ยูเอ็นเอดส์ : ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย 'การเข้าถึงบริการ 90-90-90'
2020.07.07
กรุงเทพฯ

โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กล่าวในรายงานที่เผยแพร่ในวันอังคารนี้ว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในสามประเทศเท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการเข้าถึงบริการ 90-90-90 ขณะที่ ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกส่วนใหญ่ จะยังไม่ประสบผลสำเร็จในเป้าหมายการเข้าถึงบริการ 90-90-90 ตามที่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ได้ริเริ่มเมื่อหกปีก่อน เพราะว่ากลุ่มประชากรหลัก ๆ ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ในห้วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังก่อให้เกิดอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการให้บริการ
ทั้งนี้ เมื่อปี 2557 ทางโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการจัดทำ “โครงการการเข้าถึงบริการ 90-90-90” ที่มีเป้าหมายในการตรวจหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด การรักษาด้วยยาต้านไวรัส (antiretroviral therapy) ให้แก่ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยโรคแล้ว และการหยุดยั้งเชื้อให้ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ารับการรักษา ภายในปี 2563
“การดำเนินโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรหลักได้อย่างทั่วถึง” นายเอมอนน์ เมอร์ฟี่ย์ กล่าวเตือน ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กล่าวในรายงาน
“มีความก้าวหน้าในการนำเครื่องมือที่คิดค้นขึ้นมาใหม่มาใช้ เช่น การให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี (PrEP) ก่อนเกิดการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีประเทศส่วนน้อยที่มีการรณรงค์เรื่องการใช้เข็มฉีดยา และการใช้การรักษาทดแทนด้วยสารโอปีออยด์ แต่ยังไม่เพียงพอ ประเทศเหล่านั้นต้องพยายามมากขึ้น ต้องเชื่อหลักฐาน เพิ่มความพยายาม และใช้มาตรการใหม่ ๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น” นายเอมอนน์ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่มขึ้น 300,000 คน และเสียชีวิตลง 160,000 คน ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้ เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มประชากรหลักและคู่ขา ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ และมากกกว่าหนึ่งในสี่ของผู้ติดเชื้อใหม่นี้ มีอายุระหว่าง 15-24 ปี
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า หากว่าโรคระบาดโควิด-19 ยังคงอยู่ จะเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการรักษาโรคเอดส์
รายงานฉบับเดียวกัน ยังระบุอีกว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นอกเหนือจากออสเตรเลียและกัมพูชา ที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการเข้าถึงบริการ 90-90-90 (อย่างน้อยผู้ติดเชื้อ 73 เปอร์เซ็นต์ได้รับยาต้านไวรัส)” นอกจากนั้น สำหรับประเทศไทยแล้ว โรคโควิด-19 ทำให้ฝ่ายสาธารณสุขต้องแจกจ่ายยาต้านไวรัสออกไปในห้วงเวลาหลายเดือน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ ปี 2553 ประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และไทย ประสบผลสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลง 12 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในปากีสถานและฟิลิปปินส์ แต่ทั้งภูมิภาคมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่มขึ้น 300,000 เสียชีวิต 160,000 คน ในปี 2562 ดังกล่าว ขณะที่ผู้ติดเชื้อจำนวน 3.5 ล้านคน จาก 5.8 ล้านคน ได้รับการบริการรักษา
สำหรับประเทศไทย เมื่อปีที่ผ่านมา พญ. มณฑินี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “การรับรองมาตรฐานองค์กรภาคประชาสังคม (CBO)” ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2560-2562 เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณปีละ 6,300 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณวันละ 40 ราย โดยทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมราว ๆ 4.4 แสนราย ในจำนวนนี้ประมาณ 3 แสนรายเข้าถึงการรักษาผ่านระบบสุขภาพ
โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กล่าวในรายงานว่า มีกลุ่มประชากรหลักจำนวนครึ่งหนึ่ง ที่ไม่ได้รู้ว่าตนติดเชื้อเอชไอวี แต่การตรวจเชื้อโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หรือการตรวจเชื้อด้วยตนเอง อาจจะทำให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
การล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด มีผลกระทบต่อประชากรเด็กหญิง ผู้หญิง และประชากรกลุ่มหลักเป็นอย่างมาก กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด กลุ่มข้ามเพศ และกลุ่มเกย์ สูญเสียสภาพความเป็นอยู่อย่างปกติ เผชิญกับความรุนแรง และมีอยู่บ่อยครั้งที่ต้องตกเป็นแพะรับบาปว่า เป็นผู้แพร่เชื้อโควิด- 19 ซึ่งพบเหตุเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้
ทั้งนี้ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ได้เร่งเร้าให้ประเทศในภูมิภาคนี้ เพิ่มการดูแลการระบาดของโรคทั้งสองควบคู่กันไป ขณะที่ งบประมาณเพื่อการต่อต้านโรคเอดส์ ที่แหล่งเงินทุนจากนานาชาติเคยมีให้ ในปี 2553 ลดลงถึง 63 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ จากโกลบอลฟันด์ที่ลดลง 28 เปอร์เซ็นต์ และจากแหล่งเงินนานาชาติอื่น ๆ อีก 28 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน
“โรคเอดส์ ยังเป็นโรคระบาดที่เป็นวิกฤตระดับโลกที่ถูกทำให้รุนแรงขึ้น เพราะความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการร่วมมือร่วมแรงเพื่อสร้างความสำเร็จ และลงมือปฏิบัติอย่างเร่งรีบ เพื่อให้บริการต่อประชากรนับล้านคนที่ยังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นายเอมอนน์ กล่าว