การเจรจาสันติสุขระหว่างไทยกับองค์กรร่ม ที่เป็นตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัตตานีมลายู ยังคงหยุดนิ่ง เพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรู้สึกถูกดูแคลน เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยชื่อของ อำเภอเจาะไอร้อง ที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ก่อนเวลา

กลุ่มมาราปาตานีรู้สึกถูกดูหมิ่นดูแคลน เนื่องจากพวกเขาคาดว่า จะมีการประกาศชื่อพื้นที่ปลอดภัยที่เลือกเป็นโครงการนำร่องอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าเป็น "ความก้าวหน้า" ของการทำงานร่วมกันในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง