สนามบินเบตงพร้อมเปิดธันวาคมนี้
2020.09.22
ปัตตานี

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยคมนาคม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้ว่า จะสามารถเปิดใช้งานท่าอากาศยานนานาชาติเบตง ในจังหวัดยะลา ได้ในเดือนธันวาคมศกนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา นายถาวร เสนเนียม ได้ประชุมเตรียมความพร้อมในการเปิดสนามบินร่วมกับ นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ผู้แทนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
นายถาวร กล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เป็นท่าอากาศยาน ลำดับที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งในเบื้องต้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรียบร้อยแล้ว
“เวลานี้ ได้รับการประกาศจาก กพท. ให้เป็นสนามบินอนุญาต และดำเนินการประกาศข้อมูลข่าวสารการบิน (AIP) เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับการรับรองเครื่องบ่งชี้แสดงตำแหน่งที่ตั้ง (Location Indicator) และรหัสอ้างอิงสนามบิน (Aerodrome Code) จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แล้ว” นายถาวรกล่าว
นายถาวร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในสัปดาห์นี้ กพท. จะสามารถออกใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศให้กับท่าอากาศยานเบตงได้ ยังเหลือการตรวจสอบในขั้นตอนการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจาก กพท. ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมทดสอบการบิน เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน โดยได้เร่งรัดให้เริ่มทดสอบภายในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมนี้ และจะใช้เวลาทดสอบ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะประกาศเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ และจะเสนอให้ รมว. คมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ก่อนให้ ผอ.กพท. เป็นผู้ลงนามในใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะต่อไป
สำหรับการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะนั้น กพท. จะดำเนินการตรวจสอบ ณ ท่าอากาศยานฯ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 12 สัปดาห์ และการประกาศเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ อยู่ระหว่าง กพท. พิจารณาตรวจสอบ
“คาดว่าจะแล้วเสร็จ และมั่นใจจะเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตงได้ในเดือนธันวาคมแน่นอน ” นายถาวรกล่าว
ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงความเป็นมาของสนามบินในวันนี้ว่า หลังจากที่กรมการบินพลเรือน ได้มีหนังสือที่ คค 0505/1826 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2558 เสนอโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ในวงเงินลงทุน 1,900 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการ และขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่าย สำหรับแผนดำเนินงานก่อสร้าง ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างงบประมาณ 2559-2561 แบ่งเป็นการก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และอื่น ๆ 1,500 ล้านบาท จ้างควบคุมงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและอื่นๆ 50 ล้านบาท และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารประกอบ 350 ล้านบาท
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สนามบินเบตง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ห่างจากตัวเมืองเบตงประมาณ 10 ก.ม. และมีระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 1,084 ก.ม. มีเนื้อที่ทั้งหมด จำนวน 921 ไร่ ความยาวทางวิ่ง 30 คูณ 1,800 เมตร สามารถรองรับอากาศยานในชั่วโมงเร่งด่วน ได้แก่ เครื่องบินพาณิชย์แบบ ART 72 ขนาด 50-70 ที่นั่ง หรือเครื่องบินพาณิชย์ ขนาด 86 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ อาคารที่พักผู้โดยสาร พื้นที่รวม 7,000 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ขาเข้า 512 ตร.ม. พื้นที่ขาออก 521 ตร.ม. สามารถรองรับผู้โดยสาร 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 0.864 ล้านคนต่อปี ขาเข้า 150 คนต่อชม. ขาออก 150 คนต่อชม. ลานจอดรถยนต์ จอดได้ 140 คันในเวลาเดียวกัน
สำหรับเหตุผลในการก่อสร้างสนามบินที่นี่นั้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนชนในพื้นที่ด้วย เพราะเส้นทางการคมนาคมทางบกไปยังอำเภอเบตง มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง นอกจากนั้น รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงส่งเสริมให้มีการเดินทางทางอากาศในพื้นที่ รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“พร้อมเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาในทุกด้านอย่างยั่งยืนต่อไป และในอนาคตรัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันให้เป็นสนามบินนานาชาติ แต่ต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1-2 ปี และจากสถิติของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัด ในปี 2560-2562 จากในพื้นที่ตัวเลขเพิ่มจาก 1 ล้านกว่าคน ซึ่งเมื่อสนามบินเบตงเสร็จ แลนด์มาร์กของอำเภอเบตง คือ สกายวอล์ก ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เชื่อว่าจะเพิ่มนักท่องเที่ยวขึ้นได้อย่างแน่นอน” พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ด้านนายถาวร เสนเนียม ระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ มีสายการบินนกแอร์ที่ได้มีความสนใจศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดทำการบิน โดยได้ขอให้ ทย. พิจารณาลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมในการทำการบิน เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับสายการบินด้วย และยังได้เริ่มหารือกับบริษัทท่องเที่ยวเพื่อจัดเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) นำนักท่องเที่ยวคนไทยมาเที่ยวที่ อ.เบตง อีกด้วย ขณะเดียวกัน ก็คาดหวังว่า เมื่อประเทศไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวพิเศษ หรือ Special Tourist Visa (STV) ที่รัฐบาลอนุญาตในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิดด้วย
อย่างก็ตาม นายอาลียาส สือดอมะ อายุ 54 ปี ชาวบ้านในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเองยังไม่แน่ใจว่าสนามบินเบตงจะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านที่ไม่มีกำลังซื้อตั๋วเครื่องบินอย่างไร และการเดินทางไป-มายังสนามบินเบตง ต้องเดินทางผ่านเส้นทางเดิมที่คดเคี้ยวอยู่ดี
“จะมีชาวบ้านกี่คนที่เลือกไปนั่งเครื่องบินที่สนามบินเบตง เส้นทางร้อยโค้งกว่าจะไปถึง ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าไปเลย ถ้าให้เลือกระหว่างไปสนามบินบ้านทอน (นราธิวาส) กับไปเบตง เชื่อว่าคนในเมืองยะลา จะเลือกบินจากสนามบินบ้านทอนมากกว่าเบตงแน่ เราชาวบ้านคิดแบบโง่ ๆ ตามประสาชาวบ้าน หรือเพื่อรับนักท่องเที่ยว ก็ยังคิดว่ายังไม่คุ้มทุนแน่” นายอาลียาส กล่าวแก่เบนาร์นิวส์