มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่ส่งเสริมเสรีภาพในประเทศไทยที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร นายอนุสรณ์กล่าว

อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์
2015.12.31
TH-anusorn-620 นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมคณาจารย์ อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง ให้รัฐบาลทหารยุติการข่มขู่และกักตัวนักศึกษาและคณาจารย์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
เอื้อเฟื้อภาพ: นายอนุสรณ์ อุณโณ

นายอนุสรณ์ อุณโณ เป็นนักวิชาการไทยคนหนึ่งที่ต้องการปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันอุดมศึกษา ในฐานะสถานที่ที่ซึ่งเยาวชนและปัญญาชนสามารถเจริญเติบโตได้ในบรรยากาศที่เปิดให้มีเสรีภาพทางการพูดและความคิด

ซึ่ง นายอนุสรณ์ และนักวิชาการด้วยกันบางคน กำลังพยายามส่งเสริมบรรยากาศเช่นนั้น ท่ามกลางความกลัวที่เข้าครอบงำประเทศไทย หลังจากที่ทหารทำการปฏิวัติล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อปีที่แล้ว

ขณะนี้ คนทุกกลุ่มต่างก็กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นออกมา นับแต่ที่ทหารเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของรัฐบาลทหาร ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งบรรดานักข่าวและผู้ที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหาร

เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลทหารได้ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก และอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับเฉพาะกาล ให้อำนาจโดยสมบูรณ์แก่รัฐบาลทหารเอง นี่ทำให้ทหารมีอำนาจในการบังคับใช้อำนาจอย่างเต็มที่เหนือพลเรือน กลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าวเตือน

ขณะนี้ ทางการมีอำนาจในการจับกุมกลุ่มคนจำนวนห้าคนหรือมากกว่า ผู้ที่ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ได้มีการจับกุมตัวนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาล โดยอาศัยอำนาจของมาตรา 44

นายอนุสรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชามานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ และคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผู้จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคณาจารย์ด้วยกัน โดยเรียกตัวเองว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

เขากล่าวว่า ภารกิจของเครือข่ายนี้คือ เพื่อต่อสู้ป้องกันสิทธิของนักศึกษาและนักวิชาการ ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในประเทศไทย ในการให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์ทางอีเมล เขาได้ขยายความให้เห็นว่า เสรีภาพของนักศึกษาและนักวิชาการถูกคุกคามอย่างไร นับแต่ที่ทหารเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ

เบนาร์นิวส์: เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองมีจุดมุ่งหมายอะไร

อนุสรณ์: กลุ่มนี้ได้รับการตั้งขึ้น “อย่างเป็นทางการ” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ... เพื่อให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่นักศึกษาที่ถูกกักตัว เพราะ “ชุมนุมทางการเมือง” ภายใต้รัฐบาลทหาร

แถลงการณ์ฉบับแรก [ของเรา] เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาเหล่านั้นทันทีและโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ

เบนาร์นิวส์: เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณได้นำคณาจารย์มหาวิทยาลัยในการพยายามยื่นคำร้องขอให้รัฐบาลยุติการกดขี่เสรีภาพและอิสรภาพของนักศึกษาและนักวิชาการ การกระทำนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง

อนุสรณ์: ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดในนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา [นายกรัฐมนตรีของไทย] ได้ให้สัมภาษณ์ … และบอกว่า เขาไม่สามารถประกันความปลอดภัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ ถ้าอาจารย์เหล่านั้นถูกผู้ที่ไม่เห็นด้วย ยิงหรือปาระเบิดใส่ ….

เบนาร์นิวส์: คุณคิดว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลทหารจึงเป็นห่วงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

อนุสรณ์: เหตุผลหลักก็คือ เพราะ “มหาวิทยาลัย” เป็นสถานที่ที่ซึ่งรัฐบาลทหารไม่สามารถควบคุมได้โดยสิ้นเชิง

หรือในทางทฤษฎีแล้ว มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่รัฐบาลทหารไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างอุดมการณ์ เหมือนกับบรรดาโรงเรียนหรือสถาบันอื่น ๆ

ในทางตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่ซึ่งมีการต่อต้านเกิดขึ้น ในแง่หนึ่ง มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมให้คนคิดและวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น จึงเป็นการคุกคามต่อความพยายามที่จะผูกขาดความจริง

ในอีกแง่หนึ่ง มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่ซึ่งคน (ในกรณีนี้หมายถึงนักศึกษา) มาชุมนุมกัน และทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากการเรียนหนังสือ (โดยไม่ได้ถูกเกณฑ์หรือรวบรวมขึ้นมาโดยเฉพาะ) รัฐบาลแทบจะไม่สามารถเฝ้าดูกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยได้เลย

เบนาร์นิวส์: การคุกคามเสรีภาพของนักศึกษาและนักวิชาการของรัฐบาลทหาร เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางที่มหาวิทยาลัยทั้งหมด หรือเฉพาะเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยใดบ้างที่ตกเป็นเป้า และเพราะเหตุใด

อนุสรณ์: การคุกคามดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วประเทศ ความแตกต่างคือ มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ในต่างจังหวัด มีแนวโน้มที่จะถูกคุกคามมากกว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ

นี่เป็นเพราะความสัมพันธ์ด้านอำนาจ ด้วยขนาด ประวัติความเป็นมา และความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีอำนาจต่อรองมากกว่ามหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ในต่างจังหวัด

เบนาร์นิวส์: รัฐบาลได้ส่งคนออกไปนั่งสังเกตการณ์ในชั้นเรียน ขอให้หยุดการสอนวิชาใด หรือขอให้อาจารย์บางคนเปลี่ยนเนื้อหาการสอนหรือไม่

อนุสรณ์: จนถึงตอนนี้ รัฐบาลยังไม่ได้ส่งคนออกไปนั่งสังเกตการณ์ในชั้นเรียนปกติ

แต่จะส่งทหารและตำรวจไปที่มหาวิทยาลัย เมื่อนักศึกษาและอาจารย์จัดสัมมนาและกิจกรรมที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายทางการเมือง นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งให้ผู้จัดสัมมนาและกิจกรรมต่าง ๆ ขออนุญาตจากรัฐบาลก่อนด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามแทรกแซงหลักสูตรการสอน โดยเพิ่มวิชาบางอย่าง เช่น “ทหารและการพัฒนา” เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาทั่วไปในบางมหาวิทยาลัย

เบนาร์นิวส์: อาจารย์มหาวิทยาลัยจะเซ็นเซอร์งานของตัวเองหรือไม่ และการทำเช่นนั้นจะส่งผลต่อคุณภาพการสอนที่มหาวิทยาลัยของไทยหรือไม่ คุณคิดว่าอาจารย์จะต้องเริ่มตีพิมพ์ผลงานเขียนของตัวเองในต่างประเทศหรือไม่

อนุสรณ์: ครับ นักวิชาการหลายคนจะเซ็นเซอร์งานของตัวเองบ้าง ในเนื้อหาเรื่องการเมือง และนี่จะส่งผลต่อคุณภาพการสอนในมหาวิทยาลัยของไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสังคมและมนุษยศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ที่แย่ไปกว่านั้นคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก หรืออาจจะมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ยังคงเชื่อมั่นและไว้วางใจรัฐบาลทหารในการป้องกันประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์

แต่นี่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้นักวิชาการไทยตีพิมพ์ผลงานของตนในต่างประเทศ แต่อาจเป็นเหตุผลเสริม

เบนาร์นิวส์: ความพยายามขั้นต่อไปของคุณคืออะไร ในฐานะตัวแทนของเสรีภาพของนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกกักตัว

อนุสรณ์: … เราเปลี่ยนชื่อกลุ่มจาก “เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง” ไปเป็น “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและภารกิจของเรา

พูดอีกอย่างก็คือ เราไม่เพียงปกป้องเสรีภาพของนักวิชาการและนักศึกษา แต่เรายังปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไปด้วย

นอกจากนี้ เราไม่เพียงให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่นักศึกษาที่ถูกคุมขังเท่านั้น แต่เรายังให้ความช่วยเหลือแก่พลเมืองไทยโดยทั่วไป ผู้ที่เผชิญข้อหาทางกฎหมาย ฐานแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและเริ่มการกระทำทางการเมืองด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง