18 ประเทศ 6 องค์การระหว่างประเทศ ร่วมประชุมภูมิภาคเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ครั้งที่ 2

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.12.04
TH-SUMMIT-migrants-1000 นาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รมต. กระทรวงการต่างประเทศไทย (แถวหน้า ที่สองจากขวา) ถ่ายภาพร่วมกับหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ ใน”การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย” ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558
เอเอฟพี

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมว่าด้วย”การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทร อินเดียครั้งที่ 2” ที่กรุงเทพฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานในมหาสมุทร อินเดีย โดยต่อยอดจากผลการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทร อินเดีย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ และการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติสมัยพิเศษ (EAMMTC) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม โดยมี นายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน โดยจะกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สานต่อการดำเนินการให้เป็น รูปธรรมและเน้นความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ บนพื้นฐานของหลักการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศ

โดยมีประเทศเข้าร่วมจำนวน 18 ประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอีก 6 องค์การ ที่ประชุมได้หารือกันในประเด็นต่างๆ อาทิ สถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้ม และความท้าทายของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย การติดตามผลจากการประชุมครั้งที่ 1 ในกรอบความร่วมมือภูมิภาคต่างๆ และการติดตามการดำเนินการของประเทศที่เข้าร่วม รวมทั้งหารือถึงมาตรการในการดำเนินการต่อไป โดยไทยในฐานะประธานได้เสนอเอกสารแนวทางความร่วมมือ (Action Agenda) เพื่อแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย

เพื่อให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้ง 5 ประเทศ นำกลับไปพิจารณาก่อนการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกลุ่มเฉพาะกิจของกระบวนการบาหลี (Bali Process Ad Hoc Group Senior Officials Meeting)

ที่ประชุมได้รับฟังการบรรยายถึงภาพรวมสถานการณ์ แนวโน้ม ความท้าทายในการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน และการป้องกันและปราบปรามการขบวนการลักลอบขนคนและค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก จากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

นอกจากนั้น เอกอัครราชทูตผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ใน ยุโรป ตลอดจนแนวปฏิบัติของยุโรปในการรับมือกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ

ในส่วนของกรอบความร่วมมือในภูมิภาค ที่ประชุมรับทราบพัฒนาการต่างๆ ในกรอบอาเซียนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน อาทิ ความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการโยกย้าย ถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก รวมทั้ง พัฒนาการในกรอบกระบวนการบาหลี จากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ในฐานะประธานร่วมกระบวนการบาหลี

ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งห้าประเทศหารือร่วมกัน

การประชุมนี้ยังเป็นโอกาสให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งห้าประเทศ คือ เมียนมา บังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย มาหารือร่วมกัน เพื่อหาหนทางจัดการกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติร่วมกันต่อไป

ดร. อภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า “ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งห้าประเทศคือ เมียนมา บังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ได้รับเอกสารที่ไทยเสนอเพื่อไปพิจารณา เพื่อทำให้เอกสารเป็นผลสำเร็จ”

“ทุกคนเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการดำเนินการอย่างจริงจังกับเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบขนคนโดยผิดกฎหมาย”

ประเทศทั้งห้าได้ย้ำถึงความพยายามและมาตรการของแต่ละประเทศ อาทิ ความร่วมมือระหว่างเมียนมากับ UNODC และการให้ความร่วมมือของบังกลาเทศ ในการพิสูจน์สัญชาติ และรับกลับผู้โยกย้ายถิ่นฐานชาวบังกลาเทศ

ที่ประชุมยินดีต่อการที่ทั้ง 5 ประเทศจะดำเนินโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ระดับภูมิภาค โดยร่วมมือกับ IOM เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยงของการโยกย้ายถิ่น ฐานแบบไม่ปกติ โดยไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะบริจาคเงินจำนวน หนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐ แก่ IOM เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมภายใต้การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ระดับภูมิภาคดัง กล่าวด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง