กลุ่มผู้เห็นต่างยืนยันจะพูดคุยสันติสุข แม้จะเกิดความแตกแยกในกลุ่มบีอาร์เอ็น

ฮาตา วาฮารี
2015.10.14
151014-MY-TH-kasturi-1000.jpg พ.อ. กัสตูรี มาห์โกตา ผู้แทนจากกลุ่มพูโล เอ็มเคพี หนึ่งในคณะผู้แทนเจรจาของมาราปาตานี (MARA Patani – Majis Syura Patani) ในงานแถลงข่าว ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 27 ส.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

ความแตกแยกที่เห็นได้ชัดภายในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งในภาคใต้ของไทย จะไม่หยุดยั้งองค์กรร่มซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม จากการพูดคุยเพื่อสันติต่อไปกับรัฐบาล ผู้นำระดับสูงคนหนึ่งของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันพุธ

“กลุ่มมารา ปาตานี จะดำเนินการเจรจาต่อไป และจะทำให้แน่ใจว่าการเจรจาดังกล่าวจะเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้” พ.อ. กัสตูรี มาห์โกตา ผู้นำคนหนึ่งขององค์กรปลดปล่อยปาตานี (PULO) กล่าวในการตอบคำถามที่ส่งมาทางอีเมล

เขาหมายถึงองค์กรร่มที่ได้พบปะกันอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ของไทยในประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนหลายครั้งในปีนี้ เพื่อพยายามเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้นอีกเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยเป้าหมายการเจรจาอยู่ที่การยุติความขัดแย้งเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนที่มีมานานในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

กัสตูรี เป็นโฆษกของกลุ่มมารา ปาตานี

เขากล่าวว่า การเจรจาจะดำเนินต่อไป แม้กระบวนการสันติภาพในปัจจุบันจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มแยกของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ก็ตาม กลุ่มนี้ส่งตัวแทนเป็นผู้นำระดับอาวุโสจำนวนสามคนเข้าร่วมในกลุ่มมารา ปาตานี อันได้แก่ อาวัง ญาบัต, สุกรี ฮารี และอาหมัด ชูโว

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ไม่สามารถติดต่อบุคคลทั้งสามเพื่อขอความคิดเห็นได้

“โดยส่วนตัวแล้ว สิ่งที่ได้เกิดขึ้นภายในบีอาร์เอ็น นั่นคือ คนที่เห็นด้วยและต่อต้านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ถือเป็นเรื่องปกติ" กัสตูรีบอกแก่เบนาร์นิวส์ “หากเป็นพระประสงค์ของอัลเลาะห์แล้ว มันก็จะพบทางแก้ไขในอนาคตอันใกล้ และจะไม่ส่งผลต่อการพูดคุยเพื่อสันติใด ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่”

ผู้แทนเจ็ดคนของกลุ่มมารา ปาตานี และองค์กรของผู้แทนเหล่านั้น “มีความมุ่งมั่นอย่างสูง” ต่อความพยายามในปัจจุบันเพื่อสันติ เขากล่าว

องค์กรร่มกลุ่มนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นแนวร่วมของกลุ่มต่าง ๆ ในการเจรจากับรัฐบาล เพื่อระงับความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามาเลย์ การต่อสู้และความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 6,000 คนแล้ว นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

กลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งเปิดตัวต่อสื่อมวลชนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น, กลุ่ม Gerakan Mujahideen Islami Patani (GMIP) และ Barisan Islam Pembebasan Patani (BIPP) ตลอดจนกลุ่มแยกอีกสองกลุ่มของ PULO สำหรับ PULO P4 ซึ่งเป็นกลุ่มแยกกลุ่มที่สามของ PULO ได้ถอนตัวจากองค์กรร่มดังกล่าว หลังจากเข้าร่วมในการเจรจาลับก่อนหน้านี้กับเจ้าหน้าที่ของไทย

บนโต๊ะเจรจา

ทว่า รัฐบาลไทยไม่ได้แจ้งให้กลุ่มมารา ปาตานี ทราบเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเริ่มการพูดคุยเพื่อสันติอีกครั้งในเดือนหน้า กัสตูรีกล่าว

เมื่อวันจันทร์ พล.ท. นักรบ บุญบัวทอง เลขาธิการคณะเจรจาของรัฐบาลทหารของไทย บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า การพูดคุยเพื่อสันติจะดำเนินต่อไป และเขาคาดว่าจะมี “การพูดคุยอย่างเป็นทางการภายในกลางเดือนพฤศจิกายน”

“ก่อนหน้านี้ เราอาจมีการพูดคุยรอบเล็ก ๆ กัน ทุกอย่างจะอยู่บนโต๊ะเจรจา” เขากล่าว

ทั้งกัสตูรี และพล.ท. นักรบ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับความกังขาในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งกลุ่มแยกกลุ่มหนึ่งของบีอาร์เอ็นพูดออกมาก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์นี้เอง

การแสวงหา สันติภาพอย่างมีศักดิ์ศรี

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. แถลงการณ์ยาวสี่หน้าฉบับหนึ่งที่ออกบนหัวจดหมายของกลุ่มบีอาร์เอ็น โดย “แผนกสารสนเทศ” ของบีอาร์เอ็น ดูเหมือนว่าจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับกระบวนการใหม่เพื่อสันติ แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อกลุ่มมารา ปาตานี

ในแถลงการณ์ฉบับนี้ กลุ่มแยกกลุ่มนี้ต้องการให้มีผู้ไกล่เกลี่ยจากนานาประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อสันตินี้ด้วย และให้ไทยยอมรับอธิปไตยของ "ปาตานี"

ความต้องการประการหลังนี้ทำขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว โดยฮัสซัน บิน ตอยิบ และอับดุล การิม คาลิบ ผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้แทนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติรอบสุดท้าย การพูดคุยดังกล่าวหยุดลงหลังจากข้อเรียกร้องของกลุ่มนี้ถูกเผยแพร่ในวิดีโอยูทูป เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ชายทั้งสองไม่ได้อยู่ในกลุ่มมารา ปาตานี

“บีอาร์เอ็นเตรียมพร้อมที่จะบรรลุสันติภาพด้วยวิธีที่สันติ อย่างไรก็ตาม ในการแสวงหาสันติภาพ กระบวนการเพื่อสันติต้องมีศักดิ์ศรีและจริงใจ” แถลงการณ์ของกลุ่มแยกนี้กล่าว

“ไม่ใช่กระบวนการเพื่อสันติที่ใช้เป็นเล่ห์ทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง เพื่อหลอกลวงและทำลายกลยุทธ์ของความก้าวหน้าของคนปาตานี-มาเลย์” แถลงการณ์นั้นกล่าวเสริม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง