เลขาธิการโอไอซี: การกระจายข้อมูลข่าวสารยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้มีการเข้าใจผิดกันได้ง่ายขึ้น
2016.01.11

ในวันจันทร์ (11 ม.ค. 2559) นี้ ที่โรงแรมอนันตรา สยาม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ กรุงเทพ สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมอิสลาม จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “การเสวนาระหว่างความเชื่อ และการอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและวัฒนธรรม ให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันโดยสันติ
นายอิยาด อามีน มาดานี เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) เข้าร่วมการเสวนาในฐานะแขกรับเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่มีความขัดแย้งต่างๆ เกี่ยวกับศรัทธาและความเชื่อในแต่ละสังคม
“เนื่องจากเราอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยโลกาภิวัฒน์ทำให้ระยะเวลาและระยะทางในการติดต่อสื่อสารกันลดลง กลายเป็นความท้าทายในการกระจายข้อมูลความรู้ รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันได้ง่าย จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความตึงเครียด เห็นได้จากการมองศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สุดโต่ง ถือเป็นการมองที่มีอคติ” นายอิยาด อามีน มาดานี กล่าว
ประชุมลับกับองค์กรมารา ปาตานี
ก่อนที่ นายอิยาด อามีน มาดานี เลขาธิการโอไอซี จะเดินทางมากรุงเทพฯนั้น เขาได้มีการประชุมลับกับกลุ่มมารา ปาตานีอย่างไม่เป็นทางการ ที่กรุงกัวลาร์ลัมเปอร์ ในวันอาทิตย์ (10 ม.ค. 2559) ที่ผ่านมา โดยมี นายอาวัง ญาบัต ประธานกลุ่มมารา ปาตานี เป็นผู้นำคณะสมาชิกกลุ่มรวม 9 คน ซึ่งรวมถึง นาย มาสุกรี ฮารี หัวหน้าทีมเจรจาของกลุ่มมารา ปาตานี เข้าพบ และกล่าวสรุปความเป็นมา ในการรวมตัวขององค์กรร่ม ตลอดจนการเปิดตัวเพื่อร่วมการพูดคุยกระบวนสันติสุขกับฝ่ายรัฐบาลไทย ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก อาบูฮาฟิส อัลฮาคิม สมาชิกอาวุโสของกลุ่มมารา ปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
อาบูฮาฟิส ยังกล่าวต่อว่า เราขอให้โอไอซีทำงานอย่างใกล้ชิดกับมาเลเซียและไทย ในการสนับสนุนกระบวนการสันติสุข การเข้าประชุมพูดคุยครั้งนี้ นับว่าเป็นผลดี ซึ่งนอกจากนั้น ยังมีตัวแทนจาก 5 องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม จากจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมประชุมตามคำขอของโอไอซีอีกด้วย
หากแต่ไม่มีการแถลงข่าว เนื่องจากเป็นการประชุมลับ อย่างไม่เป็นทางการ และเลขาธิการ นายอิยาด อามีน มาดานี ต้องออกเดินทางมากรุงเทพฯในช่วงเย็นวันนั้น
พ.อ. กัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล เอ็มเคพี อีกหนึ่งสมาชิกผู้เห็นต่าง ในกลุ่มมารา ปาตานี กล่าวเสริมแก่เบนาร์นิวส์ว่า มารา ปาตานี ได้กล่าวแก่ เลขาธิการ โอไอซี ว่า ทางกลุ่มมารา ปาตานี ได้ส่งข้อเสนอแก่รัฐบาลไทย ซึ่งรวมถึง ขอให้มีการยอมรับในองค์กรมารา ปาตานี และ ให้การพูดคุยสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ
ไทยสนับสนุนกลไกการสร้างเอกภาพของสังคม
ดร. ธีรวัฒน์ ภูมิจิตร ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กล่าวว่า “ประเทศไทยสนับสนุนกลไกและความร่วมมือในการสร้างเอกภาพของสังคม ซึ่งการเสวนาระหว่างประเทศจะทำให้เกิดความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น
“นอกจากนี้ ยังเน้นว่าการศึกษายังเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจของคนในสังคม ในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย และไม่ควรยอมให้ความรุนแรงทำลายความกลมเกลียวของผู้คน” ดร. ธีรวัฒน์ กล่าว
เช่นเดียวกับที่ ดร. ฮาลิต เอเรน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมอิสลาม (ไออาร์ซีไอซีเอ) กล่าวว่า “การอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมที่มีความหลากหลาย ควรเริ่มต้นจากการศึกษาในชั้นประถม และเชื่อว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทศวรรษที่ผ่านมาจะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ลดลง”
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่า การเข้าใจความเชื่อของศาสนาพุทธและอิสลาม ทำให้ทั้งสองศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติมานับพันปีได้ เพราะมีความเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมแนะว่า ประชาชนควรเข้าใจว่า สันติภาพหมายถึงความอดทนต่อแนวคิดที่แตกต่างกัน แต่ในทางปฏิบัติทุกคนต้องการปกป้องสิ่งที่ตนเองมี ทำให้เข้าใจผิดว่าสันติสุขหมายถึงการมีสันติสุขเพื่อตัวเอง ดังนั้นจึงควรละทิ้งอุดมคติส่วนตัวและความขัดแย้ง เพื่อให้สังคมเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง
สังคมต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ด้าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า “สังคมต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่านี้ ความขัดแย้ง เนี่องจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมเกิดจากการไม่มีส่วนร่วมในสังคม การขาดประชาธิปไตย ระบบนิติรัฐที่ล้มเหลว และความขัดแย้งนี้ ยังเป็นความท้ายที่โลกกำลังเผชิญ นอกเหนือจากภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน หรือเศรษฐกิจตกต่ำ”
อดีตเลขาธิการอาเซียนยกตัวอย่างผู้อพยพและลี้ภัยหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศมุสลิม ต้องเผชิญกับการปกครองที่ไม่ดีและความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งผลักดันให้พวกเขาออกจากมาตุภูมิเพื่อหามองอนาคตที่ดีกว่าในประเทศอื่น แต่ในการที่จะอยู่ในโลกที่มีสันติภาพและความกลมเกลียวกันได้ สังคมต้องมีความสงบสุขและความเอื้อเฟื้อ และยึดหลักเมตตาธรรม ค้ำจุนโลก