ประเทศไทยตกลงส่งผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์สิบรายให้แก่มาเลเซีย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ ฮาตา วาฮาริ
2016.08.30
กรุงเทพฯ และ กัวลาลัมเปอร์
MY-TH-trafficking-1000 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (ซ้าย) และ อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซีย (ขวา) ในปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559
[เอื้อเฟื้อภาพโดย กระทรวงกลาโหม มาเลเซีย]

ประเทศไทยยืนยัน ในวันอังคารว่า ไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการประสาน ตามคำขอของประเทศมาเลเซีย ให้มีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยสิบรายข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากพบว่า มีความเชื่อมโยงกับคดีการค้นพบหลุมฝังศพ ที่ค่ายกักกันค้ามนุษย์ทางภาคเหนือของมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2558

ในวันอังคารนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ไทยตกลงที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอ หากทุกอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดทางกฎหมาย

“ถ้ามันไม่ติดขัดอะไร เขาก็จะส่งให้ธรรมดา 10 คนเนี่ย เขากำลังดูอยู่ ผมกำลังให้ ตม. และตำรวจเขาดูอยู่ ว่าอยู่ในขั้นไหน ถ้าส่งได้ส่งเลย” พลเอก ประวิตรกล่าวกับผู้สื่อข่าว ในกรุงเทพฯ

สัญชาติของผู้ต้องสงสัยไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ในขณะนี้

เมื่อวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของมาเลเซีย นายนอร์ซิฮัน ทามดิ เจ้าหน้าที่พิเศษติดตาม อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มาเลเซีย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า พวกเขาถือสัญชาติไทย

ด้าน นายซาฮิด ได้เปิดเผยว่า ข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มีขึ้นหลังการประชุมทวิภาคี ระหว่างพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีการเยือนประเทศมาเลเซีย ในวันจันทร์ที่ผ่านมา

เขายังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ไทยในกรุงเทพฯ ช่วงต้นเดือนสิงหาคมว่า ต้องการขอตัวผู้ต้องสงสัยจำนวน 10 ราย ที่มีอายุระหว่าง 35 ถึง 60 ปี ที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ที่มีการค้นพบหลุมฝังศพ ในวังเคเลียน ทางตอนเหนือของรัฐปะลิส เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

"ผมส่งรายชื่อไปและวันนี้ทางการไทยแจ้งทางเราว่า ได้มีการประสานตามคำร้องขอของมาเลเซีย ซึ่งเราจะทำการควบคุมตัวทันทีที่ประเทศไทยส่งมา" เขากล่าวแก่ สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซีย ขณะให้สัมภาษณ์

"พวกนั้นจะต้องถูกส่งตัวข้ามแดนมา เพื่อที่จะสามารถดำเนินคดีตามกฎหมาย เราไม่ต้องการให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าเป็นเพียงคดีของมาเลเซียเท่านั้น หากแต่นี่เป็นคดีอาชญากรรมข้ามชาติ"

"อย่างไรก็ตาม การส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องผ่านหลายขั้นตอนเช่นเดียวกับขั้นตอนทางกฎหมาย และจะต้องเป็นไปตาม การส่งนักโทษระหว่างประเทศ"

“ผู้ต้องสงสัยบางจำนวนใน 10 ราย ดังกล่าว ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวอยู่แล้ว” ซาฮิดเพิ่มเติม

สามรายถูกตัดสินจำคุก

อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม – กล่าวเสริมว่า มาเลเซียยังต้องการความร่วมมือจากไทย ในการระบุบุคคลที่มีสองสัญชาติ ซึ่งทางการมาเลเซียได้ขอข้อมูลรอยนิ้วมือหรือไบโอเมตริกซ์ จากประเทศไทย เพื่อบ่งชี้ให้แน่ชัดและเป็นหลักประกัน หากบุคคลเหล่านั้นมีการถือสัญชาติไทย-มาเลย์

ในเดือนพฤษภาคมปี 2558 ทางการมาเลเซียได้ค้นพบหลุมฝังศพ 139 หลุม มี 106 ศพ ที่ถูกทิ้งร้างในค่ายลักลอบค้ามนุษย์ในบูกิต เกนติ้งเปรา และบูกิต วังเบอร์มา ซึ่งอยู่ห่างจาก ชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียงไม่กี่ร้อยเมตร ใกล้เมือง ในพื้นที่วังเคเลียน

ในเดือนเดียวกันนั้น ยังได้ขุดพบอีก 36 ศพ ในค่ายฯ ที่คล้ายกัน ในเขตพรมแดนไทย

หลังจาก การค้นพบหลุมศพดังกล่าว ประเทศไทยได้ประกาศปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ ที่ก่อให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรม โดยหลังจากนั้น พบกลุ่มชาวโรฮิงญาร่วม 3,000 คน จากประเทศพม่าและบังคลาเทศ ที่ผู้ลักลอบขนคนได้ทอดทิ้งพวกเขาอยู่กลางทะเล จนต้องถูกนำมาขึ้นฝั่งในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียต่อมา

มีผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ จำนวนทั้งสิ้น 103 คน (รวมถึง นายทหารระดับสูง) ที่ถูกดำเนินคดี มีส่วนหนึ่งถูก "สอบสวนก่อนฟ้อง" สมพร มูสิกะ ทนายความที่เกี่ยวข้องในการทำคดีค้ามนุษย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี (TIP) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้จัดให้มาเลเซียอยู่อันดับ 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) เป็นหนึ่งระดับ ที่ถัดขึ้นมาจากอันดับ 3 ต่ำสุด ส่วนประเทศไทย ในปีนี้ถูกปรับขึ้นมาที่อันดับ 2 เฝ้าระวัง จากอันดับ 3

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง