ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมปรับโครงสร้างบริหารภายใต้ กอ.รมน.
2015.08.20

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เตรียมปรับโครงสร้างของหน่วยงาน และ จะต้องมีการปรับแก้ไข พระราชบัญญัติของ ศอ.บต.เอง ตามคำสั่งของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4) ที่ต้องการให้ ศอ.บต. มาขึ้นอยู่ภายใต้การบริหารของ กอ.รมน.4 รวมถึง มีการใช้พระราชบัญญัติเดียวกัน ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2558 คณะที่ปรึกษา ศอ.บต. และหัวหน้าส่วนราชการร่วม 20 คน ได้ร่วมประชุม ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
หลังจากการประชุมร่วม กอ.รมน. ภาค 4 มีการเสนอให้ปรับโครงสร้าง ศอ.บต. และ พ.ร.บ.ให้ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. ให้ปรับตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. โดยให้ลดระดับตามความเหมาะสม หรืออาจไม่กำหนดระดับ ให้ยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ให้เป็นอำนาจของ กอ.รมน.ภาค 4 โดยให้สภาความมั่นคงจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
“อาจต้องการควบคุมงบประมาณทั้งหมด จากเดิม ศอ.บต. รับผิดชอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องให้ กอ.รมน. ภาค 4 เป็นคนทำ อย่างไรก็ดี ศอ.บต. ยังสามารถทำแผนปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่ประชุมยังให้มี สภาที่ปรึกษาการบริการและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) แต่ให้มีการปรับบทบาท อำนาจหน้าที่ลงให้ชัดเจน เช่น จากเดิม สามารถแต่งตั้งคณะทำงานมาตรวจสอบคดีที่มีการร้องเรียน ก็จะไม่สามารถทำได้แล้ว ในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ กอ.รมน. ได้มีแผนระยะยาว ที่จะยุบ ศอ.บต.” นายไชยยงค์ กล่าว
ในอดีต ศอ.บต. เคยขึ้นตรงกับ กอ.รมน. ภาค 4 สมัย นาย พระนาย สุวรรณรัตน์ เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. มี พล.อ. สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีสภาเสริมสร้างสันติสุข ทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษา มีข้าราชการระดับ 10 เป็น ผู้อำนวยการของ ศอ.บต.
นายไชยยงค์ ยังกล่าวต่อไปว่า ถ้ามองว่ายังทำประโยชน์ให้แก่ บ้านเมืองและประชาชนได้บ้าง ก็ควรยอมรับที่จะถูกปรับให้เล็กลง และขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. แต่ถ้าเห็นว่าเมื่อถูกปรับให้เล็กลง และไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็น่าจะยุบ ศอ.บต. และยกภาระหน้าที่ทั้งหมดให้แก่ กอ.รมน. ภาค 4 เพื่อให้ไม่มีการทับซ้อนกันในการทำงาน เพราะ ศอ.บต.มีต้นทุนทางสังคมสูงต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่
ส่วนตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ข้าราชการของ ศอ.บต. จะต้องมีการปรับให้เล็กลง รวมทั้งต้องมีการยุบสำนักต่างๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงาน จากเดิม ศอ.บต. มี 9-10 สำนัก จะลดเหลือบางสำนัก และให้กอ.รมน. ภาค 4 รับผิดชอบทำแทน
ตอนนี้อยู่ในขั้นให้ผู้รับผิดชอบ ศอ.บต. ทำการปรับแผนการปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ภาค 4 จะให้ทำอะไร รวมทั้ง ยกเลิก พระราชบัญญัติของ ศอ.บต. ปี 2553 ในบางมาตราที่ทับซ้อน กับ พระราชบัญญัติของ กอ.รมน. ซึ่งเกิดขึ้นก่อนใน ปี 2511 ซึ่งพระราชบัญญัติทั้ง สองฉบับ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน
ส่วน นาย ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวให้ความเห็นว่า “ศอ.บต.ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อมาดูแลเรื่องนี้แล้ว เพื่อปรับการทำงานให้ประชาชนสามารถได้ประโยชน์สูงสุด คาดว่าอีกประมาณสองอาทิตย์ จะสามารถเห็นแนวทางของการปรับโครงสร้าง ศอ.บต.”
นายรักชาติ สุวรรณ ประธาน เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ จ.ยะลา กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี หาก ศอ.บต. จะมีการปรับโครงสร้าง เพราะทุกวันนี้ ศอ.บต. ลดบทบาทลงมาก มีปัญหาด้านการบริการประชาชนมาก
คำถามคือ ศอ.บต. จะอยู่ภายใต้ กอ.รมน. ภาค 4 ถ้าหากให้มี กอ.รมน. ภาค 4 หน่วยเดียว จะดีกว่าหรือไม่ เพราะปัจจุบัน บทบาท ของ ศอ.บต.ยุคนี้ ได้ลดลงอยู่แล้ว ซึ่งหากต้องให้ปรับอีกควรจะยุบไปเลยดีกว่า เพราะไม่แน่ใจว่า หากศอ.บต. อยู่ภายใต้ กอ.รมน. ภาค 4 นั้น กอ.รมน.จะให้ ศอ.บต. มีบทบาทจริงหรือเปล่า
นายรักชาติ กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่หายไปตอนนี้ คือเสียงจากพื้นที่ จึงขอให้ทั้ง กอ.รมน. 4 และ ศอ.บต. มีการเปิดรับภาคประชาสังคมให้ทำงานร่วมกัน เช่น เวลานักศึกษาจัดเวที ควรให้เขาจัด แต่ทุกวันนี้ โดนจับตามองทุกครั้ง และเป็นเรื่องความมั่นคงไปเลย”
นางสาวละม้าย มานะการ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวไม่เห็นด้วยที่จะปรับให้ กอรมน.4 อยู่เหนือ ศอ.บต. โดยเห็นว่าการทำงานที่นี่ ต้องเน้นงานพัฒนา แม้ทางกองทัพบอกว่า จะพยายามเน้นงานพัฒนาอยู่ จึงอยากให้เข้าใจว่า ทั้งประสบการณ์ และ ฝีมือ ยังต่างกัน อย่างไรก็ตาม พลเรือนมีความถนัด และสามารถทำงานพัฒนาได้ดีกว่า
ซึ่ง นางสาว ละม้าย กล่าวให้ความเห็นว่า “หลายคนมองเรื่องนี้ว่า เป็นการเผด็จการ การแก้ปัญหาที่นี่ ไม่ควรแข็งเกินไป ควรปล่อยให้เป็นอิสระต่อกัน มีการประสานงานและเชื่อมโยงบทบาทกัน ส่วนที่ต้องใช้กองกำลัง ก็ไม่ว่ากัน หากต้องมีการปรับจริง ควรจัดเวทีฟังเสียงประชาชน หรือทำประชามติก็ดี ที่ผ่านมาไม่เคยเปิดช่องให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น นึกจะยุบ ก็ยุบ นึกจะตั้ง ก็ตั้ง นึกจะทำอะไรก็ทำ ไม่ดีเลย ถ้าจะเอาความคิดของผู้ใหญ่ไม่กี่คนมาเป็นที่ตั้ง”
ด้านนายสุไฮมี ดูละสะ อดีตประธาน PerMAS รุ่นที่ 3 กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ ศอ.บต. ก็อยู่ภายใต้ กอรมน.4 อยู่แล้ว เพียงแค่ทำให้มันถูกต้องตามนิติรัฐเท่านั้นเอง คิดว่าไม่ดี เพราะ ศอบต. เป็นศูนย์รวมของหน่วยงานพลเรือน ต้องมีอิสระในการทำงานด้านพัฒนา การอยู่ภายใต้หน่วยงานความมั่นคง จะยิ่งสร้างความหวาดระแวงของประชาชนมลายูต่อหน่วยงานพัฒนามากขึ้น คิดว่า กอ.รมน.4 ต้องการควบคุมเรื่องงบประมาณ ที่ลงมาในสามจังหวัดมากกว่า โดยอาศัยงบส่วนนั้น เป็นเครื่องมือในการขยายงานมวลชน ในแบบการทหาร ทั้งเรื่องงานข้อมูล ชุมชนติดอาวุธ การควบคุมการศึกษา โดยทหาร โดยตรง”