นักวิชาการ เชื่อควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
2016.06.27
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์ (27 มิย. 2559) นี้ นักวิชาการ สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยผู้ร่วมเสวนาหลายคนชี้ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ยังมีหลายมาตราต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีความเหมาะสมในการใช้งานจริง
การเสวนาวิชาการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) โดยมีผู้สนใจร่วมงานกว่า 50 คน
อาจารย์สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอว่า ควรแก้ไขมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้ สามารถตีความเป็นการหมิ่นประมาทได้ ซึ่งผิดเจตนารมย์ของที่แท้จริงของกฎหมายซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือการปลอมแปลงข้อมูล
“กฎหมายหมิ่นประมาท(ปกติ)เปิดโอกาสให้ผู้ถูกฟ้องพิสูจน์เจตนารมย์สุจริตได้ ว่าเขานำเสนอข่าวโดยสุจริต เพื่อขอยกเว้นความผิด ก็คือ ไม่มีความผิด แม้ผู้ถูกหมิ่นประมาทจะได้รับความเสียหายก็ตาม แต่มาตรา 14(1) ไม่มีเหตุยกเว้นความผิด และไม่ใช่คดีที่ยอมความได้ พอยอมความไม่ได้ มีปัญหา มีผลกระทบกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแน่นอน” อาจารย์สาวตรีกล่าว
อาจารย์สาวตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้านข้อมูลของประชาชน เช่น การปิดกั้นเว็บไซต์บางเว็บไซต์ การฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน และการดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชน เรื่องการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานผู้ต้องหา ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น
โดยการฟ้องในลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า SLAPP - Strategic Litigation Against Public Participation ซึ่งเป็นการฟ้องที่ผู้ฟ้องไม่ได้ตั้งใจที่จะแสวงหาความยุติธรรมเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นการฟ้องเพื่อป้องกัน และปิดปากสื่อมวลชน หรือบุคคล ให้หยุดการเผยแพร่ข้อเท็จจริง
ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า ควรแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้สามารถตีความให้การเผยแพร่ข้อมูล ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จอาจเข้าข่ายความผิดหรือถูกฟ้อง เพราะกฎหมายยังสามารถตีความได้กว้างเกินไป
“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ว่ามาตรา 14 หรือ 20 ไม่ได้กระทบเฉพาะต่อสื่อ แต่กระทบต่อทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ และตั้งใจที่จะใช้อินเตอร์เน็ตในฐานะของสื่อ ไม่ได้หมายความเฉพาะโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ แต่รวมถึงแอพปลิเคชัน ไลน์ วอทส์แอป ก็ได้รับผลกระทบทั้งในฐานะผู้ฟัง และผู้พูด” ดร.จอมพลกล่าว
ดร.จอมพล เสนอให้สร้างมาตราใหม่ที่แยกเฉพาะประเด็นการหมิ่นประมาทโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้กฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นประมาทที่มีอยู่เดิมให้ครอบคลุมถึงการหมิ่นประมาทบนระบบคอมพิวเตอร์ด้วย
นางจีรนุช เปรมชัยพร จากเว็บไซต์ประชาไท ในฐานะที่เคยเป็นผู้ถูกฟ้องดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชี้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และสร้างความกลัวให้กับผู้ทำหน้าที่สื่อ หรือแม้กระทั่งคนธรรมดาที่อยากแสดงความคิดเห็นผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต และการใช้กฎหมายฉบับนี้ ยังทำให้ผู้ถูกฟ้องเสียเวลา และเสียเงินในการสู้คดี แม้ผู้ถูกฟ้องจะไม่ได้ทำผิดอะไรเลย และสุดท้ายชนะคดีก็ตาม เพราะกฎหมายไม่สามารถยอมความได้
“ผลที่เกิดขึ้น(จากการถูกฟ้องดำเนินคดี)เห็นชัดๆ คือ ทางองค์กร(ประชาไท)เอง ตัดสินใจที่จะปิดพื้นที่เว็บบอร์ด ซึ่งเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเราพิจารณาแล้วว่าภายใต้กติกากฎหมาย(พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์)ที่มีอยู่แบบนี้ ความเสี่ยงหรือว่าราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงความคิดเห็นมันสูง จึงตัดสินใจปิดไป ซึ่งถือเป็นความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจพอสมควร เพราะคนใช้งานเว็บบอร์ดเป็นกลุ่มบ่อยกว่ากลุ่มที่เข้ามาอ่านข่าว” นางจีรนุชกล่าว
นางจีรนุชเพิ่มเติมว่า การนับกระทงความผิดของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นอีกหนึ่งข้อที่น่าสนใจและควรแก้ไข เนื่องจากมีการนับกระทงความผิดตามจำนวนข้อความ เช่น คำที่ถูกตีความว่าผิดกฎหมาย หากมีปรากฎ 3 ครั้ง ก็นับเป็นความผิด 3 กระทง ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาการรับโทษมีความยาวนานเกินปกติ ซึ่งเป็นลักษณะการลงโทษที่แตกต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาท หรือกฎหมายอาญาทั่วไป
ด้าน พ.ต.อ.ดร.นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ ผู้กำกับงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เห็นด้วยเช่นกันว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ยังมีบางส่วนที่ต้องแก้ไข แต่โดยอำนาจหน้าที่แล้ว จะพยายามใช้กฎหมายนี้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
“เท่าที่วิทยากรที่มาวันนี้เห็นตรงกันว่า ไม่มีกฎหมายไหนที่ออกมาแล้วสัมฤทธิ์ผลทั้งหมด บางกฎหมายนี่แทบใช้ไม่ได้เลย ก็ต้องบังคับใช้ตามสถานการณ์ กรณีของ พ.ร.บ.นี้ และตำรวจ ปอท. ก็เช่นกัน แต่ในฐานะที่เป็นผู้กำกับสอบสวน ยืนยันว่า เราจะพัฒนาองค์ความรู้คู่หน้าที่และบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม และจะผดุงความยุติธรรม” พ.ต.อ.ดร.นิติพัฒน์กล่าว
พ.ต.อ.ดร.นิติพัฒน์เพิ่มเติมว่า ในฐานะผู้ใช้กฎหมายก็จะพยายามใช้กฎหมายฉบับนี้ให้มีประสิทธิภาพที่สุดตามความเหมาะสมของพยาน และหลักฐาน โดยจะพยายามไม่ให้เกิดการดำเนินคดีในการกลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใด
ตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ในปี 2550 จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2554 มีจำนวนคดีที่ถูกบังคับตามกฎหมายฉบับนี้ทั้งสิ้น 325 คดี โดยปีที่มีการดำเนินดีสูงสุดคือปี 2553 ซึ่งมีทั้งสิ้น 104 คดี รองลงมาคือปี 2554 และ 2552 จำนวน 97 และ 80 คดี
สำหรับปี 2559 การดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เป็นที่รู้จักที่สุด คือ การจับกุมแอดมินเพจการเมือง 8 คน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยการบุกจับกุมครั้งนั้น นำไปสู่การดำเนินคดีในกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 กับผู้ต้องหาบางคน