รัฐบาลยินดี สหรัฐฯ ปรับไทยขึ้น “เทียร์ 2” จากกลุ่มประเทศต้องเฝ้าระวัง

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.06.29
กรุงเทพฯ
180629-TH-rohingya-1000.jpg เจ้าหน้าที่ทหารกองทัพไทยทักทายกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาบนเรือที่จะเดินทางไปมาเลเซีย ขณะจอดหลบพายุ บริเวณเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561
เอเอฟพี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ยกระดับการค้ามนุษย์จากกลุ่มประเทศต้องเฝ้าระวัง เป็นเทียร์ 2 พร้อมยืนยันเดินหน้าปราบปรามและกำจัดการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งภูมิภาคอาเชียนต่อไป

หลังจากที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทิปรีพอร์ต (TiP Report) ประจำปี 2018 และได้เลื่อนสถานะการปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก “กลุ่มประเทศเทียร์ 2 ที่ต้องเฝ้าระวัง” เป็น “กลุ่มประเทศเทียร์ 2” เนื่องจากรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างมากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยได้ปรับระดับสถานะการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้นว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สหรัฐอเมริกาได้เห็นความมุ่งมั่นในการทำงานของรัฐบาล และจะเดินหน้าปราบปรามกำจัดการค้ามนุษย์ให้มากที่สุดต่อไป

“ขอบคุณสหรัฐอเมริกา ที่เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และในปีหน้าที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน ก็จะผลักดันการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาคอาเซียนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นไปอีก" นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน นักสิทธิมนุษยชนจาก องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ องค์กรสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีความเห็นต่อการถูกยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยในปีนี้ว่า แม้ว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจ แต่คิดว่าอาจจะเร็วเกินไปที่ไทยจะได้ขึ้น Tier 2

"เห็นด้วยว่า ประเทศไทยปรับปรุงกฎหมายสำคัญ มีความจริงจังกับการปราบปราม การพิจารณาคดีในศาล ฯลฯ แต่หลายๆ เรื่องที่รัฐบาลทำยังเป็นขั้นเริ่มต้น เราควรจะรอดูการปฏิบัติอย่างจริงจังสัก 1-2 ปี ตัวอย่างเช่น พรบ.ค้ามนุษย์ ที่เพิ่งปรับแก้ การพิจารณาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่จบศาลชั้นต้น แต่ยังไม่รู้ว่าศาลอุทธรณ์ และฎีกาจะพิพากษาอย่างไร" นางสาวพุทธณี กางกั้นกล่าว

"การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวใหม่ที่เป็นหลักการที่ดี แต่ยังมีปัญหาในการปฏิบัติอยู่มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่น และปัญหาของการพิสูจน์สัญชาติแรงงานที่ประเทศต้นทางไม่รับรองสัญชาติ"

ด้าน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ผู้รับผิดชอบโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ระบุว่า การปรับอันดับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อรัฐบาลไทยอีกครั้ง และยืนยันจะเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อต่อสู้กับขบวนการการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบต่อไป

“เราจะยังคงมุ่งมั่นในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด คุ้มครองผู้เสียหาย และป้องกันการตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการปกป้องคุ้มครองความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม” พลเอกประวิตร ระบุ

ทางด้าน พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกฝ่ายทำงานหนักขึ้นอีกเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนราชการ กระทรวงแรงงาน ในการบูรณาการทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยและต่างชาติ ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากสากล

ประเทศไทยเคยถูกจัดให้อยู่ในอันดับเทียร์ 2 ในปีพ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2552 ก่อนจะตกลงมาอยู่ใรอันดับ เทียร์ 2 ต้องระวัง ในปีพ.ศ.2553 – พ.ศ.2556 และ ตกลงไปอยู่ในอันดับเทียร์ 3 ในปีพ.ศ. 2557 หลังการรัฐประหาร ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2558 และได้รับการยกระดับให้ขึ้นมาอยู่ในเทียร์ 2 ต้องระวังในปี พ.ศ.2559 และพ.ศ. 2560 ก่อนจะได้รับการปรับระดับให้กลับมาอยู่ในเทียร์ 2 อีกครั้งในปี พ.ศ. 2561 นี้

ในรายงานสถานกาณ์การค้ามนุษย์ฉบับปัจจุบัน ระบุว่า รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างมากในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อเทียบกับรายงานปีที่ผ่านมา แม้ว่าการปราบปรามฯ ของรัฐบาลไทยยังไม่ได้ตรงตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการดำเนินคดีลงโทษผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยใช้กฎหมายพิเศษเพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินคดี

รายงานฯ ระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยยังได้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่า อาจจะมีส่วนในการการะทำความผิดฐานค้ามนุษย์มากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 12 คน โดยเจ้าหน้าที่ 11 คนในจำนวนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา นอกจากนี้ ยังได้ตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อปราบปราบการค้ามนุษย์โดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยผู้บังคับใช้กฎหมาย และองค์กรณ์เอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือและเพิ่มประสิทธิภาพ ความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองเหยื่อจากการค้ามนุษย์

“จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ในปี 2018 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับในการปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีอย่างต่อเนื่อง” นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ระบุในแถลงการณ์

“สหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ได้มุ่งมั่นและร่วมมือกันในการบังคับใช้กฎหมายในการปกป้องและคุ้มครองเหยื่อจากการค้ามนุษย์” นายกลิน ระบุเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง