องค์การความร่วมมืออิสลามขานรับการพูดคุยสันติสุขของรัฐและ“กลุ่มตัวแทนมุสลิมภาคใต้”

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.04.18
ปัตตานี
TH-OIC-peace-1000 นายอิยาด อามีน อาดานี เลขาธิการโอไอซี ร่วมเสวนาความเชื่อทางศาสนาและการอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559
เบนาร์นิวส์

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมานี้ องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation – OIC) ได้ออกแถลงการณ์ ขานรับต่อการจัดตั้งกลุ่มตัวแทนชาวมุสลิมในภาคใต้ และการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพของรัฐบาลไทยภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย

การประชุมสุดยอดโอไอซีครั้งที่ 13 ได้จัดให้มีขึ้นในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในระหว่างวันที่ 10 ถึง 15 เมษายน นี้ โดยหลังสิ้นสุดการประชุม โอไอซี ได้ออกแถลงการณ์ มีการกล่าวถึงผลการเดินทางมาเยือนประเทศไทยและมาเลเซีย ของเลขาธิการโอไอซี นายอิยาด อามีน อาดานี ในเดือนมกราคม ศกนี้ด้วย ทั้งนี้ แถลงการณ์ของโอไอซี ไม่ได้ใช้ชื่อทางการของกลุ่มเจรจาของฝ่ายกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐว่า “มาราปาตานี” แต่กลับใช้คำว่า “กลุ่มตัวแทนมุสลิมภาคใต้” แทน

ในแถลงการณ์ที่มีหัวข้อทั้งสิ้น 218 ข้อ สมาชิกกลุ่มโอไอซี กล่าวว่า ที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมความพยายามของเลขาธิการโอไอซี ที่ในระหว่างการเดินทางไปยังราชอาณาจักรไทย ได้ติดตามสถานการณ์ชาวมุสลิมในจังหวัดภาคใต้

“ที่ประชุมขานรับการจัดตั้งกลุ่มตัวแทนชุมชนมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ และการตัดสินใจเดินหน้ากระบวนการสันติภาพของรัฐบาลไทยภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย” โอไอซีกล่าวในแถลงการณ์

“นอกจากนี้ โอไอซียังเรียกร้องให้กลุ่มตัวแทนชุมชนมุสลิมดังกล่าว เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และร่วมมือทำงานด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อรับประกันว่ากระบวนการสันติภาพ จะได้รับการยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับการตระหนักถึงสันติภาพ ความสามัคคี และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย” เนื้อหาของแถลงการณ์ท่อนหนึ่งกล่าว

ขณะเดียวกัน โอไอซี เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางของสมาชิกกลุ่มดังกล่าวนี้ และคุ้มครองไม่ให้พวกเขาถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีระหว่างเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ

ทัศนะนักวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์อิสระ สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ ให้ทัศนะว่า ความพยายามของประเทศไทยในการเดินหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้ทำให้องค์การความร่วมมืออิสลาม มองประเทศไทยในทางบวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับในก่อนหน้านี้ แต่รัฐบาลจำเป็นจะต้องยอมรับสถานะของมาราปาตานี ในฐานะคู่สนทนาในเวทีการพูดคุยเพื่อสันติสุข

“การเปิดการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ทำให้โอไอซีเริ่มมองท่าทีในการจัดการปัญหาภาคใต้ของรัฐไทยในเชิงบวกมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ โอไอซีมีท่าทีไม่ค่อยพอใจต่อการจัดการปัญหาในภาคใต้ของไทย” รุ่งรวี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้

“แต่รัฐบาลจำเป็นจะต้องยอมรับสถานะของมาราปาตานี ในฐานะคู่สนทนาในเวทีการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวแทนของมาราปาตานีจะได้รับการคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีในระหว่างการพูดคุย หากต้องการที่จะเดินหน้าไปสู่การเจรจาเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน” รุ่งรวี กล่าวเพิ่มเติม

“ขณะนี้ ท่าทีของรัฐบาลไทยยังคงครึ่งๆ กลางๆ ด้านหนึ่ง ก็อยากจะยุติความรุนแรงด้วยการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกรงว่าการยอมรับสถานะของมาราปาตานีจะเป็นการ “ยกระดับ” ขบวนการในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ” รุ่งรวีกล่าว

“หากเรามองดูการแก้ไขปัญหาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ ก็จะเห็นว่าการยอมรับการดำรงอยู่ของขบวนการชาตินิยมติดอาวุธ ไม่ได้ทำให้รัฐบาลอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบแต่อย่างใด”

นอกจากนี้ รุ่งรวี กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของการพูดคุยสันติภาพนั้น เกี่ยวพันโดยตรงกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในส่วนกลาง โดยเฉพาะเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะว่าการพูดคุยจำเป็นจะต้องอ้างอิงถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศ เมื่อยังมีการถกเถียงเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่ การพูดคุยในเชิงเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะคงจะยังไม่สามารถดำเนินไปได้ การพูดคุยในช่วงนี้ ก็จะยังคงต้องเน้นเรื่องมาตรการการสร้างความไว้วางใจกันไปก่อน

ล่าสุด พลโทนักรบ บุญบัวทอง ได้กล่าวว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้ดำเนินมาถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายร่างข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ (Terms of Reference – TOR) และจะมีการประชุมของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและมาราปาตานี ในปลายเดือนนี้ ซึ่งอาจจะมีการลงนามเห็นชอบในทีโออาร์ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการทำโร๊ดแมพต่อไป

ทางด้าน ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า "มาราฯ เองมั่นใจหรือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนจริง? ทุกวันนี้ในพื้นที่ก็ยังมีคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ และคนที่ไม่ยอมรับก็เยอะ เพราะกลุ่มในพื้นที่ก็มีหลายกลุ่ม”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง